(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Patents: China knocks US out of top spot
By AT CONTRIBUTOR
07/04/2020
รายงานประจำปีขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป) ระบุ จีนกลายเป็นชาติที่ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรนานาชาติมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกในปี 2019 แซงหน้าสหรัฐฯ ซึ่งครองตำแหน่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง 40 กว่าปีที่ผ่านมา
ประเทศจีนเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา กลายเป็นผู้นำของโลกในด้านการยื่นขอจดสิทธิบัตรนานาชาติ โค่นบัลลังก์แชมป์เก่าอย่างสหรัฐฯ ซึ่งได้ยึดครองอันดับสูงสุดนี้มาเป็นเวลามากกว่า 40 ปีต่อเนื่องกัน หน่วยงานชำนาญพิเศษของสหประชาชาติออกรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันอังคาร (7 เม.ย.) ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในปีที่แล้วจีนได้ยื่นขอสิทธิบัตรนานาชาติจำนวน 265,800 เรื่อง สูงสุดเป็นสถิติใหม่ และก็เพิ่มขึ้น 5.2% จากที่แดนมังกรได้ยื่นขอในปี 2018 องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organisation ใช้อักษรย่อว่า WIPO) ระบุในรายงานประจำปีของตน
ระบบอันสลับซับซ้อนของไวโป ในเรื่องการจดทะเบียนสิทธิบัตรนานาชาตินั้น มีการแบ่งเป็นหมวดหมู่หลายหลาก
ในหมวดหมู่หลักซึ่งได้แก่ การยื่นขอจดตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (the Patent Cooperation Treaty ใช้อักษรย่อว่า PCT) จีนขึ้นสู่อันดับ 1 เป็นครั้งแรก ด้วยจำนวนการยื่นขอจด 58,990 เรื่อง
จำนวนดังกล่าวแซงหน้าสหรัฐฯ ซึ่งยื่นขอ 57,840 เรื่อง และเป็นประเทศที่เคยครองตำแหน่งสูงสุดในการยื่นขอจดตาม PCT ตลอดมา นับตั้งแต่ระบบนี้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปี 1978
ชาติอื่นๆ ซึ่งติดตามจีนและสหรัฐฯ ในการเป็นผู้ยื่นขอจดสิทธิบัตรระดับท็อป 5 ของโลก ยังได้แก่ ญี่ปุ่น, เยอรมนี และเกาหลีใต้ รายงานประจำปี 2019 ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ระบุ
“การที่จีนเติบโตอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกลายเป็นอันดับ 1 ของการยื่นขอจดสิทธิบัตรนานาชาติโดยผ่าน ไวโป เช่นนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายระยะยาวในเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของนวัตกรรมซึ่งกำลังเคลื่อนไปทางตะวันออก โดยที่ผู้ยื่นขอซึ่งตั้งฐานอยู่ทางเอเชียเวลานี้กำลังมีสัดส่วนคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ยื่นขอตามสนธิสัญญา PCT ทั้งหมด” ฟรานซิส เกอร์รี (Francis Gurry) ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก กล่าวเช่นนี้ในคำแถลงฉบับหนึ่ง
รายงานของไวโปแสดงให้เห็นว่า ผู้ยื่นขอจดสิทธิบัตรซึ่งตั้งฐานอยู่ทางเอเชียมีจำนวนคิดเป็นสัดส่วน 52.4% ของยอดรวมผู้ยื่นทั้งหมด ขณะที่ยุโรปและอเมริกาเหนือแต่ละภูมิภาคมีสัดส่วนไม่ถึง 25%
หัวเว่ยครองซูเปอร์แชมป์ยื่นจดสิทธิบัตร
เมื่อดูจากผู้ยื่นขอจดสิทธิบัตรเป็นรายๆ แล้ว ปรากฏว่า หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่เทเลคอมที่ตั้งฐานในจีน อยู่ในอันดับ 1 ของทั่วโลกในปี 2019 ด้วยจำนวนการยื่นขอจดตาม PCT 4,411 เรื่อง แล้วยังเป็นการครองแชมป์ปีที่ 3 ต่อเนื่องกันอีกด้วย
หัวเว่ยทำเช่นนี้ได้ ทั้งๆ ที่ถูกรณรงค์โจมตีอย่างไม่ยอมเลิกราจากวอชิงตัน ผู้ซึ่งเที่ยวล็อบบี้เหล่าพันธมิตรของตนทั่วโลกให้หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของบริษัทรายนี้ด้วยข้ออ้างในเรื่องความมั่นคง ท่ามกลางเงาทะมึนของความขัดแย้งทางการค้าในขนาดขอบเขตกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีกระหว่างสหรัฐฯกับจีน
