xs
xsm
sm
md
lg

ชั่วขณะแห่งความนิ่งเงียบสงบ เมื่อญี่ปุ่นรำลึก 75 ปีสงครามโลกครั้งที่ 2

เผยแพร่:   โดย: เจค อเดลสไตน์


สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิธตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ  ทรงเข้าร่วมพิธีรำลึกวาระครบรอบ 75 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สนามกีฬาในร่ม “นิปปง บุนโดกัง” ในกรุงโตเกียว
(เก็บความจากเอเชียไทมส์WWW.asiatimes.com)

Moment of silence as Japan remembers WWII

by Jake Adelstein

15/08/2020
ณ วันครบรอบ 75 ปีแห่งการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพการรำลึกวาระสำคัญนี้ในระดับชาติของญี่ปุ่นณ สถานที่ 2 แห่ง ช่างมีความผิดแผกแตกต่างกันเหลือเกิน

โตเกียว- เมื่อนาฬิกาตีบอกเวลาเที่ยงตรงในวันเสาร์ที่15 สิงหาคม 2020 ความเงียบนิ่งสงบก็เข้าปกคลุมญี่ปุ่น

ณ สนามกีฬาในร่ม “นิปปงบูโดกัง” (Budokan Hall) ที่ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ, สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เสด็จพระราชดำเนินและเดินทางไปร่วมพิธีรำลึกประจำปีครั้งนี

ณ สุสานแห่งชาติชิโดริงาฟูชิ (Chidorigafuchi National Cemetery) ที่ซึ่งบรรดาสมาชิกในครอบครัวระลึกถึงญาติมิตรผู้วายชนม์

ณ ศาลเจ้ายาสุกุนิ ของศาสนาชินโต ที่ซึ่งพวกทหารที่เสียชีวิตได้รับการอัญเชิญให้ขึ้นสู่แท่นบูชาในฐานะที่เป็นเทพ

ทั้งหมดเหล่านี้ต่างใช้ชั่วขณะแห่งการสงบนิ่งเงียบ เป็นเครื่องระลึกถึงวาระการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อ 75 ปีก่อน –ในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 เวลา 12.00 น.— สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ ได้ทรงอ่านประกาศที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุว่า ญี่ปุ่นขอยอมแพ้ และจะไม่สู้รบใดๆ อีกต่อไป

ประกาศฉบับนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการสิ้นสุดของสงครามครั้งที่เลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติ
นอกจากนั้นมันยังเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการสิ้นสุดของการเดินหมากเพื่อครอบงำเอเชียของญี่ปุ่นอีกด้วย

สงครามแปซิฟิกครั้งนั้นเริ่มต้นขึ้นด้วยการที่ญี่ปุ่นรุกรานจีนในปี 1937 จากนั้นก็ขยายตัวด้วยการโจมตีพวกอาณานิคมต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบรรดาชาติยุโรป และกองเรือรบสหรัฐฯ (ที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์) ในปี 1941 ภายหลังระยะเวลาเป็นปีๆ ของความโหดเหี้ยมทารุณและความกล้าหาญที่แผ่คลุมไปตลอดหลายๆ บริเวณแผ่นน้ำอันกว้างขวางของมหาสมุทรและผืนแผ่นดินใหญ่เอเชีย ในที่สุดมันก็จบลงด้วยการทิ้งระเบิดเพลิงและระเบิดปรมาณูใส่เมืองใหญ่แห่งต่างๆ ของญี่ปุ่น และการที่โซเวียตเข้ารุกรานแมนจูเรียและเกาหลี

มีชาวญี่ปุ่นราวๆ 2.5 ล้าน ถึง 3.1 ล้านคนเสียชีวิตไปในช่วงปีเหล่านั้น ขณะที่มีผู้คนมากกว่านั้นอีกเป็นหลายๆล้านทีเดียวถูกสังหารเช่นกัน โดยที่มากมายล้นพ้นกว่าเพื่อนคือในประเทศจีน ทว่าตลอดทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินเดีย, และแปซิฟิก ก็มีผู้ถูกเข่นฆ่าจำนวนเยอะมากเช่นกัน

