xs
xsm
sm
md
lg

‘เอกวาดอร์’ ระบุยอดตายด้วย ‘โควิด’ 400 กว่าคน แต่ข้อมูลอื่นบ่งชี้ว่าจริงๆ แล้วอาจเป็นหมื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชายผู้หนึ่งในเมืองกัวยากิล เพิ่งไปรับศพญาติที่เสียชีวิตจากโควิด-19 จากสถานเก็บศพ
บีบีซีนิวส์ - ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาอย่างเป็นทางการของเอกวาดอร์ อยู่ที่ 403 ราย แต่ตัวเลขใหม่ๆ ซึ่งออกมาจากเพียงแค่จังหวัดเดียวของประเทศละตินอเมริกาแห่งนี้ กลับส่อแสดงว่ามีคนตายไปเป็นหลักพันหลักหมื่นแล้ว

รัฐบาลแถลงว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายนนี้ ในจังหวัดกัวยัส (Guayas) มีผู้สิ้นชีวิตไป 6,700 คน สูงขึ้นลิบลิ่วจากที่ปกติแล้วในระยะเวลาดังกล่าวท้องที่นั้นมีคนตายราวๆ 1,000 คนเท่านั้น

กัวยัส เป็นที่ตั้งของเมืองกัวยากิล (Guayaquil) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ และก็เป็นพื้นที่ซึ่งโรคติดต่อจากไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักหน่วงที่สุดในเอกวาดอร์

คลิปวิดีโอที่ บีบีซี ได้รับมา แสดงให้เห็นว่า พวกชาวเมืองถูกบังคับให้ต้องเก็บศพผู้เสียชีวิตเอาไว้ในบ้านของพวกเขาเอง บางกรณีนานถึง 5 วัน

ชาวบ้านชาวเมืองเหล่านี้เล่าว่า พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหมดความสามารถที่จะรับมือกับจำนวนผู้เสียชีวิตซึ่งทะยานพรวดขึ้นมา และกำลังปล่อยให้ศพผู้เสียชีวิตที่ถูกมัดเอาไว้ด้วยผ้าผืนใหญ่ วางอยู่ในบ้านของครอบครัวคนตาย หรือกระทั่งตามท้องถนน



ช่างเฟอร์นิเจอร์และภรรยาในกัวยากิล เวลานี้หันมาทำโบงศพซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการกันอย่างเร่งด่วน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเริ่มแจกจ่ายโลงศพที่ทำจากกระดาษแข็งจำนวนเป็นพันๆ โลงในเมืองกัวยากิล รวมทั้งจัดตั้งสายโทรศัพท์ให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตติดต่อขอให้นำศพออกไปจากบ้านของพวกเขา

ฮอร์เก วาเตด หัวหน้าของหน่วยตำรวจซึ่งจัดตั้งขี้นมาเพื่อรับมือกับปัญหานี้ กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า ได้เคลื่อนย้ายศพจำนวน 771 ศพ ออกจากบ้านหลังต่างๆ ในเมืองกัวยากิล

ตามตัวเลขของรัฐบาล ตั้งแต่ย่างเข้าเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ในจังหวัดกัวยัส มีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุทุกอย่างจำนวนรวม 14,561 ราย ทว่าปกติแล้วจังหวัดนี้มีคนตายโดยเฉลี่ยเดือนละ 2,000 รายเท่านั้น

เอกวาดอร์ทั่วทั้งประเทศ นับจนถึงตอนนี้มีเคสติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ยืนยันแล้ว 8,225 ราย ทั้งนี้ ตามการรวบรวมของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ แต่เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจทดสอบกันอย่างกว้างขวาง ทำให้มองกันว่าตัวเลขนี้คงต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

ทางด้านรองประธานาธิบดี ออตโต ซอนเนนโฮลเซอร์ ของเอกวาดอร์ ได้ออกมาขอโทษประเทศชาติในช่วงก่อนหน้านี้ สำหรับการที่รัฐบาลเชื่องช้าในการตอบโต้รับมือโรคระบาด

“เราได้พบเห็นภาพซึ่งไม่ควรที่จะเกิดขึ้นมาเลย และในฐานะเป็นบริกรสาธารณะของพวกท่าน ผมต้องขออภัย” ซอนเนนโฮลเซอร์ กล่าว

เมืองกัวยากิลมีประชาชนอยู่กันหนาแน่นและมีระดับความยากจนสูง ดังนั้น ชาวบ้านชาวเมืองจำนวนมากจึงอยู่อาศัยกันแบบใกล้ชิดติดกัน




ทางด้าน แคที วัตสัน ผู้สื่อข่าวประจำอเมริกาใต้ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทั่วทั้งละตินอเมริกาเวลานี้ พากันเรียกโควิด-19 ว่า เป็นโรคของคนรวย โดยพวกที่นำไวรัสเข้ามายังภูมิภาคแถบนี้ ได้แก่ กลุ่มคนร่ำรวยในสังคมที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

กรณีของเอกวาดอร์ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากนี้ โดยพวกผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การที่ประเทศนี้มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับสเปน และการคมนาคมเชื่องโยงกันระหว่างแดนกระทิงดุกับกัวยากิล เมืองใหญ่ที่สุดของเอกวาดอร์ น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยเคสแรกที่มีบันทึกกันเอาไว้ ก็เป็นหญิงชาวเอกวาดอร์ที่เดินทางกลับมาจากสเปน

แต่การที่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงลิบ ก็ดูจะเป็นผลมาจากระบบดูแลสุขภาพรับมือไม่ไหว บวกกับการที่สังคมมีความไม่เสมอภาคกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหรือที่ปรารถนา จะปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ตลอดจนการหยุดงานอยู่กับบ้าน

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบอ้างว่า ที่จริงพวกเขาประกาศใช้กฎระเบียบอันเข้มงวดกันอย่างรวดเร็วแล้ว แต่ประชาชนเลือกที่จะเพิกเฉยไม่เคารพปฏิบัติตาม อย่างไรก็ดี พวกผู้เชี่ยวชาญแย้งว่าภาครัฐยังสามารถที่จะทำอะไรได้มากกว่านี้ โดยเรื่องหนึ่งซึ่งจะช่วยได้มากก็คือการตรวจทดสอบกันให้กว้างขวาง

ขณะที่เอกวาดอร์ไม่ได้เป็นชาติที่มีการละเมิดมาตรการเข้มงวดกันอย่างเลวร้ายที่สุดของภูมิภาค แต่จากอัตราการตรวจทดสอบที่ต่ำเตี้ย ย่อมหมายความว่า เป็นเรื่องลำบากมากที่จะเข้าใจได้ว่าไวรัสนี้มีการติดต่อแพร่ไปตามชุมชนต่างๆ กันอย่างไรแล้ว โดยที่บางชุมชนมีอัตราการเสียชีวิตสูงลิบอย่างน่าตระหนก
กำลังโหลดความคิดเห็น