xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯรณรงค์ให้ใช้ ‘อีริคสัน-โนเกีย’ แทน ‘หัวเว่ย’ แท้จริงแล้ว 2 เจ้านี้มีความเป็น ‘จีน’ มากกว่าที่ตามองเห็น

เผยแพร่:   โดย: สเปงเกลอร์



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Ericsson, Nokia are more Chinese than meets the eye
by Spengler
07/07/2020

อีริคสัน และโนเกีย 2 บริษัท “ยุโรป” ที่เป็นคู่แข่งรายสำคัญของหัวเว่ยในเรื่อง 5จี กำลังถูกดูดซึมให้กลายเป็น “จีน” อย่างช้าๆ แต่แน่นอน ทั้งด้วยชิ้นส่วนอะไหล่, ซัปพลาย, และสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจากแดนมังกร

ออสเตรเลียรู้สึกช็อก ช็อกเมื่อค้นพบว่า อีริคสัน ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์หลักของอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ตนเองใช้งานนั้น พึ่งพาอาศัยพวกอุปกรณ์จีนที่มาจาก แพนด้า อิเล็กทรอนิกส์ (Panda Electronics) บริษัทอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองหนานจิง (นานกิง) มณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของจีน โดยที่ชื่อของ แพนด้า ปรากฎอยู่ในบัญชีรายนามบริษัทจีนซึ่งเชื่องโยงอยู่กับกองทัพปลดแอกประชาชนจีนฉบับล่าสุดที่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ประกาศเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้

การเปิดโปงข้อเท็จจริงเช่นนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dailymail.co.uk/news/article-8485357/Chinese-military-North-Korean-regime-linked-5G-equipment-rolled-Australia.html) ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะทำให้เกิดความเดือดดาลใหญ่โต โดยที่ในเวลานี้ก็ได้รับการรายงานข่าวอย่างกว้างขวางในสื่อมวลชนของออสเตรเลีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smh.com.au/national/chinese-military-has-links-to-supplier-of-5g-equipment-in-australia-20200702-p558g2.html) ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆ กับที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯขึ้นบัญชีชื่อแพนด้า ในฐานะที่เป็นกิจการซึ่ง “เป็นของ, ควบคุมโดย, หรืออยู่ในเครือ ของรัฐบาล, กองทัพ, หรืออุตสาหกรรมกลาโหม ของประเทศจีน”

ตามข่าวที่รายงานกัน แพนด้า อิเล็กทรอนิกส์ มีกิจการร่วมลงทุนแห่งหนึ่งในประเทศจีน ซึ่งเป็นการจับมือกันกับ อีริคสัน ยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดน ขณะที่อีริคสันเป็นซัปพลายเออร์รายสำคัญรายหนึ่งที่จำหน่ายจัดส่งอุปกรณ์เทเลคอมต่างๆ ซึ่งใช้โดย เทลสตรา (Telstra) และ ออปตุส (Optus) 2 บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายเทเลคอมของออสเตรเลีย ความผูกพันโยงใยกันเช่นนี้ย่อมหมายความว่า แพนด้าเวลานี้มีความเกี่ยวข้องและในอนาคตก็จะมีความเกี่ยวข้องกับระบบ 5จี ซึ่งออสเตรเลียกำลังจัดวางติดตั้งใช้งาน

จีนนั้นไม่ได้ต้องการผลักไสขับไล่อีริคสันให้ออกไปจากธุรกิจ จีนต้องการที่จะดูดซับอีริคสันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตนเองต่างหาก ผมได้รายงานเรื่องนี้เอาไว้ในเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน (ดูเพิ่มเติมที่เรื่อง US potshots at Huawei miss China’s grand design ใน https://asiatimes.com/2020/06/us-potshots-at-huawei-miss-chinas-grand-design/ หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว คือเรื่อง ‘สหรัฐฯ’สาดกระสุนสุ่มยิงใส่‘หัวเว่ย’ แต่พลาดเป้าไม่โดนแผนการใหญ่ที่ ‘จีน’วางเอาไว้ ใน https://mgronline.com/around/detail/9630000073854) อุปกรณ์ของคู่แข่งรายหลักทั้ง 2 รายของหัวเว่ย นั่นคือ อีริคสัน และ โนเกีย ต่างมีความอ่อนเปราะที่จะตกอยู่ใต้การสอดแนมสืบความลับจากจีนพอๆ กันกับของหัวเว่ยนั่นแหละ เพราะพวกเขาต่างพึ่งพาอาศัยพวกชิ้นส่วนทำจากจีนอย่างเดียวกัน

อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของผมเรื่อง You Will Be Assimilated: China’s Plan to Sino-Form the World (คุณจะถูกดูดกลืน: แผนการของจีนในการทำให้โลกกลายเป็นรูปฟอร์มแบบจีน) (https://www.amazon.com/You-Will-Be-Assimilated-Sino-form/dp/1642935409/ref=sr_1_1?crid=1CLJ1G9APGLQW&dchild=1&keywords=you+will+be+assimilated&qid=1593517256&sprefix=you+will+be+assi%2Caps%2C154&sr=8-1) การที่ต้องพึ่งพาพวกชิ้นส่วนทำจากจีนเช่นนี้ ทำให้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของ อีริคสัน และ โนเกีย ก็สามารถก่อให้เกิดความไม่มั่นคงพอๆ กับการใช้ผลิตภัณฑ์หัวเว่ย ในความเป็นจริงแล้ว 3 บริษัทล้วนแต่ใช้พวกโรงงานผลิตแห่งเดียวกันในประเทศจีน ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวทางอุตสาหกรรมหลายๆ ราย

สถานีฐาน 5จี ไม่ว่าจะประทับชื่อแบรนด์ หัวเว่ย หรือ อีริคสัน ย่อมไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย เมื่อปี 2019 รัฐบาลสหรัฐฯสอบถามอีริคสันว่าสามารถโยกย้ายการผลิตมายังสหรัฐฯได้หรือไม่ ปรากฏว่าบริษัทสวีเดนแห่งนี้กระวีกระวาดตอบสนองด้วยการเปิดโรงงานขึ้นแห่งหนึ่งรัฐเทกซัส ทว่าเป็นแค่โรงงานเล็กๆ มีลูกจ้างพนักงานรวมทั้งสิ้น 100 คนเท่านั้น

อเมริกายังคงไม่ได้มีแผนการใดๆ ที่จะสร้างฮาร์ดแวร์ขึ้นมาแข่งขันกับชิ้นส่วนอุปกรณ์เทเลคอม 5จี ของจีน กลุ่มพันธมิตรกลุ่มหนึ่งของพวกบริษัทซอฟต์แวร์สหรัฐฯ ซึ่งโนเกียได้เข้าร่วมด้วย กำลังพูดจาหารือกันเกี่ยวกับการจัดทำโซลูชั่นที่อิงอยู่กับซอฟต์แวร์ ซึ่งสามารถใช้พวกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์แบบสามัญทั่วไปมาดำเนินการเครือข่าย 5จี ทว่าการนำเอาโซลูชั่นนี้มาใช้งานในทางปฏิบัติได้จริงๆ คงจะต้องใช้เวลากันอีกหลายปี –ทั้งนี้ถ้าหากว่าโซลูชั่นนี้ใช้การได้จริงนะครับ

จีนกำลังใช้จ่ายในเรื่องบรอดแบนด์ไร้สาย 5จี ในระดับ 5 เท่าตัวจนถึง 10 เท่าตัวของงบใช้จ่ายของอเมริกา “พวกบริษัทตั้งเสาสถานีฐานของสหรัฐฯและพวกบริษัทให้บริการเทเลคอมของสหรัฐฯ เพิ่มจำนวนไซต์ (บรอดแบนด์ 5จี) ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา น้อยกว่าเสาสถานีฐานที่จีนสร้างเพิ่มขึ้นมาในระยะเวลาแค่ 3 เดือนเสียอีก” ดีลอยต์ รายงานเอาไว้เช่นนี้เมื่อปลายปี 2019 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/us/Documents/technology-media-telecommunications/us-tmt-5g-deployment-imperative.pdf)