สำหรับอันดับ 2 ได้แก่ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริก (Misubishi Electric Corp) ของญี่ปุ่น ซึ่งยื่นขอจด 2,661 เรื่อง จากนั้นตามมาด้วย ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ (Samsung Electronics) ของเกาหลีใต้ 2,334 เรื่อง, และ ควอลคอมม์ อิงค์ (Qualcomm Inc) ของสหรัฐฯ 2,127 เรื่อง
เกอร์รี ผู้ซึ่งมีกำหนดก้าวลงจากตำแหน่งนี้ตอนสิ้นเดือนกันยายน ภายหลังกุมบังเหียน ไวโป มา 12 ปี แถลงว่าย้อนหลังไปในปี 1999 ทางองค์การได้รับคำขอจดสิทธิบัตรจากประเทศจีนเพียง 276 เรื่องเท่านั้น
การยื่นขอจดเกือบๆ 59,000 เรื่องเมื่อปีที่แล้ว เท่ากับ “การเพิ่มขึ้นมาถึง 200 เท่าตัวในระยะเวลาเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น” เขาตั้งข้อสังเกต
ขณะที่ทรัพย์สินทางปัญญากำลังพบว่าตัวมันเองกลายเป็นหัวใจของการแข่งขันกันในระดับโลกมากขึ้นทุกทีๆ แต่เกอร์รีเตือนว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องระลึกกันเอาไว้ว่า นวัตกรรมไม่ใช่เป็นเกมการแข่งขันแบบผู้ชนะคนเดียวกวาดทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด (zero-sum game)”
“การเพิ่มขึ้นสุทธิในนวัตกรรมระดับโลกหมายความถึงว่า ยาเวชภัณฑ์ใหม่ๆ, เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ, โซลูชันใหม่ๆ สำหรับเอาชนะการท้าทายต่างๆ ในระดับโลก เหล่านี้ต่างก็เป็นประโยชน์แก่ทุกๆ คน ไม่ว่าพวกเขาจะพำนักอยู่ที่ไหนก็ตามที” เขากล่าว
“ผมมีความยินดีมากที่พวกบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ ไวโป กำลังให้ความช่วยเหลืออย่างประสบความสำเร็จในการบ่มเพาะนวัตกรรม และแพร่กระจายมันออกไปทั่วโลก” เกอรร์ พูด
ความหวาดกลัวเกี่ยวกับผลกระทบจากโควิด-19
แทบเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่า ผู้ที่จะมารับตำแหน่งแทนที่ เกอร์รี ได้แก่ ดาเรน ตัง (Daren Tang) ผู้อำนวยการใหญ่คนปัจจุบันของสำนักงานสิทธิบัตรแห่งชาติของสิงคโปร์ ผู้ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วเป็นผู้ชนะในการแข่งขันกับผู้สมัครคนอื่นๆ อีก 5 คน ที่เต็มไปด้วยความดุเดือดและมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงกันเป็นครั้งคราว โดยที่ผู้สมัครผู้พ่ายแพ้ไปคนหนึ่ง ได้แก่ หวัง ปินอิง (Wang Binying) ซึ่งเป็นชาวจีนที่เคยรับหน้าที่เป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ของ ไวโป มาเป็นเวลาสิบกว่าปี
ผลการลงคะแนนเมื่อวันที่ 4 มีนาคมของคณะกรรมการประสานงานขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกครั้งนั้น ยังจำเป็นต้องได้รับการยืนยันรับรองในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ระดับเต็มคณะของ ไวโป อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปกติแล้วมักจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม และโดยประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมาก็เป็นเพียงการรับรองในทางรูปแบบเพื่อให้เป็นมติอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่เวลานี้ยังไม่มีความแน่นอนว่าการประชุมสมัชชาใหญ่นี้จะสามารถเดินหน้าไปตามกำหนดเดิมที่วางกันไว้หรือไม่ ขณะที่มีการระบาดใหญ่ของโรคติดต่อจากไวรัสโควิด-19 เช่นนี้
เกอร์รี บอกกับที่ประชุมแถลงข่าวซึ่งจัดแบบเสมือนจริงว่า ไม่มีความแน่นอนว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คราวนี้ จะมีผลกระทบอย่างไรต่อการก้าวเดินต่อไปของการยื่นขอจดสิทธิบัตรนานาชาติ
“เรายังไม่รู้ว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะหยั่งลงลึกและลากยาวกันไปนานสักแค่ไหน แต่มันจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ กันถ้วนหน้าอย่างแน่นอน” เขาเตือน
(เนื้อหาจากรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพี)