รอยเตอร์ - รัฐบาลอินเดียไม่อนุมัติวีซ่าให้แก่คณะกรรมาธิการของสหรัฐฯ ซึ่งขอเดินทางเข้ามาตรวจสอบระดับเสรีภาพทางศาสนาในแดนภารตะ โดยระบุว่า หน่วยงานต่างชาติไม่มีสิทธิ์มาประเมินสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพลเมืองอินเดีย
ตั้งแต่เข้าบริหารประเทศในปี 2014 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี จากพรรคชาตินิยมฮินดูภารติยะชนตะ (BJP) ก็โดนวิจารณ์เรื่อยมาว่าสนับสนุนการกดขี่ชาวมุสลิมกลุ่มน้อย
คณะกรรมาธิการว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนานานาชาติของสหรัฐฯ (US Commission on International Religious Freedom - USCIRF) ได้เสนอรายงานเมื่อเดือน เม.ย. ให้วอชิงตันมีบทลงโทษ เช่น งดออกวีซ่าให้แก่เจ้าหน้าที่ในรัฐบาล โมดี หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ที่มีเจตนากีดกันชาวมุสลิม
คณะกรรมาธิการยังเสนอให้มีการเพิ่มชื่ออินเดียลงในบัญชีประเทศที่น่ากังวลในเรื่องเสรีภาพทางศาสนา เช่นเดียวกับ จีน, อิหร่าน, รัสเซีย และ ซีเรีย
สุพราหมันยัม ไจชังการ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ระบุว่า รัฐบาลจะไม่อนุญาตให้คณะกรรมาธิการสหรัฐฯ เข้ามาสำรวจข้อมูลในประเทศ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ไม่มีความรู้เรื่องสิทธิพลเมืองอินเดีย และยังใช้มุมมองที่เต็มไปด้วยความ “ลำเอียงและอคติ”
“เรายังไม่อนุมัติวีซ่าให้แก่ทีมงาน USCIRF ซึ่งต้องการเดินทางมาอินเดียเพื่อตรวจสอบประเด็นเสรีภาพทางศาสนาด้วย” ไจชังการ์ ระบุในจดหมายลงวันที่ 1 มิ.ย. ที่ส่งถึง ส.ส.คนหนึ่งในรัฐบาลโมดี พร้อมย้ำว่า องค์กรต่างชาติไม่มีสิทธิ์ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญอินเดีย
สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงนิวเดลี ปฏิเสธที่จะตอบคำถามทุกอย่างในประเด็นนี้ และขอให้สื่อมวลชนไปสอบถามข้อมูลจาก USCIRF เอง
USCIRF เป็นคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบระดับเสรีภาพทางศาสนาในต่างแดน และมอบคำแนะนำเชิงนโยบายต่อประธานาธิบดี, รัฐมนตรีต่างประเทศ รวมถึงสภาคองเกรส ทว่า คำแนะนำเหล่านี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
รัฐบาล โมดี ประกาศกร้าวว่าจะไม่ยอมให้ต่างชาติเข้าแทรกแซง หรือตัดสินเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของอินเดีย