xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘ทรัมป์’ กลับลำแนะชาวอเมริกันสวมหน้ากาก โลกมีหวัง ‘อังกฤษ-จีน’ ทดลองวัคซีนโควิด-19 ได้ผล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ยอมสวมหน้ากากออกสื่อครั้งแรก ขณะเดินทางไปเยี่ยมโรงพยาบาลทหารวอลเตอร์รีดที่รัฐแมริแลนด์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ พลิกลิ้นชวนชาวอเมริกันหันมาสวมใส่หน้ากาก พร้อมยอมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในอเมริกาอาจเลวร้ายลงอีก ขณะที่โลกเริ่มมีความหวังในการเอาชนะโรคระบาดใหญ่โควิด-19 เมื่อผลการทดลองวัคซีนทั้งในอังกฤษและจีนพบว่าสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ ขณะที่อินเดียมีผู้ติดเชื้อทะลุ 1 ล้านคน ส่วนออสเตรเลียเร่งสอบข่าวฉาวการ์ดโรงแรมที่ใช้กักตัวผู้เดินทางร่วมหลับนอนกับผู้เข้าพักจนเป็นเหตุให้ไวรัสกลับมาระบาดหนักซ้ำสองในรัฐวิกตอเรีย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกยังคงน่ากังวล โดยจากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์เมื่อเช้าวันพฤหัสบดี (23 ก.ค.) ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งเกินกว่า 15.1 ล้านคน เสียชีวิตแล้ว 621,000 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงรั้งแชมป์อันดับ 1 ด้วยจำนวนผู้ป่วยสะสมมากที่สุดเกือบ 4 ล้านคน

ทรัมป์ ซึ่งหลีกเลี่ยงการสวมหน้ากากมาโดยตลอดได้ทวีตข้อความเมื่อวันจันทร์ (20) ว่า “หลายคนบอกว่าการสวมหน้ากากคือการแสดงความรักชาติ หากคุณไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้” พร้อมทั้งโพสต์ภาพตนเองสวมหน้ากากเป็นครั้งแรกตอนที่ไปเยี่ยมโรงพยาบาลทหารวอลเตอร์รีดนอกกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อหลายวันก่อน

ทรัมป์ ได้เอ่ยย้ำอีกครั้งขณะแถลงอัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเนียบขาวในวันอังคาร (21) ให้คนอเมริกันหันมาสวมหน้ากาก พร้อมเตือนว่าโรคระบาดใหญ่มีแนวโน้ม “ทวีความรุนแรง ก่อนที่จะดีขึ้น” ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่ผู้นำสหรัฐฯ ยอมรับว่าสถานการณ์ในประเทศของตนเลวร้ายแค่ไหน

ทรัมป์ หยุดแถลงสถานการณ์โควิด-19 ไปตั้งแต่เดือน เม.ย. ซึ่งการกลับมาอัปเดตสถานการณ์อีกครั้งในรอบเกือบ 3 เดือนโดยไม่มีทั้งหมอและเจ้าหน้าที่ทีมตอบสนองโควิด-19 ยืนประกบสะท้อนถึงการปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของผู้นำสหรัฐฯ รายนี้

“ถ้าคุณไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้ ขอให้สวมหน้ากาก หาหน้ากากมาสวมเสีย ไม่ว่าคุณจะชอบมันหรือไม่ แต่มันมีส่วนช่วยได้ มันมีผล และเราจำเป็นต้องทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้” ทรัมป์ ระบุ พร้อมเผยว่าตนเริ่มคุ้นชินกับหน้ากากแล้ว และจะสวมใส่มันเวลาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือระหว่างที่ใช้ลิฟต์

แม้จะย้ำความเชื่อเดิมว่าโควิด-19 “หายไปเองได้” แต่ ทรัมป์ ก็แสดงท่าทียอมรับว่าอเมริกากำลังเผชิญวิกฤตสาธารณสุขขั้นเลวร้าย

“เราขอให้ชาวอเมริกันสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างทางสังคม และรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส เราขอวิงวอนให้คนอเมริกันหนุ่มสาวหลีกเลี่ยงการไปบาร์หรือสถานที่ปิดอื่นๆ ซึ่งมีคนอยู่รวมกันเยอะๆ จงทำตัวเองให้ปลอดภัยและชาญฉลาด” เขากล่าว


