เอเอฟพี - ฝ่ายทหารของจีนอนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาซึ่งพัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานวิจัยของกองทัพเองร่วมกับบริษัทไบโอเทคแห่งหนึ่ง กับทหารในกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ แคนซิโน ไบโอโลจิกส์ (CanSino Biologics) บริษัทไบโอเทคแห่งนี้ระบุในวันจันทร์ (29 มิ.ย.)
ปัจจุบัน องค์การหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมากทั่วโลก ต่างกำลังแข่งขันกันเพื่อหาวิธีในการบำบัดรักษาและในการป้องกันเชื้อโรคมรณะนี้
ในจำนวนวัคซีนที่แข่งขันกันอยู่ 17 ตัวซึ่งได้รับการระบุอ้างอิงโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) นั้น กว่าครึ่งหนึ่งทีเดียวอยู่ในการประเมินผลทางคลินิกซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบริษัทจีนหรือสถาบันของจีน
แคนซิโน ซึ่งเป็นบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ระบุในรายงานแจ้งทางตลาดหลักทรัพย์ว่า ข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของฝ่ายทหารจีนตัวนี้ มี “โปรไฟล์ความปลอดภัยที่ดี” และมีศักยภาพในการป้องกันโรคซึ่งมีสาเหตุจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ในรายงานของแคนซิโนเมื่อวันจันทร์ (29) ระบุว่า คณะกรรมการการทหารส่วนกลางของจีน ได้อนุมัติในวันพฤหัสบดี (25) ที่แล้ว ให้ใช้วัคซีนตัวนี้ได้เป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้คณะกรรมการการทหารส่วนกลางเป็นหน่วยงานสูงสุดซึ่งทำหน้าที่บังคับบัญชากองทัพปลดแอกประชาชนจีน
วัคซีนตัวนี้ ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาโดย แคนซิโน และสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพปักกิ่ง (Beijing Institute of Biotechnology) ที่เป็นส่วนหนึ่งของบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางทหาร (Academy of Military Medical Sciences) ของจีน
รายงานที่ส่งถึงตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า วัคซีนตัวนี้ไม่สามารถที่จะนำไปใช้ในขอบเขตกว้างขวางกว่านี้ได้ ถ้าไม่ได้รับการอนุมัติเพิ่มเติม
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า วัคซีนนี้จะถูกนำไปใช้มากน้อยเพียงใดภายในกองทัพจีนซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก และกระทรวงกลาโหมจีนก็ไม่ตอบอะไรเมื่อสำนักข่าวเอเอฟพีติดต่อขอสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
แคนซิโนบอกด้วยว่า ไม่สามารถรับประกันได้ว่าวัคซีนตัวนี้ซึ่งได้ผ่านการทดลองทางคลินิกทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ในประเทศจีนแล้วจะสามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในท้ายที่สุดได้หรือไม่
ยังมีวัคซีนคู่แข่งอีก 131 ตัวซึ่ง WHO ระบุชื่อว่าอยู่ในระยะพรีคลินิก
เวลานี้ยังไม่มีวัคซีนตัวใดเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อจัดการกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ตามรายงานของ เดอะ แลนสิท (The Lancet) วารสารทางการแพทย์ชื่อดังที่มีฐานในอังกฤษ ขณะนี้มีการนำเอาวิธีบำบัดรักษาทางเภสัชกรรม (pharmaceutical treatments) สำหรับไวรัสนี้จำนวนหลายสิบวิธี มาทำการทดลองทางคลินิกมากกว่า 1,000 การทดลอง แต่ยังไม่พบการบำบัดรักษาใดที่ได้ผลอย่างเต็มที่