ขณะที่ทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน และนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งอยู่ในเวลานี้ มีพระราชดำรัสและขึ้นกล่าวปราศรัยในพิธีรำลึกในวันเสารที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ทว่าเสียงที่ชวนให้รู้สึกเซอร์ไพรซ์จากยุคอดีต –จากนายกรัฐมนตรีเกษียณอายุที่ปัจจุบันอายุ 96 ปีแล้ว—ต่างหาก น่าที่จะเป็นเสียงซึ่งมีน้ำหนักดังก้องสะท้อนอย่างลึกซึ้งที่สุดในวันครบรอบอันสำคัญมากนี้

จำนวนที่ลดน้อยลง

จำนวนของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งสามารถจดจำการประกาศออกอากาศทางวิทยุครั้งประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ กำลังเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละปีที่ผ่านไป สำหรับปีนี้ เนื่องจากโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จำนวนของผู้เข้าร่วมพิธีรำลึกที่นิปปงบูโดกัง ซึ่งถือกันว่าเป็นสนามกีฬาที่มีความเป็นสัญลักษณ์ความเป็นญซี่ปุ่นอย่างสูง ก็มีประมาณเพียงแค่ 1 ใน 10 ของผู้เข้าร่วมตามปกติ

Tokyo Shimbun) หนังสือพิมพ์แนวเอียงซ้าย เป็นหนึ่งในข้อยกเว้น
โดยเสนอบทสัมภาษณ์ทหารผ่านศึกผู้เฒ่าอายุ 99 ปี ผู้แสดงความเศร้าเสียใจที่ได้เคยทรมานแล้วจากนั้นก็ยิงทิ้งเชลยศึกชาวจีนผู้หนึ่ง

แต่นี่ไม่ใช่เสียงซึ่งพวกผู้ปกครองของญี่ปุ่นต้องการจะได้ยินได้ฟังกัน ผู้ซึ่งกำลังวาดหวังว่า อาเบะที่ถูกคนจำนวนมากกล่าวหาว่ามีความโน้มเอียงเป็นนักลัทธิแก้ (revisionist) --นั่นคือต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์มหาสงครามกันใหม่--จะยินยอมออกมาแสดงความเสียใจอย่างน้อยก็สักนิดสักหน่อยในเรื่องที่จักรวรรดิญี่ปุ่น (Imperial Japan) ได้สร้างความทุกข์ยากแสนสาหัสให้แก่โลก

“ไอ้พวกสารเลวพวกนั้น”

สำหรับที่สุสานแห่งชาติชิโดริงาฟูชิ ชั่วขณะแห่งความสงบนิ่งเงียบในตอนเที่ยงของวันดังกล่าว ให้ความรู้สึกว่ายาวนานเป็นพิเศษสถานที่แห่งนี้แทบไม่ค่อยมีผู้รู้จักกันนักไม่ว่าจะเป็นผู้คนภายในหรือภายนอกญี่ปุ่น ไม่เหมือนกับศาลเจ้ายาสุกุนิที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่ว่าในทางดีหรือในทางร้าย ในฐานะของศาลเจ้าชินโตที่อุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิตจากสงครามของญี่ปุ่น

สุสานแห่งชาติที่มีลักษณะและบรรยากาศเหมือนกับสวนสาธารณะ โดยมีแมกไม้ปกคลุมคล้ายๆ ป่าย่อมๆ เป็นที่ซึ่งมีร่างจริงๆ ของเหล่าทหารถูกฝังเอาไว้ ในพื้นที่ใกล้ๆ กับแนวคูน้ำของพระบรมมหาราชวัง และก็เป็นสถานที่ซึ่งแขกผู้มีเกียรติที่มาเยือนญี่ปุ่นจะมาแสดงความเคารพกัน

ตั้งแต่ตอนที่ประตูสุสานเปิดในตอนเช้าวันที่ 15 สิงหาคม มีชาวญี่ปุ่นสูงอายุและครอบครัวของพวกเขาเดินทางเข้ามาเรื่อยๆ พวกเขาวางดอกไม้แสดงความเคารพและพนมมือเพื่อสวดอ้อนวอนขอพรให้แก่ผู้จากไป

