รัสเซียทูเดย์ - หินลอยน้ำจำนวนมหาศาลที่เกาะกันเป็นแพขนาดใหญ่กว้างสุดสายตา ได้ลอยขึ้นฝั่งในรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย แล้ว หลังจากผุดขึ้นมาจากภูเขาไฟใต้ทะเลในแปซิฟิกเมื่อปีก่อน ขณะที่พวกนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพวกมันจะช่วยคืนชีพให้แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟบางส่วน
แพหินภูเขาไฟลอยน้ำ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกาะกลุ่มกันจนมีขนาดใหญ่กว่าเมืองแมนฮัตตันของสหรัฐฯถึง 2 เท่า ผุดขึ้นมาจากภูเขาไฟใต้ทะเลที่ได้รับสมญานามว่า “ภูเขาไฟ F” หรือ “0403-091” ซึ่งเกิดการปะทุเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน ใกล้หมู่เกาะวาวาอู ในตองกา
กลุ่มก้อนหินภูเขาไฟซึ่งมีขนาดราวๆ สนามฟุตบอล 20,000 สนาม และบางก้อนมีความหนาถึง 6 นิ้ว กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว หลังปรากฏคลิปวิดีโอบนสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นภาพตอนที่พวกมันกำลังเกาะกันเป็นแพใหญ่กว้างสุดสายตา บริเวณกลางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้
เวลานี้แพหินภูเขาไฟสิ้นสุดการเดินทางเป็นระยะทาง 3,000 กิโลเมตร และขึ้นฝั่งในออสเตรเลีย บริเวณที่พวกมันจะช่วยฟื้นฟูแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ มอบสิ่งที่พวกนักวิจัยเรียกว่าเป็นการ “ป้อนวิตามิน” ให้แก่แนวปะการัง
แพหินเหล่านี้เริ่มถูกซัดขึ้นฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ในเดือนเมษายน แต่เวลานี้ส่วนใหญ่ได้เดินทางมาถึงแล้ว ก่อภาพอันน่าตื่นตะลึงแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก ขณะที่ตัวของภูเขาไฟเอง คาดหมายกันว่ามันจะเปลี่ยนเป็นเกาะๆ หนึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า