รายงานนี้กล่าวต่อไปอีกว่า “ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา จีนใช้จ่ายมากกว่าสหรัฐฯถึงประมาณ 24,000 ล้านดอลลาร์ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสารแบบไร้สาย และได้จัดสร้างจุดตั้งเสาสถานีฐานแห่งใหม่ๆ ขึ้นมา 350,000 แห่ง โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นสหรัฐฯสร้างขึ้นมาได้ไม่ถึง 30,000 แห่ง เมื่อมองไปยังอนาคตข้างหน้า แผนเศรษฐกิจระยะ 5 ปีของจีนระบุอย่างเจาะจงว่าจะใช้เงิน 400,000 ล้านดอลลาร์ในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ 5จี ผลที่จะติดตามมาก็คือ จีนและประเทศอื่นๆ อาจจะสร้างคลื่นสึนามิ 5จี ขึ้นมา ทำให้ใกล้เป็นไปไม่ได้เอาเลยทีเดียวที่จะไล่ตามให้ทัน”

อีริคสันดูเหมือนจะได้ส่วนแบ่งในการสร้างระบบ 5จี ของประเทศจีนไปราว 10% นี่คือสัดส่วนของจำนวนสถานีฐาน 5จีในสัญญารับเหมาที่บริษัทได้รับจาก ไชน่า เทเลคอม (China Telecom) และ ไชน่า ยูนิคอม (China Unicom) 2 ผู้ให้บริการเทเลคอมไร้สายที่มีฐานะครอบงำตลาดแดนมังกร

ในแง่ของยอดขายแล้ว หากคำนวณกันเป็นตัวเลขกลมๆ มันจะเท่ากับ 100% ของตลาดอุปกรณ์ 5จี สหรัฐฯทีเดียว ด้วยการมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทตั้งอยู่ในประเทศจีน ขณะเดียวกันตลาดที่มีลู่ทางอนาคตใหญ่โตกว้างขวางที่สุดของบริษัทก็อยู่ในประเทศจีนเช่นกัน อีริคสันซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก จึงกำลังค่อยๆ กลายสภาพเป็นบริษัทจีนแห่งหนึ่งไปอย่างช้าๆ

ในอีกด้านหนึ่ง งานด้านการวิจัยและการพัฒนา (R&D) ของโนเกีย ก็มุ่งโฟกัสอยู่ที่จีนเช่นกัน โดยที่ในแดนมังกร บริษัทสัญชาติฟินแลนด์แห่งนี้ได้จัดตั้งกิจการร่วมทุนกับ ไชน่า หัวซิน โพสต์ แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น (China Huaxin Post & Telecommunication) ขึ้นมาเมื่อปี 2017 (โดยใช้ชื่อว่า โนเกีย ซั่งไห่ เบลล์ Nokia Shanghai Bell ใช้อักษรย่อว่า เอ็นเอสบี NSB ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nokia.com/about-us/news/releases/2017/05/18/nokia-and-china-huaxin-sign-definitive-agreements-for-creation-of-new-nokia-shanghai-bell-joint-venture/ - ผู้แปล)

ตามปากคำของโนเกียเอง ระบุว่า “กิจการร่วมทุนแห่งนี้จะเป็นผู้ดำเนินการส่วนสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ของโนเกียในประเทศจีน กิจการร่วมทุนแห่งนี้จะสืบต่อพัฒนาพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ ในแวดวงของ IP routing, ใยแก้วนำแสง, โทรศัพท์พื้นฐาน, และ 5จี เจเนอเรชั่นหน้า กิจกรรมการวิจัยและการพัฒนาของ NSB จะใช้บุคลากรทั้งสิ้นราว 16,000 คน โดยจำนวนนี้เป็นนักวิจัย 10,000 คน ซึ่งกำลังทำงานข้ามไปมาตามสถานที่ R&D 6 แห่งในประเทศจีน”