ทาเกโยชิ คิตาโอกะ (Takayoshi Kitaoka) ซึ่งปัจจุบันอายุ 82 ปีแล้ว เดินทางมาจากจังหวัดไซตามะ
เพื่อแสดงความเคารพผู้วายชมน์ให้ทันตอนเที่ยงวัน ในวันที่สงครามยุติลงนั้น เขาเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

“ในบ้านของเราที่อยู่ใน (จังหวัด) มิยางิ ตอนนั้นไม่มีวิทยุ ดังนั้น 4 ครอบครัวจึงไปชุมนุมกันในบ้านของเพื่อนบ้านคนหนึ่งเพื่อคอยรับฟังเสียงพูดของพระจักรพรรดิ” เขาย้อนทบทวนความหลัง “ผมไม่รู้หรอกว่าท่านพูดเรื่องอะไร ท่านพูดด้วยภาษาสำเนียงแบบวังหลวงซึ่งฟังแล้วรู้สึกประณีตแปลกๆ มากๆ”

คิตาโอกะเล่าว่า ตอนที่เดินกลับบ้านนั่นแหละที่แม่ของเขาอธิบายให้ฟังว่าสงครามได้ยุติลงแล้ว
และทำให้เขารู้สึกโล่งใจ ครั้นเมื่อเขาโตขึ้น เขาก็มีความเข้าอกเข้าใจความโหดร้ายต่างๆ ของสงครามด้วยการรับฟังเรื่องเล่าขานของพวกที่กลับมาจากสงคราม เขาเดินทางมาเคารพสุสานแห่งนี้เป็นประจำเรื่อยมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

“ผมเคยไปศาลเจ้ายาสุกุนิอยู่ครั้งสองครั้ง” เขากล่าว “แต่ผมจำได้ว่าได้อ่านในหนังสือพิมพ์ที่บอกว่าพวกเขาเอาไอ้พวกสารเลวซึ่งเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบต่อสงครามไปเคารพบูชากันที่นั่นด้วย ผมจึงไม่ได้ไปที่นั่นอีกเลย”

คิตาโอกะใช้เวลาอธิบายให้ฟังว่า ขณะที่เขาไม่เคยไปสักการะบูชาที่ศาลเจ้าแห่งนั้น แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เขาได้เคยไปเยือนพิพิธภัณฑ์สงครามซึ่งเป็นส่วนต่อเติมข้างๆ ศาลเจ้ายาสุคุนิ ที่นั่นเป็นที่จัดแสดงข้าวของอย่างเช่นเครื่องบินฆ่าตัวตาย และตอร์ปิโดมนุษย์

“มันเป็นที่รวมของพวกข้าวของไร้สาระที่มุ่งเชิดชูสงครามและบิดเบือนข้อเท็จจริง” เขากล่าว “เป็นข้าวของประเภทซึ่งจะพูดถึงกันในนิยายเลวๆ หรือหนังเลวๆ”

ดิสนีย์แลนด์ยุคจักรวรรดิญี่ปุ่น

กระนั้นก็ตาม ในวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม เป็นที่ชัดเจนว่ายาสุกุนิมีผู้คนเดินทางไปกันมากมายยิ่งกว่าชิโดริงาฟูชิซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ถึงแม้ที่ยาสุกุนิไม่ได้มีร่างจริงๆ ของผู้เสียชีวิต –แท้จริงแล้วที่นี่คือศาลสถิตวิญญาณของผู้วายชนม์—แต่มันก็เหมือนกับเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวซึ่งชาวญี่ปุ่นสามัญธรรมดาจำนวนมากทราบว่าเป็นจุดที่พวกเขาสามารถไปแสดงความเคารพผู้วายชนม์จากสงครามได้

