xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ทั่วโลกลงขัน $8,000 ล้าน พัฒนา ‘วัคซีน’ ต้านโควิด-19 ด้าน ‘ทรัมป์’ โวสหรัฐฯ จะมีใช้เองภายในสิ้นปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้นำทั่วโลกร่วมลงขันเป็นเงินกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนต่อต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่สหรัฐอเมริกาเมินหน้าหนี โดยอ้างว่าทุกวันนี้ก็เป็นผู้นำในการรับมือโรคระบาดอยู่แล้ว มิหนำซ้ำประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคุยโวอเมริกาจะมีวัคซีนใช้เองภายในสิ้นปีนี้ สวนทางกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ว่าอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี-ปีครึ่ง

จากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เมื่อเช้าวันที่ 7 พ.ค. ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมสูงกว่า 3.75 ล้านคน เสียชีวิตแล้วกว่า 263,000 คน โดยสหรัฐฯ ยังคงนำโด่งแซงหน้าทุกประเทศด้วยจำนวนผู้ป่วยสะสม 1.22 ล้านคน ตามมาด้วย สเปน (220,325) อิตาลี (214,457) และ สหราชอาณาจักร (202,359) ส่วนประเทศที่มีผู้ติดเชื้อพุ่งเกินกว่า 1 แสนคน เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, รัสเซีย ตุรกี, บราซิล และ อิหร่าน

อังกฤษมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30,000 คน ขยับแซงหน้าอิตาลีขึ้นที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และในวันที่ 6 พ.ค. ยังพบผู้ติดเชื้อรายวันสูงถึง 6,111 คน ทำสถิติเป็นวันที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดเป็นลำดับ 3 นับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศ แต่ถึงกระนั้นนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ยังยืนกรานว่าจะแถลงรายละเอียดของแผนผ่อนปรนล็อกดาวน์ในวันที่ 10 พ.ค.

สัปดาห์นี้ ผู้นำประเทศและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้ประกาศร่วมสมทบทุนราว 8,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการวิจัย, ผลิต และแจกจ่ายวัคซีนหรือตัวยาที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยผู้บริจาครายใหญ่ๆ ได้แก่ บรรดาชาติมหาอำนาจยุโรป, ญี่ปุ่น, แคนาดา, มูลนิธิ บิลล์ และ เมลินดา เกตส์ รวมถึงราชินีเพลงป๊อปอเมริกันอย่าง ‘มาดอนนา’ ที่ร่วมบริจาคเงินถึง 1 ล้านยูโร เพื่อการนี้

สหรัฐฯ ชี้แจงเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมแคมเปญดังกล่าว ว่า อเมริกาเป็นผู้นำในการรับมือโควิด-19 อยู่แล้ว โดยใช้เงินไปกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ และกำลังร่วมมือกับบริษัทยาภายในประเทศเพื่อพัฒนาวัคซีน

ประธานาธิบดี ทรัมป์ ระบุเมื่อเดือนที่แล้วว่า สหรัฐฯ จะเลิกจ่ายเงินอุดหนุนองค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องจากไม่พอใจวิธีตอบสนองโรคระบาดของหน่วยงานยูเอ็นแห่งนี้

ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งมีการทดลองนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19
นายกรัฐมนตรี เออร์นา โซลเบิร์ก แห่งนอร์เวย์ ซึ่งรับปากจะบริจาค 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 และโรคระบาดอื่นๆ แสดงความผิดหวังต่อท่าทีของสหรัฐฯ โดยระบุว่า “เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สหรัฐฯ ไม่ยอมมีส่วนร่วม เมื่อคุณเผชิญวิกฤต คุณควรแก้ไขมันด้วยความร่วมมือกับผู้อื่น”

ผู้นำหลายชาติเรียกร้องให้แจกจ่ายวัคซีนไปยังทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา ย้ำว่า วัคซีนจะต้องไม่ตกเป็นของ “ชาติร่ำรวย” เท่านั้น

