รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่บังกลาเทศ เผย พบชาวโรฮิงญาติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศ ขณะที่องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเตือนหายนะร้ายแรง หากเชื้อแพร่ระบาดในค่าย ซึ่งมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่รวมกันกว่า 1 ล้านคน
เจ้าหน้าที่อาวุโสของบังกลาเทศและโฆษกหญิงของสหประชาชาติยืนยันวานนี้ (14 พ.ค.) ว่า ผู้ลี้ภัยโรฮิงญา 1 คน และบุคคลอื่นอีก 1 คน มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก ซึ่งถือเป็นผู้ป่วยยืนยันกลุ่มแรกในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีชาวโรฮิงญาใช้ชีวิตอยู่รวมกันอย่างแออัด
“วันนี้พวกเขาทั้ง 2 คน ถูกพาไปยังศูนย์กักตัว หลังจากที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ” มะห์บูบ อะลัม ทาลุกเดอร์ กรรมาธิการฝ่ายบรรเทาทุกข์และจัดหาที่อยู่ใหม่ให้แก่ผู้ลี้ภัย บอกกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์
สำหรับผู้ป่วยรายที่สองนั้นเป็น “ประชากรของเจ้าบ้าน” ซึ่งหมายถึงพลเมืองท้องถิ่นที่อาศัยอยู่นอกแคมป์ผู้ลี้ภัย
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในบังกลาเทศ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศแล้ว 18,863 ราย เสียชีวิต 283 ราย
อาสาสมัครบรรเทาทุกข์ต่างหวั่นวิตกว่าจะเกิด ‘หายนะด้านมนุษยธรรม’ ครั้งใหญ่ หากไวรัสแพร่ระบาดในค่ายผู้ลี้ภัยที่อยู่นอกเมืองค็อกซ์บาซาร์
ดร.ชามีม จาฮาน ผู้อำนวยการองค์กรช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ประจำบังกลาเทศ แถลงว่า การระบาดของโควิด-19 ในบังกลาเทศนั้นรุนแรงจนระบบสาธารณสุขแทบจะรับไม่ไหวอยู่แล้ว
“บังกลาเทศมีเครื่องช่วยหายใจอยู่ประมาณ 2,000 เครื่อง ซึ่งต้องให้บริการแก่ประชากร 160 ล้านคน ส่วนที่ค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาซึ่งมีคนอยู่ราวๆ 1 ล้านคนยังไม่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยขั้นวิกฤตเลย” จาฮาน ระบุ
“ไวรัสได้แพร่เข้าไปถึงค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ค็อกซ์บาซาร์แล้ว และมีความเป็นไปได้ที่โควิด-19 จะคร่าชีวิตคนอีกเป็นหมื่นๆ โรคระบาดครั้งนี้อาจทำให้บังกลาเทศก้าวถอยหลังไปหลายสิบปี”
แซม บราวน์แบ็ค ทูตฝ่ายกิจการเสรีภาพทางศาสนานานาชาติของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวที่วอชิงตัน ว่า “ผมได้ไปดูที่ค่ายผู้ลี้ภัยมาแล้ว มันช่างแออัดยัดเยียดอย่างไม่น่าเชื่อ และโควิด-19 จะต้องแพร่กระจายอย่างรวดเร็วแน่นอน พวกเขาจำเป็นต้องเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เพียงพอ”
มานิช อกราวาล ผู้อำนวยการฝ่ายบังกลาเทศประจำคณะกรรมการช่วยเหลือและกู้ภัยนานาชาติ (International Rescue Committee) ยอมรับว่า ค่ายผู้ลี้ภัยขาดแคลนทั้งพื้นที่และเจ้าหน้าที่ดูแล ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่มีน้ำสะอาด สบู่ หรือพื้นที่เพียงพอสำหรับรักษาสุขอนามัยของตนเอง
“ที่นี่มีคนประมาณ 40,000-70,000 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 1.6 เท่าของความหนาแน่นประชากรบนเรือไดมอนด์ปรินเซสที่พบว่าไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดเร็วกว่าในเมืองอู่ฮั่นถึง 4 เท่าตัว”
ปฏิบัติการกวาดล้างของกองทัพพม่าที่รัฐยะไข่ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญากว่า 730,000 คนหนีตายข้ามไปยังฝั่งบังกลาเทศในช่วงปลายปี 2017