ยาสุกุนิในฐานะที่เป็นศาลเจ้าชินโตซึ่งอุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิตจากสงครามโดยเฉพาะนั้น ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี 1869 ทว่าจนถึงปี 1978 นั่นแหละที่มีข้าราชการทุจริตคดโกงคนหนึ่งทำงานร่วมกับทางศาลเจ้ายาสุกุนิ ในการนำเอาป้ายสถิตวิญญาณของ ฮิเดกิ โตโจ (Hideki Tojo) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และพวกที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงฐานเป็นอาชญากรสงครามคนอื่นๆ ไปเคารพบูชากันที่นั่นในฐานะที่เป็นวีรบุรุษ นับจากนั้นมาผลสะท้อนกลับทั้งทางการเมืองและทางการทูตของการกระทำดังกล่าว ก็ยังคงสะเทือนเลื่อนลั่นเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้

ตั้งแต่ปี 1978 เป็นต้นมา ไม่มีสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใดเลยที่เสด็จไปสักการะยังศาลเจ้ายาสุกุนิ เวลานี้พระบรมวงศานุวงศ์และพวกนักการเมืองที่มีความคิดแบบเสรีนิยมมากสักหน่อย มักจะไปแสดงความไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตจากสงครามกันที่สุสานแห่งชาติ นับตั้งแต่ปี 2013 กระทั่งอาเบะเองก็ไม่ได้เดินทางไปสักการะที่ยาสุกุนิ ถึงแม้ว่าในวันที่ 15 สิงหาคมปีนี้ มีบุคคลสำคัญในระดับรัฐมนตรีของรัฐบาลอาเบะจำนวน 4 คนเดินทางไปก็ตามที โดยที่เรื่องผู้นำแดนอาทิตย์อุทัยไปหรือไม่ไปศาลเจ้าชินโตแห่งนี้ ยังคงกลายเป็นประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างแรงกล้าในหมู่ชาติต่างๆ ซึ่งเคยถูกญี่ปุ่นรุกรานหรือถูกยึดครองเป็นอาณานิคม

แถวของผู้คนรอเข้าไปในศาลเจ้าแห่งนี้ยาวเหยียดเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลมตรทีเดียว ผู้ที่เข้าแถวมีทั้งสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน, กลุ่มต่างๆ, คู่สมรส, เด็กเล็กๆ ที่กำลังร้องไห้ขณะอุณหภูมิของวันนั้นร้อนเอาเรื่อง แผ่นป้ายเตือนหลายๆ แผ่นซึ่งดูเหมือนไม่มีใครใส่ใจปฏิบัติตาม มีข้อความเรียกร้องให้รักษากฎเกณฑ์เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม

ผู้คนไม่น้อยแต่งกายแบบย้อนยุค ไม่ว่าจะเป็นชุดพระนักบวชชินโต, ชุดเครื่องแบบทหารญี่ปุ่นในยุคสงคราม, ตลอดจนชุดยูกาตะ พวกนักเคลื่อนไหวแจกจ่ายใบปลิวเรียกร้องให้ยกฐานะยาสุกุนิขึ้นเป็นศาลเจ้าสำหรับผู้วายชนม์ของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ข้าวของต่างๆ ถูกนำมากองสุมอยู่ตามโต๊ะที่ตั้งขึ้นมาอย่างฉับพลัน โดยมุ่งให้ข้อมูลที่โต้แย้งแจกแจงว่า เกาหลีและไต้หวันในยุคที่หลุดออกจากฐานะการเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นแล้วนี้ ควรที่จะต้องขอบคุณญี่ปุ่นผู้เป็นเจ้านายเดิม สำหรับการช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในดินแดนเหล่านี้

สภาพแวดล้อมดูไปแล้วไม่ต่างอะไรกับการเป็นดิสนีย์แลนด์ของยุคจักรวรรดิญี่ปุ่น

ชายไว้เคราผ้หนึ่งซึ่งอยู่ในวัย 80 ปีเศษๆ สวมเครื่องแบบนายทหารเรือสีขาว โดยขอให้ใครๆ เรียกเขาว่า “กัปตันคาโตะ” (Captain Kato) ยืนยันว่าแผนการ “วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา”
(Greater East-Asian Co-Prosperity Sphere) ของญี่ปุ่นซึ่งถูกทำลายเป็นเสี่ยงๆ ภายหลังแพ้สงครามนั้น แท้ที่จริงจะสร้างประโยชน์ให้แก่โลก

