รอยเตอร์ – เกาหลีใต้สั่งปิดโรงเรียนในกรุงโซลและเมืองใกล้เคียง โดยให้นักเรียนกลับไปเรียนออนไลน์อีกครั้งในวันนี้ (25 ส.ค.) โดยเป็นมาตรการเชิงรุกเพื่อยับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กลับมาระบาดรุนแรง
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลีใต้ (KCDC) ยืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อในรอบ 24 ชั่วโมงจนถึงเที่ยงคืนวันจันทร์ (24) รวมทั้งสิ้น 280 ราย ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศขยับขึ้นไปอยู่ที่ 17,945 ราย เสียชีวิต 310 ราย
เกาหลีใต้พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 397 รายในรอบ 24 ชั่วโมงเมื่อเที่ยงคืนวันเสาร์ (22) ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.
แม้การติดเชื้อระลอกใหม่นี้จะยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองหลวงที่มีประชากรหนาแน่น แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงที่เชื้อจะแพร่กระจายออกไปภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ และขอให้ประชาชนงดการเดินทางที่ไม่จำเป็นและเก็บตัวอยู่บ้าน
กระทรวงการศึกษาเกาหลีใต้ประกาศวันนี้ (25) ว่า นักเรียนทุกระดับชั้นยกเว้นมัธยมปลายในกรุงโซล, อินชอน และจังหวัดคยองกี จะต้องเข้าชั้นเรียนออนไลน์ไปจนถึงวันที่ 11 ก.ย.
การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกาหลีใต้ต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิมาหลายครั้งตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. ทว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังขึ้นถึงจุดพีคในเดือน ก.พ. ก็ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ทยอยเปิดเรียนแบบเป็นขั้นเป็นตอนระหว่างวันที่ 20 พ.ค. - 1 มิ.ย.
ยู อึนแฮ รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษา ระบุว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีนักเรียนอย่างน้อย 150 คนและบุคลากรโรงเรียนอีก 43 คนติดเชื้อโควิด-19 ในเขตพื้นที่กรุงโซล
ทางการกรุงโซลเริ่มใช้มาตรการบังคับสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะทั้งในและนอกอาคารเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ (24) และยังสั่งห้ามทำกิจกรรมภายในโบสถ์ รวมถึงปิดบาร์คาราโอเกะและสถานที่เสี่ยงอื่นๆ
ขณะเดียวกัน พัค นึงฮู รัฐมนตรีสาธารณสุขเกาหลีใต้ ก็ออกมาเรียกร้องวันนี้ (25) ให้แพทย์หลายพันคนที่นัดหยุดงานประท้วงกลับไปปฏิบัติหน้าที่รักษาคนไข้อีกครั้ง
“เราขอวิงวอนจากใจจริงให้แพทย์ทุกคนกลับไปยังสถานปฏิบัติงานของท่าน เพราะคนไข้จำนวนมากกำลังรอท่านอยู่” เขากล่าว
แพทย์เหล่านี้ไม่พอใจข้อเสนอหลายอย่างของรัฐบาล โดยเฉพาะแผนเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์อีก 4,000 คนในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
รัฐบาลเกาหลีใต้อ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมบุคลากรด้านสาธารณสุขให้พร้อมรับมือวิกฤตการณ์ที่คล้ายกับการระบาดของโควิด-19 ในขณะที่สมาคมแพทย์เกาหลีใต้ (KMA) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดการประท้วงยืนยันว่าเกาหลีใต้มีแพทย์เพียงพออยู่แล้ว และแผนของรัฐบาลมีแต่จะทำทำให้แพทย์ล้นตลาดโดยไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