เอเอฟพี – ประธานาธิบดี มิเชล อูน แห่งเลบานอน ยืนกรานไม่อนุญาตให้นานาชาติเข้าไปตรวจสอบหาสาเหตุของการระเบิดที่ท่าเรือเบรุต พร้อมระบุว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้อาจเกิดจาก ‘ขีปนาวุธ’ หรือความประมาทเลินเล่อก็ได้
รัฐบาลเลบานอนเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากประชาชน หลังเกิดเหตุระเบิดรุนแรงเมื่อวันอังคาร (4 ส.ค.) ซึ่งทำลายบางส่วนของเมืองหลวงจนราบเป็นหน้ากลอง โดยล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 154 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายพันคน
การตีแผ่ข้อเท็จจริงว่ามี ‘แอมโมเนียมไนเตรต’ ซึ่งเป็นสารทำระเบิดกว่า 2,000 ตันถูกเก็บไว้ที่ท่าเรือใจกลางกรุงเบรุตนานหลายปี ทำให้ชาวเลบานอนส่วนใหญ่มองว่านี่คืออีกหนึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความ “เน่าใน” ของระบบการเมือง
ประธานาธิบดี อูน ยอมรับวานนี้ (7 ส.ค.) ว่า “ระบบที่พิการ” นี้จำเป็นต้องได้รับการ “ตรวจสอบทบทวนใหม่” และยืนยันว่าจะนำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธข้อเรียกร้องให้มีการตั้งคณะสืบสวนนานาชาติ โดยมองว่าการทำเช่นนั้นอาจนำไปสู่ความพยายาม “เจือจางความจริง”
ผู้นำเบรุตยังกล่าวยอมรับเป็นครั้งแรกว่า มีความเป็นไปได้ที่โศกนาฏกรรมครั้งนี้จะเกิดจากแผนโจมตี
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุที่เป็นไปได้อยู่ 2 ทาง หนึ่งคือความประมาทเลินเล่อ และสองคือการแทรกแซงจากต่างชาติด้วยมิสไซล์หรือระเบิด” อูน กล่าว
จนถึงขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าอะไรที่เป็นตัวจุดชนวนการระเบิดของสารแอมโมเนียมไนเตรต โดยเจ้าหน้าที่บางคนระบุว่า ประกายไฟจากงานเชื่อมโลหะอาจเป็นต้นตอ ในขณะที่บางคนสงสัยว่าอาจเป็น “พลุ” ซึ่งถูกเก็บไว้ในโกดังแห่งเดียวกันหรือสถานที่ใกล้เคียง
ฝรั่งเศส, รัสเซีย, เยอรมนี, อิตาลี และอีกหลายประเทศได้ส่งทีมกู้ภัยเข้ามาช่วยค้นหาร่างผู้เสียชีวิตที่อาจจะยังติดอยู่ใต้ซากอาคาร ขณะที่โครงการอาหารโลก (World Food Program) รับปากจะส่งข้าวปลาอาหารช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยในเลบานอน และจะนำเข้าข้าวสาลีเพื่อทดแทนข้าวในไซโลที่สูญเสียไปจากแรงระเบิด
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศจะเข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้นำนานาชาติในวันอาทิตย์นี้ (9) เพื่อหารือแนวทางระดมความช่วยเหลือให้แก่เลบานอน
เหตุระเบิดครั้งนี้สร้างความเสียหายกินพื้นที่ถึงครึ่งหนึ่งของกรุงเบรุต และคาดว่ามูลค่าความเสียหายน่าจะไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผู้นำทั่วโลกรวมถึงนักกิจกรรมและชาวเลบานอนส่วนใหญ่เรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาสืบสวนเรื่องนี้เพื่อความไม่ลำเอียง แต่ขบวนการฮิซบอลเลาะห์ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงในเลบานอนเสนอให้ “กองทัพ” เป็นผู้นำการสอบสวน เนื่องจาก “ได้รับความไว้วางใจ” จากทุกๆ ฝ่าย