“ลองถามตัวพวกคุณเองดูเถอะ โลกของเรานี้จะเป็นยังไงถ้าหากญี่ปุ่นกลายเป็นผู้ชนะสงครามในคราวนั้น?
ผมคิดว่ามันต้องเป็นสถานที่ซึ่งดีกว่าในเวลานี้แน่นอน” เขาโต้แย้ง “แล้วลองมองดูโลกเวลานี้ดูซิ
จีนกำลังเป็นอภิมหาอำนาจเผด็จการจอมกดขี่ ซึ่งกำลังพยายามทำลายประชาธิปไตยในที่ต่างๆ รวมทั้งกำลังจับเอาพวกชนกลุ่มน้อยเข้าไปอยู่ตามค่ายกักกัน แล้วจีนยังเป็นคนปล่อยไวรัสที่เข่นฆ่าผู้คนไปเป็นล้านๆ คนอีกด้วย”

หรือถ้ามองให้เลยไกลออกไปจากภูมิภาคแถบนี้ เขาบอกว่า “ประธานาธิบดีของคุณก็คือพวกนาซี เป็นคนที่คอยโกหกหลอกลวงตลอดเวลา และก็จะโจรกรรมการเลือกตั้งของพวกคุณไปด้วย ... เรื่องโลกร้อนกำลังทำลายพิภพของเราอยู่จริงๆ โลกซึ่งญี่ปุ่นกลายเป็นอภิมหาอำนาจรายหนึ่งนั้นจะต้องดีกว่าเวลานี้เยอะแยะเลย”

ขณะที่คอยถ่ายภาพพวกที่กำลังเข้าแถวรอเข้าไปในศาลเจ้า ผู้สื่อข่าวผู้นี้ (เจค อเดลสไตน์) ถูกเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งเข้ามาพูดจาทักทายด้วยความไม่เป็นมิตร โดยเรียกร้องขอดูใบอนุญาตสำหรับสื่อมวลชน เมื่อผมบอกเขาว่าผมเป็นตัวแทนของเอเชียไทมส์ ผมก็ถูกเจ้าหน้าที่พาตัวออกจากศาลเจ้าไปด้วยท่าทีสุภาพแต่จริงจัง

ถึงแม้กิจกรรมต่างๆ ในศาลเจ้ายาสุกุนิ ที่ปัจจุบันมีภาคเอกชนเป็นผู้คอยบริหารจัดการอยู่ น่าจะเป็นที่สนอกสนใจของสาธารณชนอย่างแน่นอนอยู่แล้ว แต่การต้องได้รับอนุญาตเสียก่อนจึงจะรายงานข่าวได้ ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เด็ดขาดแน่นอนไม่อาจอุทธรณ์ใดๆ ได้

เสียงจากอดีต

ที่สนามกีฬาในร่ม นิปปง บูโดกัง ผู้เข้าร่วมจำนวน 500 คนสดับรับฟัง ขณะสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงพระราชทานพระราชดำรัสซึ่งเรียกร้องว่า “ความเสียหายอันร้ายแรงต่างๆ เช่นนี้ของสงครามจะต้องไม่มีวันเกิดซ้ำขึ้นมาอีก”

ส่วน อาเบะ ผู้ซึ่งนับตั้งแต่ขึ้นครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2012 ส่วนใหญ่แล้วจะคอยหลีกเลี่ยงไม่พาดพิงเอ่ยถึงความรับผิดชอบต่อพฤติการณ์ในช่วงสงครามของญี่ปุ่น ก็ยังคงไม่ได้สร้างความผิดหวังให้แก่พวกผู้ติดตามของเขา ในการขึ้นกล่าวปราศรัยครั้งนี้ เขาให้ความสำคัญที่สุดกับการอ้างอิงถึงความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ที่ชาวญี่ปุ่นต้องอดทนฟันฝ่า พร้อมกับกล่าวขอบคุณบรรดาผู้คนที่ได้เสียสละชีวิตของตนเอง