การสวมหน้ากากได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างหนักในสหรัฐฯ เนื่องจากกลุ่มชาวอเมริกันขวาจัดที่เป็นฐานเสียงของ ทรัมป์ มองว่าการออกกฎบังคับให้คนสวมหน้ากากเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ขณะที่ตัวของ ทรัมป์ เองก็ปฏิเสธการสวมหน้ากากเรื่อยมา

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งทะยานขึ้นทั่วสหรัฐฯ โดยเฉพาะในรัฐใหญ่ๆ ที่อาจเป็นตัวชี้ขาดผลเลือกตั้งอย่างฟลอริดา, เทกซัส และแอริโซนา ทำให้ ทรัมป์ ต้องยอมเปลี่ยนจุดยืนเรื่องการสวมหน้ากาก ซึ่งสะท้อนความพยายามของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะกู้เรตติ้งกลับคืนมา หลังจากที่โพลทุกสำนักบ่งชี้ว่าคะแนนนิยมของเขาพ่ายแพ้ต่อ โจ ไบเดน คู่แข่งเบอร์หนึ่งจากพรรคเดโมแครต ซึ่งจะต้องดวลกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 3 พ.ย.

มาตรการตอบสนองที่สับสนและไร้ประสิทธิภาพ บวกกับยอดผู้เสียชีวิตกว่า 143,000 คน และสถิติผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มสูงกว่า 60,000 คนต่อเนื่องนานกว่า 1 สัปดาห์ ส่งผลให้คะแนนนิยมในตัว ทรัมป์ ลดลงเรื่อยๆ โดยผลสำรวจล่าสุดของวอชิงตันโพสต์/เอบีซีนิวส์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ระบุว่า ชาวอเมริกันราว 2 ใน 3 ไม่เชื่อมั่นในข้อมูลและการแสดงบทบาทผู้นำต่อสู้โควิด-19 ของทรัมป์

ออสเตรเลียมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 502 รายในรอบ 24 ชั่วโมงเมื่อวันพุธ (22) โดยเฉพาะที่รัฐวิกตอเรียซึ่งสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ยังไม่สามารถควบคุมได้ และทางการได้เริ่มบังคับสวมหน้ากากในที่สาธารณะสำหรับเมืองเมลเบิร์น ซึ่งถือเป็นพื้นที่แรกของประเทศ

จากการสอบสวนเชื่อว่าไวรัสที่กลับมาระบาดรุนแรงในเมลเบิร์นน่าเกิดการติดเชื้อภายในชุมชนที่เชื่อมโยงกับผู้เดินทางที่กักตัวในโรงแรม

หนังสือพิมพ์เดอะมิเรอร์ของอังกฤษรายงานว่า การระบาดรอบใหม่ในรัฐวิกตอเรียเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของโรงแรมซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่กักตัวผู้ที่เดินทางเข้าออสเตรเลียละเลยกฎระเบียบ และถึงขั้นแอบมีเพศสัมพันธ์กับผู้เข้าพัก

“ไม่ว่าไวรัสจะเล็ดลอดออกมาได้อย่างไร ดูเหมือนว่ามันจะหลุดออกมาจากโรงแรมหนึ่ง และดูเหมือนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบางคนจะมีช่วงเวลาแห่งความรื่นเริง” ลอรา ทิงเกิล หัวหน้าผู้สื่อข่าวสายการเมืองของเอบีซีนิวส์กล่าว

การสืบสวนล็อกเป้าไปที่บริษัทเอกชนผู้รับเหมาบริการรักษาความปลอดภัย โดยสื่อออสซี่อ้างแหล่งข่าววงในว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำโรงแรมมีการหลับนอนกับแขกที่อยู่ระหว่างกักกันโรค บางคนไม่ได้รับการฝึกฝนด้านการป้องกันโรคอย่างดีพอ บ้างก็งีบหลับขณะปฏิบัติหน้าที่ หรืออนุญาตให้ผู้กักตัวที่มากันเป็นครอบครัวสามารถไปมาหาสู่และรวมกลุ่มทำกิจกรรม

แดเนียล แอนดรูว์ ผู้ว่าการรัฐวิกตอเรีย ประกาศทุ่มเงินสนับสนุนการสอบสวนเรื่องนี้ถึง 3 ล้านดอลลาร์ โดยยอมรับว่าการติดเชื้อหลายกรณีเมื่อปลายเดือน พ.ค. ถึงต้นเดือน มิ.ย. “อาจเกิดจากการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคในโครงการโรงแรมสำหรับการกักกันโรค”


ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการแผนกสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดใน ‘แอฟริกาใต้’ ซึ่งเวลานี้มีผู้ติดเชื้อถึง 373,000 คน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งภูมิภาค โดยปัจจุบันแอฟริกายังเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากโอเชียเนีย ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตราว 15,000 คน และติดเชื้อเกือบ 725,000 คน แต่สถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในแอฟริกาใต้ซึ่งเคยพบผู้ติดเชื้อใหม่สูงถึง 13,000 คนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18)

บราซิลซึ่งได้เผชิญการแพร่ระบาดหนักหน่วงรองจากสหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 2.22 ล้านคน เสียชีวิตแล้ว 82,771 คนตามข้อมูลในเช้าวันพฤหัสบดี (23) ขณะที่ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ซึ่งถูกพบว่าติดเชื้อเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วยังคงมีผลตรวจ “เป็นบวก” ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 3 เมื่อวันพุธ (22)

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วอินเดียพุ่งทะลุ 1 ล้านคนในสัปดาห์นี้ ขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติของอินเดียเผยว่า จากการสุ่มตรวจพลเมืองกว่า 20,000 คนในกรุงนิวเดลีพบผู้ที่มีแอนติบอดีต้านทานไวรัสโคโรนาถึง 23.48% ซึ่งหมายความว่าอาจจะมีประชากรถึง 1 ใน 4 ของเมือง หรือประมาณ 6.6 ล้านคน ที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้รับการตรวจ ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทางการยังอยู่แค่ 123,747 คน และเสียชีวิต 3,663 คน

ฟิลิปปินส์ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียประกาศในสัปดาห์นี้ว่าจะเพิ่มการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาให้ได้ 32,000-40,000 คนต่อวัน หลังจากผู้ป่วยในประเทศพุ่งแบบก้าวกระโดด 4 เท่ามาอยู่ที่ราวๆ 72,000 คน และตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มเกือบ 2 เท่าอยู่ที่ 1,843 คน นับตั้งแต่มะนิลาผ่อนคลายล็อกดาวน์ในเดือน มิ.ย.

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ออกมาขู่จับกุมคนที่แพร่เชื้อไวรัส รวมถึงผู้ที่ไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคม โดยยืนยันว่ารัฐบาล “ไม่รู้สึกผิด” ที่จะจับกุมและลงโทษพวกแหกกฎ


สัปดาห์นี้ กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้อนุมัติให้ยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลังมีผลการทดลองในอังกฤษยืนยันว่ายาชนิดนี้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการหนัก และยังมีข่าวดีว่าวัคซีน AZD1222 ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดร่วมกับบริษัทยาแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับไวรัสโคโรนาได้ในกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่กว่า 1,000 คน โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียงร้ายแรง และมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนตัวนี้จะพร้อมใช้ในช่วงสิ้นปี 2020

ขณะเดียวกัน วัคซีนโควิด-19 ตัวหนึ่งซึ่งผลิตโดย ซิโนวัค (Sinovac) บริษัทเวชภัณฑ์ชั้นนำของจีน ก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการทดสอบขั้นสุดท้ายที่บราซิลเมื่อวันอังคาร (21) ซึ่งถือเป็นวัคซีนตัวที่ 3 ของโลกที่เข้าสู่การทดลองทางคลินิกขั้นที่ 3 หรือการทดลองขนาดใหญ่ในมนุษย์

บุคลากรการแพทย์ราว 9,000 คนใน 6 รัฐของบราซิลจะได้รับวัคซีนจำนวน 2 โดสภายในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งคาดว่าผลการทดลองเบื้องต้นจะออกมาภายใน 90 วัน

ด้านสหรัฐฯ ประกาศเตรียมจ่ายเงิน 1,950 ล้านดอลลาร์ (ราว 61,000 ล้านบาท) เพื่อกว้านซื้อวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ อิงค์ บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติอเมริกา และไบโอเอ็นเทค บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพแห่งเยอรมนี เป็นจำนวน 100 ล้านโดส หากวัคซีนตัวนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยและสามารถป้องกันโควิด-19 ได้จริง ซึ่งปัจจุบันทางไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคคาดหมายว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้สูงสุด 100 ล้านโดสทั่วโลกภายในสิ้นปี 2020 และเป็นไปได้ที่จะสามารถผลิตได้มากกว่า 1,300 ล้านโดส ภายในช่วงสิ้นปี 2021
กำลังโหลดความคิดเห็น