แผนกงาน R&D ของบริษัทโนเกียโดยรวมนั้น ว่าจ้างพนักงาน 17,000 คน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.industryweek.com/leadership/companies-executives/article/21937709/nokia-to-cut-rd-jobs-in-japan) ดังนั้นนักวิจัยในจีน 10,000 คนของบริษัทตามที่กล่าวข้างต้น จึงเท่ากับเกินกว่าครึ่งหนึ่งของงานทางด้านนี้ในทั่วโลกของโนเกีย ทว่าแม้กระทั่งแสดงความมุ่งมั่นผูกพันกับประเทศจีนถึงขนาดนี้แล้ว โนเกียก็ยังล้มเหลวไม่ประสบชัยชนะในการคว้าสัญญารับเหมาจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ให้แก่พวกบริษัทผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายของจีน ในการจัดประกวดราคาซึ่งมีขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

จีนกำลังใช้จ่ายอย่างมากมายมหาศาลจนมีฐานะครอบงำการลงทุนด้านเงินทุนในเรื่องบรอดแบนด์ของทั่วโลกไปแล้ว นอกจากนั้นเป็นที่คาดหมายกันว่าการใช้จ่ายด้านการลงทุน (capex) ในเรื่องนี้ของจีนยังจะขยายตัวในอัตราสูงต่อไป ขณะที่ในทางกลับกัน พวกบริษัทให้บริการเทเลคอมของสหรัฐฯได้ลดขนาดแผนการการใช้จ่ายด้านการลงทุนสำหรับปี 2020 ของพวกตนลงมา แม้กระทั่งก่อนที่โรคระบาดโควิด-19 เข้ามาเบียดเสียดปั่นป่วนแผนการลงทุนของบริษัทเหล่านี้ด้วยซ้ำ

เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เอทีแอน์ดีแถลงว่าจะตัดลดการใช้จ่ายด้านการลงทุนในปี 2020 ลงมาเหลือ 20,000 ล้านดอลลาร์ จากระดับ 23,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 โดยที่จะหันไปเน้นเรื่องการซื้อคืนหุ้นของบริษัท พวกนักวิเคราะห์ยังต่างคาดหมายว่า ภายหลังโควิด เอทีแอนด์ทีจะตัดการใช้จ่ายด้านการลงทุนลงมาอีกกระทั่งเหลือแค่ 18,600 ล้านดอลลาร์ เท่ากับลดลงมา 22% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี ขณะที่ยอดขายสมาร์ตโฟนของบริษัทก็ตกลงมาราว 1 ใน 5 เมื่อเทียบแบบปีต่อปี ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้

เวลาเดียวกันนั้น การนำเอา 5จี ออกมาใช้งานของอเมริกาก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น และอยู่ในสภาพของการนำเอาแผ่นปะผุมาวางอยู่ข้างบนยอดของเครือข่าย 4จี ซึ่งมีอยู่แล้ว หรือที่เรียกกันว่า “5จี แบบไม่ใช่ สแตนด์ อะโลน” (5G Non-Stand Alone เรียกย่อๆ ว่า 5G NSA) อย่างที่ สกอตต์ ฟุลตัน (Scott Fulton) รายงานเอาไว้ทาง แซดดีเน็ต (ZDNet) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.zdnet.com/article/5g-reinvented-the-longer-rougher-road-toward-ubiquity/)

“มันพึ่งพิงอาศัยรากฐานที่อยู่เบื้องใต้ลงไป และโครงสร้างสถานีฐานของระบบ 4จี LTE ที่มีอยู่แล้ว ด้วยการสร้างบริการ 5จี และระดับต่างๆ ของบริการ ในลักษณะที่เรียกได้ว่า อยู่ภายในพวกมงกุฎซึ่งวางอยู่เหนือหรืออยู่ใต้โครงสร้างที่ดำรงอยู่แล้วของ 4จี ... 4จี จึงกำลังเป็นตัวซึ่งทำหน้าที่ต่อขาให้แก่ 5จี ไอเดียก็คือ ในทันทีที่ 5จี สามารถปักหลักยืนได้อย่างมั่นคงแล้ว 4จี ก็สามารถเริ่มต้นลดบทบาทลงไปเรื่อยๆ” ฟุลตัน เขียนเอาไว้เช่นนี้

