xs
xsm
sm
md
lg

2 นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันได้รางวัลโนเบล จากผลงานปรับปรุงยกระดับ “การประมูล” ที่ ‘กูเกิล’นำไปใช้ขายโฆษณา และรัฐบาลทั่วโลกขายความถี่วิทยุ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สองนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน คือ พอล อาร์. มิลกรอม (ซ้าย) และ โรเบิร์ต บี. วิลสัน เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2020 นี้ จากผลงานใน “การปรับปรุงยกระดับทฤษฎีการประมูล (auction theory)  และในการสร้างฟอร์แมตสำหรับการประมูลแบบใหม่ๆ ขึ้นมา  ทั้งนี้ตามประกาศมอบรางวัลของคณะกรรมการในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันจันทร์ (12 ต.ค.)
2 ศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐกิจประจำปี 2020 เมื่อวันจันทร์ (12 ต.ค.) ด้วยผลงานในการปรับปรุงยกระดับทฤษฎีว่าด้วยการประมูล และในการสร้างฟอร์แมตสำหรับการประมูลแบบใหม่ๆ ขึ้นมา งานวิจัยของพวกเขากลายเป็นส่วนรากฐานของชีวิตเศรษฐกิจจำนวนมากของทุกวันนี้ --ตั้งแต่วิธีการที่ กูเกิล ขายโฆษณา ไปจนถึงวิธีการที่พวกบริษัทเทเลคอมซื้อหาคลื่นความถี่จากรัฐบาล

การค้นพบจำนวนมากของ พอล อาร์ มิลกรอม และ โรเบิร์ต บี. วิลสัน ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกันทั้งคู่ “ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งผู้ขาย, ผู้ซื้อ, และผู้เสียภาษี ตลอดทั่วโลก” ประกาศมอบรางวัลของคณะกรรมการโนเบลระบุ

วิลสันวัย 83 ปี เคยเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของมิลกรอม ซึ่งขณะนี้มีอายุ 72 ปี และปัจจุบันทั้งคู่ยังมีบ้านพักอยู่ใกล้ๆ กันด้วย มิลกรอมเล่าว่า เขาทราบข่าวการได้รับรางวัลนี้ด้วย “วิธีการอันแปลกประหลาด” กล่าวคือ วิลสันเป็นผู้มาเคาะประตูบ้านของเขาเพื่อบอกข่าวในตอนกลางดึก ภายหลังได้รับโทรศัพท์แจ้งจากกรุงสต็อกโฮล์ม ขณะที่ตัวมิลกรอมเองตั้งโทรศัพท์ให้อยู่ในโหมด “เงียบ” เพื่อจะนอนหลับให้สบาย

ผลงานของทั้งคู่คือการหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้วิธีการประมูลทำงานได้อย่างทรงประสิทธิภาพ คณะกรรมการบอกว่า งานของวิลสันนั้นแสดงให้เห็นว่า ทำไมพวกผู้ยื่นประมูลราคาซึ่มีเหตุมีผล จึงมีความโน้มเอียงที่จะเสนอราคาประมูลต่ำกว่ามูลค่าที่พวกเขาประมาณการเอาไว้ เรื่องนี้ย่อมหมายถึงว่าสิ่งที่ถูกนำมาประมูลอาจได้ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะได้ หรือบางทีก็ไม่ได้ตกเป็นของผู้ซื้อซึ่งต้องการมันมากที่สุด โดยทั้ง 2 อย่างนี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นหากการประมูลทำงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ผลที่ออกมาจากงานของพวกเขาเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้รอบๆ ตัว “การโฆษณาทางออนไลน์คือการขายในลักษณะการประมูล” เดวิด วาร์ช ซึ่งคอยติดตามงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ในบล็อก “อีโคโนมิก พรินซิเพิลส์” ของเขา ชี้ “การที่กูเกิลสามารถที่จะนำเอาวิธีการนี้มาปรับใช้ได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อเช่นนี้ได้ เป็นเพราะการพึ่งพาอาศัยอย่างเต็มที่ในทฤษฎีซึ่งพัฒนาโดยมิลกรอม และพวกคู่แข่งของเขา ตลอดจนพวกนักศึกษาของพวกเขา”

งานเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ เท่านั้น ตัวอย่างเช่น รัฐบาลบางรัฐบาลจัดประมูลสิทธิที่จะสร้างมลพิษ ด้วยความหวังว่าจะสามารถลดการปล่อยไอเสียได้ โดยที่พวกบริษัทซึ่งสะอาดกว่าสามารถนำเอาสิทธิที่พวกเขาเองไม่จำเป็นต้องใช้ มาขายต่อให้แก่พวกบริษัทที่สกปรกกว่า จึงกลายเป็นการสร้างแรงจูงใจทางการเงินสำหรับพวกบริษัททั้งหลายที่จะทำให้การดำเนินงานของพวกเขาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น “วัตถุประสงค์ไม่ใช่การทำให้ผู้ขายได้รายรับสูงที่สุดเสมอไป แต่ยังสามารถที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ในทางสังคมอีกด้วย” อินกริด เวอร์เนอร์ สมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าว