“อย่าได้ทำให้โศกนาฏกรรมของสงครามเช่นนี้เกิดซ้ำขึ้นมาอีก” เขาบอก “เราจะยังคงยึดมั่นกับคำสัญญาอันเด็ดเดี่ยวนี้ต่อไป”

ในวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม ยังเป็นวาระครบรอบเหตุการณ์ที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อ 25 ปีก่อน โทมิอิชิ มุระยามะ (Tomiichi Murayama) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเวลานั้น ได้กล่าวคำปราศรัยที่กลายเป็นตำนาน ซึ่งบางครั้งก็รู้จักกันในชื่อว่า “คำแถลงมุระยามะ” (Murayama Statement) และมันมีบทบาทอย่างมากในการแผ้วถางทางให้ญี่ปุ่นสามารถสร้างความสัมพันธ์กับพวกประเทศเพื่อนบ้านของตนได้อย่างราบรื่น

มันเป็นคำปราศรัยอย่างเป็นทางการของผู้นำทางการเมืองของญี่ปุ่นครั้งแรก ที่มีเนื้อหากล่าวยอมรับอย่างเต็มที่ในเรื่องความรับผิดชอบของญี่ปุ่นสำหรับสงคราม พร้อมกับแสดงความเสียใจสำหรับพฤติกรรมการกระทำต่างๆ เหล่านั้น

ในเวลานั้น มุระยามะพูดว่า “ญี่ปุ่นที่เดินตามนโยบายแห่งชาติซึ่งผิดพลาด ได้ก้าวไปตามเส้นทางสู่สงคราม ซึ่งมีแต่นำพาประชาชนชาวญี่ปุ่นไปสู่การติดกับ ต้องตกอยู่ในวิกฤตการณ์แห่งชะตากรรม
นอกจากนั้นแล้วด้วยการปกครองแบบอาณานิคมและความก้าวร้าวของตนเอง ยังก่อให้เกิดความเสียหายและความทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างมากมายมหาศาลต่อประชาชนของประเทศจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประชาชาติในชาติเอเชียต่างๆ ... ผมจึงขออนุญาตแสดงความรู้สึกเศร้าเสียใจอย่างล้ำลึกของผมต่อบรรดาผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อทั้งหมดทั้งสิ้นของประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ”

มุระยามะ ซึ่งเวลานี้มีอายุ 96 ปี และไม่เหมือนกับอาเบะ ตรงที่เป็นผู้ผ่านประสบการณ์ของสงครามมาจริงๆ เขายังมีความรู้สึกว่าตนเองจำเป็นที่จะต้องจัดทำคำแถลงอีกฉบับหนึ่งออกมาในวันที่ 15 สิงหาคมปีนี้

หลังจากชี้ให้เห็นว่าอาเบะและพวกผู้สนับสนุนของเขามองว่าการย้อนกลับไปศึกษาพิจารณาประวัติศาสตร์เป็น “การล่วงละเมิดตัวเอง” แล้ว มุรายามะก็กล่าวต่อไปว่า “มันเป็นการให้เกียรติแก่ญี่ปุ่น สำหรับการตั้งคำถามอย่างถ่อมตนเกี่ยวกับอดีตของประเทศนี้ แท้ที่จริงแล้ว จุดยืนที่เอาแต่ปฏิเสธไม่ยอมรับการรุกรานของญี่ปุ่นและการที่ญี่ปุ่นทำให้ประเทศอื่นๆ ตกเป็นอาณานิคมของตนต่างหาก คือสิ่งที่ลดทอนคุณค่า ลดทอนความน่านับถือของประเทศนี้”

ชายผู้หนึ่งถือธงชาติแบบที่ญี่ปุ่นใช้ในยุคจักรวรรดิ ส่วนคนอื่นๆ สวมเครื่องแบบกองทัพบกและกองทัพเรือยุคจักรวรรดิ ขณะเตรียมเข้าไปสักการะภายในศาลเจ้ายาสุกุนิ ในกรุงโตเกียว เมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2020
กำลังโหลดความคิดเห็น