อย่างไรก็ตาม 5จี ในเวอร์ชั่น 5G Non-Stand Alone ไม่ได้มีอัตราเร็วกว่า 4จี LTE เท่าใดนัก ยกเว้นในบางบริเวณที่เล็กมากๆ ไม่กี่แห่งของเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น การศึกษาของ รูตเมทริกส์ (RootMetrics) รายงานการค้นพบเรื่องนี้เอาไว้ในเดือนมีนาคม

เวอไรซอนเสนอบริการ 5จี ที่มีอัตราเร็วสูงสุดอยู่ที่ 627 เมกะไบต์ต่อวินาทีในลอสแอนเจลิส เร็วเพียงพอสำหรับการดาวน์โหลดซีรีส์ทางทีวีจำนวนมากภายในเวลาไม่กี่วินาที แต่ไฮสปีดขนาดนี้มีให้ใช้งานได้เพียงแค่ในพื้นที่ราวๆ 0.04% ของนครแห่งนี้เท่านั้น ขณะที่ 5จี ของเวอไรซอนในชิคาโกให้อัตราเร็วได้เพียงแค่ 107 เมกะไบต์ต่อวินาที

สำหรับบริการ 5จี ในลอสแอนเจลิสของ เอทีแอนด์ที มีอัตราเร็วเพียงแค่ 36 เมกะไบต์ต่อวินาที เท่าๆ กับ 4จี ที่มีใช้กันอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี งานวิดีโอสตรีมมิ่งสามารถทำได้เยี่ยมอยู่แล้วบน 4จี ส่วนอัตราเร็วกว่านั้นเพียงพอที่จะใช้งานแค่สำหรับปัจเจกบุคคลแต่ละคนซึ่งวางแผนว่าจะเดินสำรวจรอบๆ เมืองโดยสวมใส่หน้ากากเสมือนจริง (Virtual Reality helmet) เท่านั้น

ผู้บริโภคย่อมไม่ยินดีที่จ่ายเงิน 1,000 ดอลลาร์เพื่อซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ที่ใช้บริการระดับ 5จีได้ ทว่าบริการ 5จี กลับให้ได้แค่การปรับปรุงยกระดับขึ้นมาจากของเดิมแค่นิดๆ หน่อยๆ ส่วนพวกผู้ให้บริการในสหรัฐฯก็แทบไม่มีแรงจูงใจเอาเลยที่จะสร้างเครือข่าย 5จี ขึ้นมา ขณะที่สหรัฐฯไม่ได้มีหน่วยงานภาคสาธารณะซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการวางแผนและการลงทุนด้านการสื่อสารโทรคมนาคม

อเมริกากำลังคาดหวังให้พวกผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ที่พวกเขาไม่ได้มีความต้องการกันจริงๆ ขณะที่จีนกำลังให้การอุดหนุนการก่อสร้างโครงสร้างเช่นนี้ขึ้นมา โดยมองว่ามันเป็นฐานรากสำหรับเทคโนโลยีต่างๆ หลายหลาก ที่แดนมังกรเรียกขานว่าเป็น การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อันได้แก่ โทรเวชกรรม (telemedicine), วิทยาการหุ่นยนต์แบบที่พวกมันสามารถสั่งงานกันเองได้อย่างอัตโนมัติ, การทำเหมืองแร่โดยกระบวนการทำภาพความเป็นจริงจากภาพเสมือนจริง (mining by virtual reality visualization), แอปพลิเคชั่นต่างๆ ทางปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), ไปจนถึง อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things), ยานขับเคลื่อนได้ด้วยตัวมันเอง, “นครอัจฉริยะ”, และอื่นๆ