ปัญหาหนึ่งที่ผู้ขายต้องประสบในเวลาทำการประมูล คือสิ่งที่เรียกกันว่า “คำสาปแช่งสำหรับผู้ชนะ” ถ้าพวกผู้ซื้อมีความสนใจที่จะซื้ออะไรสักอย่าง สมมุติว่าสิทธิในการจับปลา พวกเขาต้องเข้าประมูลเสนอราคาโดยไม่อาจรู้ได้ว่าราคาปลาในอนาคตจะเป็นเท่าใด พวกเขาจึงเริ่มต้นเกิดความกังวลว่าจะถูกโทษว่าให้ราคาสูงเกินไป ดังนั้นพวกเขาจึงอาจตอบสนองด้วยการลดราคาเสนอของพวกเขาลง

ทางออกหนึ่งของปัญหานี้ ซึ่งงานวิจัยของวิลสันและมิลกรอมแสดงให้เห็นก็คือ การให้ฝ่ายผู้ขายให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนการประมูลจะเริ่มขึ้น กระทั่งบางทีอาจจะให้ผู้ประเมินราคาอิสระเข้ามาประเมินสิ่งที่กำลังจะจัดประมูลขายเสียเลย

นอกจากนั้นพวกเขายังหาทางรับมือกับ “ยุทธศาสตร์แบบงูซ่อนในพงหญ้า” วิลสันกล่าว นี่หมายถึงบริษัทหนึ่งที่มีความสนใจอย่างลับๆ ในสิ่งที่กำลังนำออกมาประมูลขายแทบจะตลอดเวลาที่มีการจัดประมูล แต่ไม่กระโตกกระตากอะไร แล้วค่อยเสนอราคาออกมาซึ่งทำให้เป็นผู้ชนะไปในนาทีสุดท้าย

วิลสันชี้ว่า สิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมาป้องกันเรื่องอย่างนี้ ได้แก่การวางระเบียบกฎเกณฑ์ที่บังคับให้ผู้ต้องการเข้าประมูลต้องเปิดเผยความสนใจของพวกเขาตั้งแต่เนิ่นๆ

งานวิจัยของพวกเขามีผลกระทบอย่างใหญ่โตต่ออุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งพวกบริษัทเอกชนจะต้องหาทางให้ได้สัมปทานจากรัฐบาล เพื่อให้ได้สิทธิใช้คลื่นความถี่วิทยุที่ถือเป็นสมบัติสาธารณะ

ก่อนหน้าทศวรรษ 1990 วิธีการที่รัฐบาลสหรัฐฯทำเพื่อหาผู้ชนะได้สิทธิใช้คลื่นความถี่ไปนั้น อยู่ในลักษณะแบบ “การประกวดนางงาม” นั่นคือ ให้บริษัทต่างๆ เสนอตัวแจกแจงเหตุผลความเหมาะสมที่ตนเองจะได้รับสิทธิดังกล่าว วิธีการเช่นนี้กลายเป็นกระตุ้นให้เกิดการล็อบบี้อย่างดุเดือด ทว่าไม่ค่อยทำให้กระทรวงการคลังได้รับเงินทองอะไรนัก

ในปี 1994 รัฐบาลสหรัฐฯได้หันมาใช้วิธีการประมูล มิลกรอม และ วิลสัน (ด้วยความช่วยเหลือจาก เพรสตัน แมคอาฟี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่กูเกิล) ได้ออกแบบฟอร์แมตการประมูลที่ให้ประมูลขายสัมปทานทุกอย่างทั้งหมดไปในคราวเดียวกัน ฟอร์แมตเช่นนี้เป็นการกีดกันสร้างความท้อแท้ให้แก่พวกนักเก็งกำไ รที่คิดจะประมูลซื้อคลื่นความถี่ในพื้นที่บางพื้นที่ แล้วค่อยนำมาขายต่อให้แก่พวกบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่กำลังหาทางปะติดปะต่อสัมปทานซึ่งตนเองได้จากที่นี่บ้างที่นั่นบ้าง ให้กลายเป็นผืนเดียวกันในระดับชาติหรือในระดับภูมิภาค

ปรากฏว่า การประมูลคราวนั้นได้เงินมา 617 ล้านดอลลาร์ จากเมื่อก่อนที่การขายคลื่นความถี่เช่นนี้แทบไม่ได้เป็นเงินเป็นทองอะไรเลย และวิธีการเช่นนี้จึงได้กลายเป็นโมเดลสำหรบประเทศต่างๆ ตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงอินเดีย นอกจากนั้น ฟอร์แมตนี้ยังถูกนำไปใช้ในการประมูลเรื่องกระแสไฟฟ้าและแก๊สธรรมชาติอีกด้วย

(ที่มา: เอพี, เอเอฟพี, รอยเตอร์)

ภาพที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อวันจันทร์ (12 ต.ค.) โรเบิร์ต วิลสัน (ซ้าย) และ พอล มิลกรอม (ขวา) โพสให้ถ่ายภาพที่เมืองสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย
กำลังโหลดความคิดเห็น