กลุ่มสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมนไรท์วอตช์” ออกคำแถลงอ้างเจ้าหน้าที่ของไทยยกระดับการจับกุมบรรดาแกนนำผู้ประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ ต่อบทบาทของพวกเขาในการจัดการชุมนุมที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเรียกร้องให้ถอนฟ้องทุกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไข ระบุคนเหล่านั้นถูกควบคุมตัวตามอำเภอใจจากการเข้าร่วมประท้วงอย่างสันติ
ในถ้อยแถลงของฮิวแมนไรท์วอตช์ อ้างถึงกรณีเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ตำรวจจับกุม ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด และ “เจมส์” ภานุมาศ สิงห์พรม แห่งขบวนการเยาวชนปลดแอก โดยตำรวจตั้งข้อกล่าวหานักเคลื่อนไหวทั้งสองฐานปลุกระดม โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จากการชุมนุมโดยมีความตั้งใจก่อให้เกิดความรุนแรง, ละเมิดคำสั่งห้ามรวมตัวของคนหมู่มาก และความผิดทางอาญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของพวกเขา ในการประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตยอย่างสันติในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม
“เจ้าหน้าที่ของไทยควรหยุดจับกุมและตั้งข้อหานักเคลื่อนไหว สำหรับจัดการชุมนุมหรือเข้าร่วมในการประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตยอย่างสันติ” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอตช์ระบุ “รัฐบาลไทยควรหยุดเชื่อว่าการปราบปรามแกนนำผู้ประท้วง จะทำให้การชุมนุมฝักใฝ่ประชาธิปไตยซาลงไป”
ศาลอาญาในกรุงเทพฯ ปล่อยตัว ทัตเทพ และภานุมาศ ในช่วงเย็นวันที่ 26 สิงหาคม หลังสมาชิกฝ่ายค้านในรัฐสภาใช้ตำแหน่งหน้าที่ค้ำประกันการปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทั้งสอง บนเงื่อนไขห้ามทำผิดซ้ำอีก อย่างไรก็ตามทั้งสองคนประกาศว่าจะเดินหน้าปราศรัย ณ เวทีชุมนุม
คำแถลงของฮิวแมนไรท์วอตช์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ตำรวจจับกุมนักเคลื่อนไหวฝักใฝ่ประชาธิปไตย 6 คนในข้อกล่าวหาเดียวกัน โดยทัตเทพ และภานุมาศ และนักเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นหนึ่งใน 31 คนที่ตำรวจหาทางจับกุม ต่อการขึ้นปราศรัยบนเวทีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งจัดขึ้นโดยขบวนการเยาวชนปลดแอก โดยพวกผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย, ปฏิรูปการเมืองและเคารพสิทธิมนุษยชน
นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม การประท้วงที่นำโดยเยาวชนของกลุ่มต่างๆ ได้ลุกลามไปทั่วประเทศไทย โดยการชุมนุมใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งผู้เข้าร่วมเรียกร้องยุบสภา, ขอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, เคารพสิทธิการแสดงออกและปฏิรูปสถาบันฯ เพื่อจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์
ฮิวแมนไรท์วอตช์ระบุว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยให้สัตยาบันรับรองในปี 1996 ได้ปกป้องสิทธิการแสดงออกและการชมนุมอย่างสันติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้บังคับเซ็นเซอร์และปิดปากการพูดคุยของสาธารณะอยู่เป็นนิจ ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน, ปฏิรูปการเมืองและบทบาทของกษัตริย์ในสังคม กว่าทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวและผู้เห็นต่างหลายร้อยคน ต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ในข้อหาอาญาร้ายแรง อย่างเช่นปลุกระดม, อาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และจาบจ้วงเบื้องสูง-ละเมิดสถาบันฯ
“วิกฤตสิทธิมนุษยชนในไทยกำลังส่งเสียงดังกังวานมากขึ้นเรื่อยๆไปทั่วโลก” อดัมส์กล่าว “สหประชาชาติและรัฐบาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรกดดันรัฐบาลไทยให้หยุดปราบปรามนักเคลื่อนไหวฝักใฝ่ประชาธิปไตยและการชุมนุม
ย่างสันติ และปล่อยตัวพวกผู้ที่ถูกจับกุมโดยพลการอย่างไม่มีเงื่อนไข”