พวกผู้บริโภคที่ชมวิดีโอ ไม่ได้ต้องการอัตราเร็วในการดาวน์โหลดที่เร็วขึ้นจนถึงระดับ 100 เท่าตัวของ 4จี LTE แต่อัตราเร็วที่สูง (high-speed), ศักยภาพที่สูง (high-capacity), และเวลาแฝงที่ต่ำ (low latency เวลาแฝงหมายถึงความล่าช้าที่เกิดขึ้นเมื่อจะรับหรือส่งสัญญาณ) ในเครือข่าย 5จีนี่แหละ สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมอุตสาหกรรมสำคัญๆ และการบริการสำคัญๆ แทบทั้งหมด ในหนทางซึ่งพวกนักวิเคราะห์ยังไม่สามารถเริ่มต้นคาดการณ์ทำนายได้ในตอนนี้

จีนยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุดชนิดทิ้งห่างคนอื่นๆ ไกลสุดกู่สำหรับเรื่องอุปกรณ์ 5จี และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การมีฐานะเป็นสนามสำหรับการทดสอบพิสูจน์พวกเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งต่อเชื่อมโยงใยกับพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม, การแพทย์, และการบริการ

ความผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างการลงทุนใน 5จี ของจีน กับการลงทุนในเรื่องเดียวกันของอเมริกันนั้น มันช่างมากมายมหาศาลจนกระทั่งพวกผู้ผลิตทางด้านเทเลคอมและผู้ผลิตอุปกรณ์อุตสาหกรรมระดับโลกทั้งหลาย ยังจะต้องเอนเอียงไปทางข้างจีนต่อไป

ขณะเดียวกัน ภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า ประเด็นปัญหาเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่าย 5จี จะกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญอีกต่อไป อย่างที่ผมได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ในหนังสือเรื่อง You Will Be Assimilated กล่าวคือ เนื่องจากวิทยาการเข้ารหัสลับแบบควอนตัม (quantum cryptograph) ซึ่งไม่สามารถแฮคไม่สามารแอบเจาะล้วงได้ จะทำให้เป็นไปไม่ได้เลยไม่ว่าใครหน้าไหนก็ตาม ที่จะแอบอ่านข้อมูลข่าวสารซึ่งส่งผ่านด้วยการเข้ารหัสเช่นนี้

“ตามทฤษฎีแล้ว ฮาร์ดแวร์บรอดแบนด์ทั้งหลายทั้งปวงที่จำน่ายกันอยู่ทั่วโลก ในความเป็นจริงล้วนมีความอ่อนแอเปราะบางต่อการเจาะการแฮคฮาร์ดแวร์ของฝ่ายจีน อย่างไรก็ดี กระทั่งศักยภาพความสามารถในการสอดแนมตรวจตราอย่างกว้างขวางยิ่งของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (US National Security Agency) และหน่วยงานหุ้นส่วนของสำนักงานแห่งนี้ในกลุ่ม “ไฟฟ์ อายส์” (Five Eyes) ก็จะมาถึงจุดอวสานในยุคสมัยแห่งวิธีการเข้ารหัสลับแบบควอนตัม” ผมเขียนเอาไว้เช่นนี้

เทคโนโลยีใหม่นี้ ซึ่งบุกเบิกขึ้นโดยจีน และได้ทำการทดสอบภาคสนามร่วมกับพวกผู้ให้บริการด้านเทเลคอมในยุโรป สามารถสร้างกุญแจเข้ารหัสลับซึ่งจะรบกวนสัญญาณการสื่อสาร และเตือนภัยผู้เข้าร่วมการรับส่งข้อมูลข่าวสาร หากมีความพยายามใดๆ ที่จะแอบเจาะแอบเข้ามาล้วง โดยไม่คำนึงว่าพวกสปายช่างสอดรู้สอดเห็นเหล่านี้จะเป็นฝ่ายจีนหรือฝ่ายอเมริกัน

สเปงเกลอร์ เป็นนามปากกาที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้วของ เดวิด พี. โกลด์แมน


กำลังโหลดความคิดเห็น