เอเอฟพี – สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงไซเบอร์เชื่อว่าแฮกเกอร์จีนกำลังพยายามขโมยข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สื่อมะกันรายงานวานนี้ (11 พ.ค.)
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิลและนิวยอร์กไทม์สรายงานว่า เอฟบีไอและกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ มีแผนออกหนังสือเตือนเกี่ยวกับปฏิบัติการของแฮกเกอร์จีน ในขณะที่รัฐบาลและบริษัทเอกชนทั่วโลกกำลังเร่งคิดค้นวัคซีนที่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้
ทั้งนี้ เชื่อว่าแฮกเกอร์จีนกำลังพุ่งเป้าไปที่ข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับวิธีรักษาและการตรวจหาเชื้อโควิด-19
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อ้างว่าจารชนไซเบอร์กลุ่มนี้มีส่วนเชื่อมโยงถึงรัฐบาลจีน และคาดว่าจะมีคำเตือนออกมาอย่างเป็นทางการภายในอีกไม่กี่วัน
จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน รีบออกมาปฏิเสธข้อครหาดังกล่าว โดยยืนยันว่ารัฐบาลปักกิ่งต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์ทุกรูปแบบ
“เราก็เป็นผู้นำโลกในด้านการรักษาและคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 การสร้างข่าวลือมาโจมตีและให้ร้ายจีนโดยปราศจากหลักฐานจึงเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม” จ้าว ระบุ
เมื่อถูกถามถึงรายงานในสื่อชั้นนำทั้ง 2 ฉบับ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ยังปฏิเสธที่จะยืนยัน แต่บอกว่า “มีเรื่องอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับจีนอีกล่ะ? มีอะไรใหม่เหรอ? บอกผมมาสิ ผมไม่แฮปปี้กับจีนเลย”
“เรากำลังตามดูพวกเขาอย่างใกล้ชิด” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเสริม
ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานว่า แฮกเกอร์ซึ่งมีรัฐบาลหนุนหลังในอิหร่าน, เกาหลีเหนือ, รัสเซีย และจีน ทำกิจกรรมมุ่งร้ายที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดใหญ่ (pandemic) ตั้งแต่การเผยแพร่เฟคนิวส์เรื่องไปจนถึงการเล่นงานนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์
นิวยอร์กไทม์สชี้ว่า คำเตือนที่ออกมาอาจนำไปสู่ปฏิบัติการโจมตีตอบโต้โดยหน่วยงานของสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบด้านสงครามไซเบอร์ เช่น กองบัญชาการไซเบอร์ (USCYBERCOM) ในสังกัดกระทรวงกลาโหม และสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) เป็นต้น
สัปดาห์ที่แล้ว อังกฤษและสหรัฐฯ ได้ออกคำแถลงร่วมเพื่อเตือนว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองวิกฤตไวรัสโรนากำลังตกเป็นเหยื่อการโจมตีทางไซเบอร์โดย “กลุ่มอาชญากรที่มักเชื่อมโยงกับผู้กระทำที่เป็นรัฐ”
ศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติอังกฤษ และสำนักงานความมั่นคงทางไซเบอร์และความปลอดภัยด้านโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ ระบุว่า พวกเขาตรวจพบความพยายามของแฮกเกอร์ที่จะใช้เทคนิค ‘password spraying’ หรือการใช้รหัสผ่านทีละตัวในการไล่โจมตีแต่ละบัญชีผู้ใช้งาน โดยพุ่งเป้าไปที่หน่วยงานสาธารณสุขและสถาบันวิจัยทางการแพทย์ต่างๆ