บราซิลเมื่อวันเสาร์ (10 ต.ค.) ผ่านหลักชัยอันน่าเศร้า ยอดผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 พุ่งเกิน 150,000 คน จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศ แม้อีกด้านหนึ่งอัตราการติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง
ตัวเลขผู้เสียชีวิตดังกล่าว มีขึ้นในขณะที่ละตินอเมริกาและแคริบเบียน พบผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 10 ล้านคนเมื่อวันเสาร์ (10 ต.ค.) และเสียชีวิตมากกว่า 360,000 คน ทำให้ภูมิภาคแห่งนี้กลายเป็นดินแดนที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดในแง่จำนวนผู้เสียชีวิต
ด้วยมีประชากรมากถึง 212 ล้านคน บราซิลจึงเป็นชาติที่มีผู้เสียชีวิตสะสมมากที่สุดในภูมิภาค ด้วยจำนวน 150,198 คน นับตั้งแต่พบผู้เสียชีวิตโควิด-19 รายแรกของประเทศในเดือนมีนาคม ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 5,082,637 คน
นอกจากนี้แล้ว บราซิล ยังมียอดผู้เสียชีวิตสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ซึ่งพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 213,000 คน และรั้งอันดับ 3 ของโลกในจำนวนผู้ติดเชื้อ ตามหลังอเมริกาและอินเดีย
ในละตินอเมริกา รองจากบราซิลก็คือโคลอมเบีย ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 894,000 คนและเสียชีวิต 27,495 ราย, อาร์เจนตินา พบผู้ติดเชื้อ 871,455 คนและเสียชีวิต 23,225 คน และเปรู ติดเชื้อ 843,355 คนแบะเสียชีวิต 33,158 ราย
เม็กซิโก แม้พบผู้ติดเชื้อน้อยกว่าที่ 809,751 คน แต่มีอัตราการเสียชีวิตระดับสูง โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 83,507 ราย มากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก
ตัวเลขเสียชีวิตของบราซิลค่อยๆลดลงแบบชะลอตัวนับตั้งแต่แตะระดับพีคสุดในช่วงฤดูร้อน ซึ่งพบผู้เสียชีวิตราวๆ 1,000 คนต่อวันเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน แต่พวกผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอัตราการลดลงนั้นถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับในยุโรปและเอเชีย บ่งชี้ว่าบราซิลยังอยู่ในระลอกแรกของการแพร่ระบาด
อย่างไรก็ตามด้วยแนวทางการบำบัดโรคที่มีมากขึ้นและมีความรู้ความเข้าใจโรคมากขึ้น พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าระบบสาธารณสุขของบราซิลกำลังรับมือกับโรคระบาดใหญ่ได้ดีกว่าเดิม
"ผมไม่รู้ว่าสถานการณ์เลวร้ายผ่านพ้นไปแล้วหรือยัง เพราะว่าผมไม่รู้ว่ามันมาจากไหน แต่เราแน่ใจว่าเราเคยเจอช่วงเวลาเลวร้ายกว่านี้มาแล้ว" หัวหน้าแผนกไอซียูของสถาบันการแพทย์เอมิลิโอ ริบาส ในเซาเปาลูกล่าว ใขณะที่รัฐแห่งนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงสุดในบราซิล
ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน บราซิลเผชิญหน้ากับโรคระบาดใหญ่ท่ามกลางความแยกแตกของบรรดาผู้นำ โดยประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ปฏิเสธความรุนแรงของโควิด-19 มาตลอด แม้ตัวเขาเองติดเชื้อ และยืนกรานต้องการให้รัฐต่างๆ กลับสู่ภาวะปกติเพื่อป้องกันการล่มสลายของเศรษฐกิจ
สวนทางกับบรรดาผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรีหลายแห่ง ที่บังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมตั้งแต่ช่วงต้นของวิกฤต แต่อย่างไรก็ตาม โรคระบาดใหญ่ก็เล่นงานเศรษฐกิจของพวกเขาอยู่ดี หลังจากที่พวกเขาเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่่ผ่านมา
นับตั้งแต่ปรากฏตัวในจีนเมื่อปีที่แล้ว ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกแล้วมากกว่า 1 ล้านคน จากผู้ติดเชื้อกว่า 36 ล้านคน และหลายล้านชีวิตต้องตกงาน หลังจากมันเล่นงานเศรษฐกิจโลกย่อยยับ
(ที่มา : เอเอฟพี)