เจ้าหน้าที่อียูระบุว่า บริษัทยาทั้งหลายที่ได้รับเงินทุนไม่จำเป็นต้องสละสิทธิ์ถือครองทรัพย์สินทางปัญญาในวัคซีนและตัวยารักษา แต่จะต้องทำให้ยาและวัคซีนมีใช้แพร่หลายทั่วโลกในราคาที่จับต้องได้

สำหรับวงเงิน 8,000 ล้านดอลลาร์นั้น คาดว่า จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ โดย 3,000 ล้านดอลลาร์ จะนำไปใช้เพื่อพัฒนา, ผลิต และแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19, 2,500 ล้านดอลลาร์ใช้พัฒนาตัวยารักษาโควิด-19, 750 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปผลิตชุดตรวจไวรัส และอีก 750 ล้านดอลลาร์ ใช้เพื่อสำรองอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น เช่น หน้ากาก เป็นต้น ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 1,250 ล้านดอลลาร์ จะมอบให้ WHO นำไปช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่เปราะบางที่สุด

ด้านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกมาเปิดใจยอมรับในวันพุธ (6) ว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออเมริการุนแรงกว่าเหตุโจมตี ‘เพิร์ลฮาร์เบอร์’ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือแม้แต่เหตุวินาศกรรม 9/11 เสียอีก

“เรากำลังเผชิญการโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศของเรา มันเป็นการโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดที่เราเคยเผชิญจริงๆ” ทรัมป์ บอกกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว “มันเลวร้ายยิ่งกว่าเพิร์ลฮาร์เบอร์ มันเลวร้ายกว่าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์”

ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังล้มเลิกแผนที่จะยุบทีมเฉพาะกิจไวรัสโคโรนาของทำเนียบขาว โดยระบุว่า ที่ผ่านมา คณะทำงานชุดนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และ “จะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่มีกำหนด” โดยเบนเป้าหมายไปสู่การรีสตาร์ทเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของ Honeywell ที่รัฐแอริโซนา เมื่อวันที่ 5 พ.ค. โดยที่ตัวผู้นำสหรัฐฯ เองไม่ได้สวมหน้ากากแต่อย่างใด
ทรัมป์ ยอมรับกับฟ็อกซ์นิวส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า โควิด-19 อาจคร่าชีวิตชาวอเมริกันมากถึง 100,000 คน จากเดิมที่เคยประเมินว่ายอดตายน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 60,000-70,000 คนเท่านั้น ขณะเดียวกัน ก็แสดงความมั่นอกมั่นใจว่า สหรัฐฯ จะมีวัคซีนในราวๆ สิ้นปีนี้

“พวกหมอคงจะเตือนผมว่าไม่ควรพูดแบบนี้ แต่ผมก็จะพูดในสิ่งที่ผมคิด” ทรัมป์ กล่าว พร้อมยืนยันว่า ไม่ถือสาหากประเทศอื่นจะสามารถคิดค้นวิธีรักษาโควิด-19 ได้ก่อนนักวิจัยอเมริกัน

ขณะเดียวกัน กิลเลียด ไซเอนเซส (Gilead Sciences) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาชั้นนำของสหรัฐฯ ก็ออกมารายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาตัวยารักษาโควิด-19 โดยพบว่า ยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ให้ผลในการรักษาผู้ป่วยเป็นที่น่าพอใจ และล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พ.ค. บริษัทยืนยันว่ากำลังหารือกับผู้ผลิตยาและเคมีภัณฑ์ในต่างประเทศ เพื่อเดินหน้าผลิตตัวยารักษาโควิด-19 “ขั้นทดลอง” สำหรับใช้ในประเทศแถบยุโรป, เอเชีย และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไปจนถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อย

ในขณะที่หลายประเทศยังมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้น ความสนใจในยาเรมเดซิเวียร์ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือตัวยาที่ผ่านการพิสูจน์รับรองว่าให้ผลในการรักษาโควิด-19

สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งกำกับดูแลการทดสอบประสิทธิภาพของยาตัวนี้ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยาเรมเดซิเวียร์ของ กิลเลียด ไซเอนเซส ใช้เวลาฟื้นตัวจากอาการป่วยเฉลี่ย 11 วัน เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 15 วัน สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก นั่นเท่ากับว่ายาตัวนี้สามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคเร็วขึ้นกว่า 31%

สัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุญาตให้ใช้ยาเรมเดซิเวียร์รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่อาการเพียบหนักจากไวรัสโคโรนา

ร้านชาบูในกรุงเทพมหานครนำแผ่นพลาสติกมากั้นระหว่างลูกค้าแต่ละคน หนึ่งในมาตรการลดความเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19
กิลเลียด เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (5) ว่า กำลังเจรจากับผู้ผลิตยาหลายรายในอินเดียและปากีสถานเพื่อผลิตยาเรมเดซิเวียร์ไว้ใช้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ผู้บริหาร เบซิมโก ฟาร์มาชูติคอลส์ (Beximco Pharmaceuticals) ผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่าบริษัทจะเริ่มต้นผลิตยาเรมเดซิเวียร์ในเดือนนี้

ด้านบริษัท ไฟเซอร์ อิงค์ ผู้ผลิตยาชั้นนำของสหรัฐฯ และไบโอเอ็นเทค เอสอี ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจากเยอรมนี ระบุเมื่อวันอังคาร (5) ว่าได้เริ่มจัดส่งวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่ทั้ง 2 บริษัทร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการทดลองในมนุษย์ที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่งหากวัคซีนให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยก็คาดว่าจะสามารถผลิตเพื่อใช้อย่างแพร่หลายในสหรัฐฯ ได้ภายในสิ้นปีนี้

ในส่วนของประเทศไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมากล่าวเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ถึงความคืบหน้าในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ขณะนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พัฒนาวัคซีนชนิด DNA เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ได้ทดลองฉีดวัคซีนในหนูทดลองแล้ว และจากการตรวจสอบเลือดของหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนต้นแบบพบว่ามีแอนติบอดีขึ้นค่อนข้างดี ให้ผลน่าพอใจ แต่จะป้องกันเชื้อโควิดได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป

นักวิจัยได้ออกมาเผยในสัปดาห์นี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถ “ปรับตัว” ให้เข้ากับกลุ่มประชากรที่เป็นเป้าหมายของมัน โดยจากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัสจากผู้ป่วยโควิดกว่า 7,500 คน พบว่า มีเกือบ 200 กรณีที่เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เกิดการกลายพันธุ์

“ไวรัสทุกชนิดมีการกลายพันธุ์อยู่แล้วตามธรรมชาติ” ฟรองซัวส์ บัลลู จาก University College London ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ “การกลายพันธุ์ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายในตัวมันเอง และยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่า SARS-CoV-2 กลายพันธุ์เร็วหรือช้ากว่าที่ควรจะเป็น จนถึงตอนนี้เราจึงยังบอกไม่ได้ว่า SARS-CoV-2 มีความรุนแรงหรือแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นหรือไม่”

คณะนักวิจัยจีนรายงานเมื่อวันพุธ (6) ว่า จากการทดลองฉีดวีคซีนต้นแบบให้แก่ลิงแสม (macaque) พบว่า ช่วยสร้างแอนติบอดีที่สามารถต่อต้านไวรัส SARS-CoV-2 ได้หลายกลุ่ม โดยทีมวิจัยมีแผนที่จะเริ่มนำตัวอย่างวัคซีน ‘PiCoVacc’ ไปทดลองในมนุษย์ภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน ยังมีผลวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Journal of the American College of Cardiology เมื่อวันพุธ (6) ซึ่งพบว่า ยาเจือจางเลือด (blood thinners) ช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล โดยนักวิจัยสหรัฐฯ ได้ทำการศึกษาข้อมูลคนไข้ในนิวยอร์ก 2,773 ราย ซึ่งประมาณ 1 ใน 4 ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดในปริมาณสูง ปรากฏว่าคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น และเห็นผลชัดเจนเป็นพิเศษในกลุ่มผู้ป่วย 395 รายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยอัตราการเสียชีวิตจะสูงถึง 63% หากไม่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด และลดลงเหลือเพียง 29% ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยา
กำลังโหลดความคิดเห็น