เอเจนซีส์ – มาเรีย เรสซา บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ข่าว Rappler เจ้าของรางวัลบุคคลแห่งปีประจำปี 2018 ของนิตยสารไทม์ ถูกศาลฟิลิปปินส์พิพากษาวันนี้ (15 มิ.ย.) ว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทผ่านเนื้อหาออนไลน์ (cyber-libel) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี ในคดีที่นักสิทธิมนุษยชนชี้ว่าเป็นเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความพยายามปิดปากสื่อที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต
เรสซา วัย 56 ปี และเว็บไซต์ Rappler ตกเป็นเป้าเล่นงานทางกฎหมายและโดนสอบสวนมาแล้วหลายครั้งจากการวิจารณ์นโยบายต่างๆ ของดูเตอร์เต โดยเฉพาะประเด็นสงครามยาเสพติดซึ่งคร่าชีวิตชาวฟิลิปปินส์ไปแล้วหลายพันคน
เรสซา ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และยังมีสิทธิ์ที่จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา
“เราจะลุกขึ้นสู้กับการโจมตีเสรีภาพสื่อทุกรูปแบบ” เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังทราบคำพิพากษาของศาลกรุงมะนิลาวันนี้ (15)
สำหรับข้อหาหมิ่นประมาทนี้มีที่มาจากการที่ Rappler ตีพิมพ์บทความในปี 2012 ที่ระบุว่า วิลเฟรโด เก็ง (Wilfredo Keng) นักธุรกิจรายหนึ่ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมาย โดยอ้างว่าได้ข้อมูลนี้มาจากรายงานข่าวกรองของหน่วยงานที่ไม่ระบุชื่อ
เก็ง ระบุในคำร้องว่า บทความของ Rappler มีเจตนาให้ร้ายตนว่าก่ออาชญากรรมและทำความผิดต่างๆ
เรสซา ไม่ได้เป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว และคณะผู้สืบสวนของรัฐบาลก็เคยปฏิเสธคำร้องของนักธุรกิจรายนี้ไปแล้ว แต่ต่อมาอัยการได้ยื่นฟ้อง เรสซา และ เรย์นัลโด ซานโตส อดีตนักข่าว Rappler ที่เป็นคนเขียนบทความ โดยอ้างว่ามีการละเมิดกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ที่มุ่งเอาผิดกับการข่มขู่ทางออนไลน์หรือการเผยแพร่สื่อลามกเยาวชน
“เรื่องราวของดิฉันเป็นข้อเตือนใจว่า เงียบซะ...ไม่งั้นคุณจะเป็นรายต่อไป นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ดิฉันถูกตามเล่นงาน” เรสซา ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Rappler และอดีตผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเอเอฟพีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
รัฐบาล ดูเตอร์เต ยืนยันว่าคดีนี้ไม่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และทางการมีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย แม้ผู้กระทำผิดจะเป็นสื่อมวลชนก็ตาม ขณะที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชี้ว่า คดีหมิ่นประมาท, คดีเลี่ยงภาษี ตลอดจนการที่ Rappler ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ เห็นได้ชัดว่าเป็นแผนของภาครัฐที่ต้องการคุกคามสื่อรายนี้
องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) ระบุว่า การโจมตี Rappler เป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลที่จะทำลายเสรีภาพสื่อในฟิลิปปินส์
คำตัดสินคดีหมิ่นประมาทของ เรสซา มีขึ้นเพียง 1 เดือน หลังจากที่ผู้คุมกฎของรัฐบาลฟิลิปปินส์สั่งปิดสถานีโทรทัศน์ ABS-CBN ซึ่งเป็นสื่อทีวีหลักของประเทศ โดยประธานาธิบดี ดูเตอร์เต นั้นขู่มานานหลายปีแล้วว่าจะปิดสื่อแห่งนี้
ทั้ง Rappler และ ABS-CBN ต่างก็เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามยาเสพติดของ ดูเตอร์เต อย่างเข้มข้น หลังจากแคมเปญนี้ถูกนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกรุมประณาม เนื่องจากเปิดทางให้ตำรวจวิสามัญฯ ผู้ต้องสงสัยค้าหรือเสพยาเสพติดได้โดยไม่ต้องมีการไต่สวน
ดูเตอร์เต เคยกล่าวหา Rappler เมื่อปี 2018 ว่าเป็น “สื่อเฟคนิวส์” และสั่งห้ามไม่ให้ เรสซา หรือผู้สื่อข่าวสำนักนี้เข้าไปทำข่าวตามงานอีเวนต์ต่างๆ ของเขา