เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของสหรัฐฯเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ กล่าวหาจีนรังแกและหน้าไหว้หลังหลอกในการเจรจาต่อรองกับบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผิดกับทางวอชิงตัน ไม่เคยบังคับขู่เข็ญให้ภูมิภาคแห่งนี้เลือกข้างระหว่างสองชาติมหาอำนาจโลก
เดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เน้นย้ำถึงความตั้งใจของเอเมริกาที่จะคงแสดงตัวในภูมิภาคและป้องกัน “การท้าทายทางทหารซึ่งไม่เป็นที่ต้อนรับและไร้ประโยชน์” ในนั้นรวมถึงในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้
ความเห็นในการแถลงข่าวทางออนไลน์ ถือเป็นการแสดงออกล่าสุดของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อการใช้คำพูดที่ขึงขังขึ้นกับจีน หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่สหรัฐฯและจีนมีปัญหากระทบกระทั่งกัน ณ ที่ประชุมประจำปีของรัฐมนตรีต่างประเทศประชาคมอาเซียน
สติลเวลล์ ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมต่างๆ นานาของจีน ซึ่งมีต่อประเทศทั้งหลายที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้แข่งกับปักกิ่ง การกดขี่กลุ่มฝักใฝ่ประชาธิปไตยในฮ่องกง และปฏิบัติการเขื่อนที่คุกคามอุปทานน้ำของประเทศต่างๆ ที่อยู่ปลายน้ำแม่น้ำโขง
“วอชิงตันยังกังวลต่อรายงานข่าวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอาวุธของจีนที่เล็ดลอดตกไปอยู่ในมือของกลุ่มติดอาวุธในพม่า” เขากล่าวโดยปราศจากให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในขณะที่พม่ากำลังต่อสู้กับชนกลุ่มน้อยติดอาวุธหลายกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับปักกิ่ง
เขาบอกว่าความปลิ้นปล้อนของจีนสามารถเห็นได้จากพฤติกรรมก้าวร้าวของพวกเขาในทะเลจีนใต้ บริเวณที่ปักกิ่งเปลี่ยนแนวปะกะรังในน่านน้ำพิพาท เป็นเกาะทีมติดอาวุธ แม้เคยให้สัญญาว่าจะไม่จัดวางกำลังทหารในภูมิภาค
“สหรัฐฯมองคำกล่างอ้างทางทะเลอย่างกว้างขวางของจีนในน่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้ ไร้ความชอบธรรม” สติลเวลล์กล่าว แต่เน้นย้ำว่าข้อพิพาทที่มีมาอย่างยาวนาน ควรคลี่คลายด้วยสันติวิธีผ่านการเจรจา
สติลเวลล์บอกว่า การควบคุมเขื่อนต่างๆ ของปักกิ่งที่อยู่ด้านบนของแม่น้ำโขง “ก่อความทุกข์ทรมานแก่วิถีชีวิตของผู้คนหลายสิบล้านคนในประชาคมอาเซียนตามลุ่มน้ำโขง วอชิงตันสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, กัมพูชา, พม่า และ ลาว หาทางให้จีนเป็นผู้รับผิดชอบ”
5 ประเทศเหล่านี้ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 ชาติประชาคมอาเซียน บ่อยครั้งต่อติดหล่มอยู่ท่ามกลางการแย่งชิงในภูมิภาคระหว่างสหรัฐฯกับจีน ขณะที่อีก 4 ชาติ ประกอบด้วย เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, บรูไน และ มาเลเซีย มีประเด็นพิพาทด้านอาณาเขตกับจีนในทะเลจีนใต้
“บ่อยครั้งที่เราได้ยินจากเพื่อนๆอาเซียนของเราและประเทศอื่นๆ ว่าพวกเขาปรารถนาอย่าบีบให้พวกเขาเลือกข้าง" สติลเวลล์กล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าสหรัฐฯไม่บังคับประเทศไหนๆเลือกข้างระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง "หากจีนนำมาซึ่งเสถียรภาพและนำมาซึ่งผลลัพธ์ในทางบวก รวมถึงเคารพอำนาจอธิปไตยของพันธมิตรอาเซียน เมื่อนั้นเราก็ไม่คัดค้าน แต่ประวัติที่ผ่านมาของจีนไม่ดีนัก”
หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ตอบโต้สหรัฐฯกลับระหว่างการประชุมอาเซียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุว่า วอชิงตันเองที่เป็นผู้ขับเคลื่อนด้านการทหารใหญ่ที่สุดและเป็นปัจจัยที่อันตรายที่สุด ที่กำลังก่อความเสียหายแก่สันติภาพในภูมิภาค
รัฐมนตรีต่างประเทศจีนให้ข้อมูลว่า สหรัฐฯประจำการเครื่องบินทหารเกือบ 3,000 เที่ยว และเรือรบมากกว่า 60 เที่ยวในพื้นที่พิพาท เฉพาะช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พร้อมกล่าวหาว่าอเมริกากำลังผลักดันให้เกิดรอยร้าวระหว่างจีนกับบรรดาประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ และบ่อนทำลายความพยายามของจีนในการคลี่คลายข้อพิพาทต่างๆ ผ่านประชาคมอาเซียน
(ที่มา:เอพี)