xs
xsm
sm
md
lg

‘โครงการอาหารโลก’ ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการอาหารโลก (World Food Programme ใช้อักษรย่อว่า WFP) คือผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2020 นี้ คณะกรรมการพิจารณารางวัลประกาศในวันศุกร์ (9 ต.ค.) ด้วยผลงานในการเลี้ยงดูผู้คนเป็นล้านๆ ทั่วโลกจากเยเมนจนถึงเกาหลีเหนือ รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญมากในการประสานงานด้านโลจิสติกส์ทางการแพทย์ ขณะที่โรคระบาดโควิด-19 กำลังทำให้ผลักดันประชาชนจำนวนเพิ่มขึ้นมากให้เข้าสู่ความอดอยากหิวโหย รวมทั้งประสบความลำบากในด้านการจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์

โครงการอาหารโลก เป็น “พลังขับดันพลังหนึ่งในความพยายามเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ผู้อดอยากหิวโหยมาเป็นอาวุธของสงครามและความขดแย้ง” เบอริต ไรส์-แอนเดอร์เสน ประธานหญิงของคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ กล่าวในการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลที่กรุงออสโล ทั้งนี้ ขณะที่รางวัลโนเบลสาขาอื่นๆ พิจารณาและประกาศผู้ได้รับรางวัลโดยทางสวีเดน เฉพาะสาขาสันติภาพนี้พิจารณาและประกาศโดยทางนอร์เวย์

ด้าน WFP ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่า “นี่คือเครื่องเตือนความจำที่ทรงพลังให้โลกได้ระลึกว่า สันติภาพ และ #ZeroHunger (ผู้หิวโหยต้องลดลงเหลือศูนย์) เป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน” และเดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการบริหารของโครงการอาหารโลก กล่าวเพิ่มเติมในคลิปวิดีโอว่า “นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่ผมรู้สึกตื้นตันจนพูดไม่ออก”

หน่วยงานในสังกัดยูเอ็นแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 และได้เงินทุนทั้งหมดจากการรับบริจาค เมื่อปีที่แล้วได้ช่วยเหลือผู้คนไปรวม 97 ล้านคน ด้วยการแจกจ่ายอาหารปันส่วนรวม 15,000 ล้านส่วน แก่ประชาชนใน 88 ประเทศ

WFP ระบุว่าไม่ว่าจะใช้วิธีการขนส่งลำเลียงอาหารด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือบนหลังช้างหรือบนหลังอูฐ โครงการอาหารโลกกำลังสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเองในการเป็น “องค์การเพื่อมนุษยชนชั้นนำ” ในโลกซึ่งมีประชาชนราว 690 ล้านคน หรือทุก 1 ใน 11 คน ต้องเข้านอนด้วยกระเพาะอาหารที่ว่างเปล่า

“ด้วยการมอบรางวัลในปีนี้ คณะกรรมการโนเบลแห่งนอร์เวย์ปรารถนาที่จะให้สายตาของโลกหันมาจับจ้องที่ผู้คนเป็นล้านๆ ซึ่งทุกข์ยากเดือดร้อนจากความหิวโหย หรือเผชิญภัยคุกคามของความหิวโหย” ไรส์-แอนเดอร์สัน กล่าว

“ความเชื่อมโยงกันระหว่างความหิวโหยกับสงครามความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ อยู่ในลักษณะของวงจรอุบาทว์ กล่าวคือ สงครามและความขัดแย้งสามารถเป็นสาเหตุทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารและความหิวโหย เช่นเดียวกับที่ความหิวโหยและความไม่มั่นคงทางอาหารสามารถเป็นสาเหตุทำให้ความขัดแย้งที่แฝงฝังอยู่ปะทุตัวและจุดชนวนให้มีการใช้ความรุนแรง

“เราจะไม่มีทางบรรลุเป้าหมายในการทำให้ผู้อดอยากหิวโหยมีจำนวนเหลือศูนย์ได้เลย นอกจากว่าเรายังสามารถทำให้สงครามและความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธสิ้นสุดลงด้วย”

ไรส์-แอนเดอร์สัน บอกว่า จากการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งทาง WFP ชี้ว่าอาจทำให้จำนวนผู้หิวโหยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ก็ยิ่งทำให้มองเห็นคุณค่าขององค์กรนี้มากขึ้นไปอีก

มีอยู่ช่วงหนึ่งขณะที่โรคระบาดโควิด-19 รุนแรงขึ้นไปถึงจุดสูงสุด สายการบินต่างๆ พากันตัดลดเที่ยวบิน WFP จึงกลายเป็นผู้ดำเนินการด้านสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของโลกไปเลย โฆษกผู้หนึ่งของโครงการอาหารโลกบอก

ในประกาศมอบรางวัล คณะกรรมการรางวัลก็กล่าวยกย่อง WFP ว่า เป็นผู้ดำเนินงานบริการทางโลจิสติกส์ ซึ่งได้แจกจ่ายสินค้าทางการแพทย์ไปให้แก่กว่า 120 ประเทศตลอดช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่คราวนี้ เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลต่างๆ และบรรดาพันธมิตรด้านสาธารณสุขในการต่อสู้กับโควิด-19

นอกจากนั้นโครงการอาหารโลกให้ยังบริการรับส่งผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมและสาธารณสุขสามารถไปถึงที่หมายซึ่งไม่อาจหาเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ได้

“จวบจนกระทั่งถึงวันที่เรามีวัคซีนทางการแพทย์นั่นแหละ ไม่เช่นนั้นแล้ว อาหารก็คือวัคซีนที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับความแปรปรวนอลหม่าน” ประกาศมอบรางวัลระบุ

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)




กำลังโหลดความคิดเห็น