xs
xsm
sm
md
lg

รองประธานซัมซุง ‘ขออภัย’ กรณีจ่ายสินบนฉาว-ยันไม่ให้สิทธิ์ ‘ลูก’ รับช่วงกิจการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ลี แจยอง หรือ เจย์ วาย. ลี รองประธานกลุ่มบริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เปิดแถลงข่าวที่สำนักงานของซัมซุงทางตอนใต้ของกรุงโซล วันนี้ (6 พ.ค.)
เอเจนซีส์ - ลี แจยอง รองประธานกลุ่มบริษัท ซัมซุง ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีสินบนอื้อฉาว ออกมากล่าวขออภัยต่อสังคมวันนี้ (6 พ.ค.) พร้อมประกาศจะไม่มอบอำนาจบริหารกิจการแชโบลยักษ์ใหญ่แก่ลูกๆ ของตนเอง

ระหว่างการแถลงข่าวครั้งแรกในรอบ 5 ปี รองประธานซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ วัย 51 ปี ได้แสดงความเสียใจที่กลุ่มบริษัท ซัมซุง ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ

ลี ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีจ่ายสินบน ซึ่งพัวพันถึงอดีตประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย ที่ถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อปี 2017 โดยอัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวของ ลี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลเกาหลีใต้ในขณะนั้น ยอมอนุมัติแผนควบรวมบริษัท ซัมซุง ซีแอนด์ที คอร์ป และ เชอิล อินดัสตรีส์ ในปี 2015 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้การถ่ายโอนอำนาจบริหารสู่มือ ลี เป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากที่เขาเข้ามาทำหน้าที่ดูแลอาณาจักรธุรกิจแทนบิดาซึ่งล้มป่วยด้วยโรคหัวใจมาตั้งแต่ปี 2014

“ซัมซุงไม่สามารถปฏิบัติตามที่สังคมคาดหวัง เราสร้างความผิดหวังและความกังวลมาแล้วหลายครั้ง” ลี แถลงที่สำนักงานซัมซุงทางตอนใต้ของกรุงโซล พร้อมทั้งขออภัยกรณีที่ผู้บริหารซัมซุงบางคนมีพฤติกรรมบ่อนทำลายสหภาพแรงงาน

ผู้บริหารซัมซุงทั้งอดีตและปัจจุบันหลายคนถูกสอบสวน หรือถูกตัดสินว่ามีความผิดในหลายคดี ตัวอย่างเช่น ลี ซังฮุน อดีตประธานบอร์ดบริหารซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกศาลสั่งจำคุกเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วในความผิดฐานบ่อนทำลายกิจกรรมของสหภาพแรงงาน

ลี แจยอง ซึ่งเป็นบุตรชายของประธาน ลี คุนฮี และเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล ยืนยันว่า เขาจะไม่มอบอำนาจบริหารให้แก่บุตร-ธิดา

“ผมคิดว่าจะไม่มอบสิทธิ์ในการบริหารกิจการให้แก่ลูกๆ ผมคิดเรื่องนี้มาสักพักหนึ่งแล้ว และลังเลว่าควรจะเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือไม่” ลี กล่าว

ลี ซึ่งเป็นบอสใหญ่ของซัมซุงโดยพฤตินัย ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 5 ปี เมื่อปี 2017 ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในปีถัดมา เนื่องจากศาลอุทธรณ์สั่งยกฟ้องเกือบทุกข้อหาในคดีจ่ายสินบน ส่วนโทษจำคุกในความผิดอื่นๆ ก็ให้รอลงอาญา

นักวิจารณ์บางคนมองว่า คำขอโทษของ ลี ในวันนี้ (6) เป็นเพียงกลยุทธ์ของซัมซุงที่จะโน้มน้าวศาลให้ยืนคำพิพากษารอลงอาญา หลังจากที่ศาลสูงสุดเกาหลีใต้สั่งทบทวนคำพิพากษาดังกล่าวเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้ทายาท “แชโบล” ยักษ์ใหญ่รายนี้ต้องรับโทษหนักขึ้น หรือถูกส่งตัวกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น