รอยเตอร์ - กองทัพเรือสหรัฐฯ ยกเลิกแผนคืนตำแหน่งให้แก่นาวาเอก เบร็ตต์ โครซิเยอร์ (Brett Crozier) ผู้บังคับการเรือบรรทุกเครื่องบิน ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ซึ่งได้รับยกย่องจากลูกเรือว่าเป็น “ฮีโร่” ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องโควิด-19 ระบาด โดยอ้างว่าผู้การรายนี้ไม่ได้พยายามมากพอที่จะยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จนเป็นเหตุให้มีลูกเรือติดเชื้อนับพันนาย
กองทัพเรือสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (19 มิ.ย.) ว่า ผลการสอบสวนเชิงลึกพบว่า แม้ โครซิเยอร์ จะส่งจดหมายแจ้งไปยังผู้บัญชาการระดับสูงเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ตัวเขาเองกลับไม่ได้ใช้มาตรการป้องกันยับยั้งโรคระบาดอย่างเต็มที่ จนสุดท้ายมีลูกเรือติดเชื้อมากกว่า 1,200 นาย และเสียชีวิตไป 1 นาย
กองทัพเรือยังตัดสินใจระงับการเลื่อนตำแหน่งให้แก่ พล.ร.ต.สจวร์ต เบเกอร์ ผู้บัญชาการกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีซึ่งเป็นหัวหน้าของ โครซิเยอร์
พล.ร.อ.ไมค์ กิลเดย์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ เคยเสนอให้คืนตำแหน่งแก่ โครซิเยอร์ หลังผลการสืบสวนเบื้องต้นถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือน เม.ย. แต่เมื่อตรวจสอบโดยละเอียด กิลเดย์ ระบุว่า ทั้ง โครซิเยอร์ และ เบเกอร์ ต่างก็บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ “มากพอสมควร”
“ถ้าผมได้ทราบตั้งแต่ตอนนั้นก็คงจะไม่เสนอให้คืนตำแหน่งแก่นาวาเอกโครซิเยอร์ และถ้าวันนี้เขายังคงเป็นผู้บังคับการเรืออยู่ ผมนี่แหละจะสั่งปลดเขาเอง” กิลเดย์ แถลงต่อสื่อมวลชนที่ตึกเพนตากอน
ทั้งนี้ โครซิเยอร์ จะไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งในสายบังคับบัญชาอื่นๆ และจะถูกโยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ใหม่ ซึ่งเท่ากับปิดฉากเส้นทางอาชีพทหารเรือของเขาไปโดยปริยาย
โครซิเยอร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษที่กล้าเอาอาชีพการงานมาเสี่ยง หลังจากที่เขาเขียนจดหมายร้องเรียนเกี่ยวกับสถานการณ์เลวร้ายบนเรือที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกล่าวหาเพนตากอนว่าไม่ใส่ใจในเรื่องนี้มากพอ ก่อนที่จดหมายฉบับนี้จะรั่วไหลถึงสื่อมวลชน จนทำให้กระทรวงกลาโหมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ต่อมารักษาการรัฐมนตรีทบวงทหารเรือ โทมัส มอดลีย์ ได้สั่งปลด โครซิเยอร์ ทว่า คำสั่งดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและน่าจะมีการสอบสวนเสียก่อน
มอดลีย์ ยังโหมกระพือความขุ่นเคืองขึ้นไปอีกด้วยการบินจากวอชิงตันไปยังเกาะกวมซึ่งเป็นสถานที่ที่เรือ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ จอดอยู่ และขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์เยาะเย้ยถากถางการกระทำของ โครซิเยอร์ ต่อหน้าลูกเรือของเขา ซึ่งสปีชดังกล่าวก็รั่วไหลถึงมือสื่อมวลชนเช่นกัน จนเป็นเหตุให้ มอดลีย์ ต้องตัดสินใจลาออก
ผลการสอบสวนพบว่า ลูกเรือ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ น่าจะติดไวรัสระหว่างแวะจอดที่เวียดนามเมื่อเดือน มี.ค. ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ยังถือว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ
ไวรัสได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วก่อนที่เรือจะเดินทางกลับถึงเกาะกวม ขณะที่หัวหน้าแพทย์บนเรือได้ประเมินไว้ในจดหมายลงวันที่ 31 มี.ค. ว่าจะมีลูกเรือ “เสียชีวิต” อย่างน้อย 50 นาย และขู่จะส่งจดหมายนี้ให้สื่อมวลชน “หากไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ ในทันที”
อย่างไรก็ตาม โครซิเยอร์ ได้ตอบเจ้าหน้าที่แพทย์ว่า “ไม่จำเป็น” เพราะจดหมายที่เขาส่งให้ผู้บังคับบัญชาก็ได้เอ่ยถึงความกังวลเหล่านี้แล้ว
กิลเดย์ ชี้ว่าเป็นความผิดพลาดของ โครซิเยอร์ ที่ไม่ออกคำสั่งเฝ้าระวังตนเองสำหรับลูกเรือซึ่งไม่ได้ถูกกักกันโรค และยังปล่อยตัวลูกเรือที่ถูกกักโรคเร็วเกินไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายเร็วขึ้น