รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ประสานงานพิเศษกรณีปัญหาทิเบต อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะยิ่งซ้ำเติมรอยร้าวระหว่างวอชิงตันและจีน
ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศแต่งตั้ง โรเบิร์ต เดสโตร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน และแรงงาน เป็นผู้ประสานงานพิเศษกรณีปัญหาทิเบตอีกตำแหน่ง หลังจากที่ตำแหน่งดังกล่าวได้ว่างลงนับตั้งแต่ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2017
เดสโตร “จะเป็นผู้แทนของสหรัฐฯ ในการส่งเสริมการเจรจาระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับองค์ทะไลลามะหรือผู้แทนของท่าน, ปกป้องความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ทางภาษาของชาวทิเบต และเรียกร้องให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนของพวกเขา” พอมเพโอ ระบุในถ้อยแถลง
รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธที่จะร่วมมือกับผู้ประสานงานของสหรัฐฯ มาโดยตลอด โดยมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน
การแต่งตั้งผู้ประสานงานกรณีทิเบตเกิดขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เดินมาถึงจุดตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปีจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องสงครามการค้า, ปัญหาไต้หวัน, ประเด็นสิทธิมนุษยชน, ข้อพิพาททะเลจีนใต้ รวมถึงการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
จีนเข้ายึดครองทิเบตเมื่อปี 1950 โดยอ้างว่าเป็นการ “ปลดปล่อยโดยสันติ” ที่ช่วยให้ดินแดนกลางเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้หลุดพ้นจากระบบฟิวดัลในอดีต อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ซึ่งนำโดยองค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต กลับชี้ว่าการปกครองของจีนมีค่าเท่ากับการ “สังหารหมู่ทางวัฒนธรรม”
“สหรัฐฯ ยังคงวิตกกังวลเรื่องที่จีนพยายามกดขี่ชุมชนชาวทิเบต” พอมเพโอ ระบุ
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อเดือน ก.ค. ว่าสหรัฐฯ เตรียมจำกัดการออกวีซ่าเจ้าหน้าที่จีนบางคนที่ขัดขวางช่องทางการทูตและมีส่วนพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต พร้อมย้ำว่าวอชิงตันสนับสนุน “การปกครองตนเองที่มีความหมาย” ของชาวทิเบต
แม้จะแสดงจุดยืนหนุนหลังทิเบต ทว่าประธานาธิบดี ทรัมป์ กลับยังไม่เคยพบองค์ทะไลลามะเลยตั้งแต่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งผิดกับอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา
ที่มา: รอยเตอร์