เอเจนซีส์/เอเอฟพี - ทั่วโลกมียอดติดเชื้อรวม 32,141,225 คน เสียชีวิตรวม 981,808 คน อินเดียยังคงพบเคสใหม่เกือบแสน ล่าสุด 24 ชั่วโมงเจอไป 86,052 คน และทำให้สุเรช อันกาดี (Suresh Angad) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกิจการรถไฟอินเดียเสียชีวิตจากโควิด-19ในวันพุธ (23 ก.ย.) ขณะที่บริษัทมอเตอร์ไซค์ยักษ์ใหญ่ของโลก ฮาร์เลย์ เดวิดสัน ประกาศวานนี้ (24) ปิดโรงงานการผลิตและถอนตัวออกจากอินเดียสร้างความปวดหัวให้แก่ผู้นำประเทศ
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้ (25 ก.ย.) ว่า อ้างอิงจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ประจำวันศุกร์ (25) พบว่าทั่วโลกมียอดติดเชื้อรวม 32,141,225 คน เสียชีวิตรวม 981,808 คน ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งยังเป็นผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 6,977,658 คน และเสียชีวิต 202,798 คน
อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับ 3 พบว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 86,052 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 1,141 คน โดยอินเดียมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมดอยู่ที่ 5,732,518 คน และเสียชีวิต 91,149 คน
โรคโควิด-19 ยังคร่าชีวิตรัฐมนตรีชั้นผู้น้อยในคณะครม.ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ไป 1 รายในวันพุธ (23) อ้างอิงจากสำนักข่าวอนาโดลูของตุรกีพบว่า สุเรช อันกาดี (Suresh Angadi) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกิจการรถไฟอินเดียเสียชีวิตจากโรคดควิด-19 เมื่อ 2 วันก่อนหน้า โดยเขาเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่กี่วันก่อนที่อาการจะแย่ลงอย่างหนักในวันจันทร์ (21) และเสียชีวิตลงในวันพุธ (23)
โมดีได้ออกมาประกาศในวันพุธ (23) กับมุขมนตรี 7 รัฐให้ทำการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์ภายในท้องถิ่นเพื่ออควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส โดยเขากล่าวว่า “ประเทศไม่เพียงแต่ต้องต่อสู้กับไวรัส แต่ต้องเดินหน้าอย่างกล้าหาญต่อด้านเศรษฐกิจ”
แต่ดูเหมือนการตั้งความหวังของโมดีอาจจะไม่สามารถหว่านล้อมค่ายรถมอเตอร์ไซค์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯได้เพราะ ในวันถัดมา (24) บริษัท ฮาร์เลย์ เดวิดสัน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐวิสคอนซินออกแถลงการณ์สั่งปิดการผลิตในอินเดียพร้อมกับลดการจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ลงภายในอินเดีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการใช้มอเตอร์ไซค์มากที่สุดในโลก
เอเอฟพีรายงานว่า ฮาร์เลย์ เดวิดสันจะปิดโรงงานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ของตัวเองที่รัฐหรยาณา (Haryana) ที่อยู่ทางตอนเหนือ รวมไปถึงลดจำนวนสำนักงานขายลงเป็นจำนวนมาก
โดยบริษัทชี้แจงถึงเหตุผลการย้ายว่า มาจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกของทางบริษัทด้านรูปแบบปฎิบัติการและโครงสร้างการตลาด
ทั้งนี้ พบว่าฮาร์เลย์ เดวิดสัน ซึ่งเปิดโรงงานในอินเดียมาตั้งแต่ปี 2011 มีปัญหาอย่างหนักกับกำแพงภาษีนำเข้า 100% ของอินเดีย และคู่แข่งแบรนด์ในประเทศที่มีราคาถูกกว่าจากบริษัท ฮีโรมอเตอร์คอร์ป (Hero MotoCorp) รวมไปถึงจากบริษัทฮอนดาของญี่ปุ่น
ถึงแม้อินเดียจะยอมลดภาษีนำเข้าลง 50% แต่ทางฮาร์เลย์ เดวิดสัน ยังคงไม่สามารถที่จะอยู่ได้ ซึ่งการถอนตัวออกไปของบริษัทยักษ์ใหญ่มอเตอร์ไซค์ของสหรัฐฯ สร้างบาดแผลให้กับนโยบายเศรษฐกิจ “ทำในอินเดีย” (Make in India) ของโมดี ที่เรียกร้องให้บริษัทที่มีชื่อเสียงข้ามชาติทั้งหลายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