เอเอฟพี – รัฐบาลกาตาร์ปฏิเสธข่าวลือเตรียมถอนตัวออกจากกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council – GCC) หลังถูกซาอุดีอาระเบียและชาติพันธมิตรรุมปิดล้อมมานานเกือบ 3 ปี แต่ก็ยอมรับว่าความพยายามของ 3 รัฐเพื่อนบ้านที่จะโดดเดี่ยวโดฮาทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองทำให้ประชาชนในภูมิภาคเกิดคำถามถึงความเป็นเอกภาพของกลุ่มความร่วมมือนี้
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้เกิดข่าวลือแพร่ระพัดว่ากาตาร์อาจจะขอถอนตัวออกจากกลุ่ม 6 ชาติ GCC ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1981 และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ริยาด ขณะที่นักวิเคราะห์และนักการทูตหลายคนก็เชื่อว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้
“กระแสข่าวที่ว่ากาตาร์กำลังพิจารณาถอนตัวออกจาก GCC ไม่เป็นความจริง และไม่มีมูลเลยแม้แต่น้อยนิด” โลลวาห์ อัล-คาเตอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ ยืนยันกับเอเอฟพี
“ข่าวลือลักษณะนี้น่าจะเกิดจากการที่ผู้คนรู้สึกรู้สึกท้อแท้และผิดหวังต่อความแตกแยกภายใน GCC ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นความหวังและแรงบันดาลใจให้แก่ประชาชนของทั้ง 6 ประเทศ” เธอกล่าว “เราถูกซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรนปิดล้อมมาเกือบ 3 ปี จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพลเมือง GCC จึงสงสัยและตั้งคำถามกับองค์กรแห่งนี้”
“กาตาร์หวังว่า GCC จะกลับมาเป็นแพลตฟอร์มแห่งความร่วมมือและการประสานงานได้อีกครั้ง เพราะในยามที่ภูมิภาคของเรากำลังเผชิญความท้าทายต่างๆ นานา ศักยภาพของ GCC จึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าครั้งไหน”
ซาอุฯ, ยูเออี และบาห์เรน รวมถึงอียิปต์ซึ่งอยู่นอกกลุ่ม GCC ได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจกับกาตาร์อย่างกะทันหันในเดือน มิ.ย. ปี 2017 โดยกล่าวหาโดฮาว่าผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่านมากเกินไป และให้การสนับสนุนขบวนการอิสลามิสต์หัวรุนแรง
กาตาร์ยืนกรานปฏิเสธข้อครหาเหล่านี้ และไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้อง 13 ข้อจากรัฐเพื่อนบ้านทั้งสาม ซึ่งรวมถึงการสั่งปิดสำนักข่าวอัลญาซีเราะห์และปิดฐานทัพแห่งหนึ่งของตุรกี
มาตรการปิดล้อมกาตาร์โดยกลุ่มพันธมิตรซาอุฯ จะมีอายุครบ 3 ปีเต็มในวันที่ 5 มิ.ย. นี้
แอนเดรียส ครีก ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคิงส์คอลเลจ ให้ความเห็นว่า “พลเมืองกาตาร์คงต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นสมาชิก GCC ในเมื่อซาอุฯ และยูเออีสามารถยึดอำนาจและล็อบบี้ประเทศเล็กๆ ให้ทำตามความต้องการได้ แต่กลับไม่มีความพยายามที่จะยุติวิกฤตการณ์ในอ่าวอาหรับ”
สมาชิกกลุ่ม GCC ที่เหลืออีก 2 ประเทศ ได้แก่ โอมาน และคูเวต