xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: จุดจบอเมริกา!? 'โควิด-19' ทำมะกันตายเป็นเบือ!! 'ทรัมป์' เห็นแก่เงินมากกว่า 'ชีวิตคน'

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ยืนอยู่ด้านหน้าแผนภูมิที่แสดงแนวโน้มผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกาจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.
เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยกให้การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ เป็นวิกฤตการณ์ครั้งเลวร้ายที่สุดของมวลมนุษยชาติในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เตือนชาวอเมริกันให้เตรียมพร้อมเผชิญภัยร้ายแรงและการต่อสู้ที่ยากลำบาก เนื่องจากตัวเลขผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มไม่หยุด และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งเป็นแสนๆ คนต่อให้มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social-distancing) ที่เข้มงวดก็ตามที

จากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ สหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 216,515 คนในวันพฤหัสบดี (2 เม.ย.) มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วยอิตาลี 110,574 คน, สเปน 104,118 คน และจีน 82,394 คน

รัฐนิวยอร์กถือเป็นศูนย์กลางของสหรัฐฯ ในการต่อสู้โควิด-19 โดยผู้ว่าการรัฐ แอนดรูว์ คัวโม เผยว่าในรัฐแห่งนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1,900 คน ขณะที่ยอดตายสะสมในสหรัฐฯ พุ่งทะลุ 5,000 คน

ทรัมป์ ระบุว่าช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้าถือเป็นระยะอันตราย และขอให้ชาวอเมริกันร่วมด้วยช่วยกันหยุดเชื้อโควิด-19 ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำ เช่น ห้ามรวมตัวเกินกว่า 10 คน, ทำงานจากที่บ้าน และงดออกไปรับประทานอาหารตามร้านหรือผับบาร์ต่างๆ

“จำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวอเมริกันทุกคนจะต้องทำตามคำแนะนำในช่วง 30 วันข้างหน้า มันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย" ทรัมป์ กล่าว

ดร. เดบอราห์ แอล. เบิร์กซ์ ผู้ประสานงานทีมฉุกเฉินเพื่อรับมือไวรัสโคโรนาประจำทำเนียบขาว ได้ออกมาเผยโมเดลการศึกษาซึ่งแสดงให้เห็นว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 ในอเมริกาอาจพุ่งถึง 100,000-240,000 คนภายในไม่กี่เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่อ้างอิงกับสมมุติฐานว่าชาวอเมริกันปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ แล้ว แต่ถ้าหากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือก็อาจจะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 2.2 ล้านคน

สถิตินี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ทรัมป์ ยอมพับแผนผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์และฟื้นเศรษฐกิจให้ทันก่อนช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เม.ย.

ทั้งนี้ มีการประเมินว่ายอดผู้เสียชีวิตในอเมริกาจะพุ่งถึงจุดสูงสุดในราวๆ กลางเดือน เม.ย.

ดร.แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อสหรัฐฯ เคยออกมาทำนายก่อนหน้านี้ว่า ไวรัสโควิด-19 จะคร่าชีวิตชาวอเมริกันระหว่าง 100,000-200,000 คน ขณะที่ เบิร์กซ์ ย้ำว่าตอนนี้ยังไม่มีกระสุนวิเศษหรือวัคซีนใดๆ ที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดได้นอกเสียจาก “พฤติกรรมของคน”

รัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา และเมื่อไม่นานนี้ผู้นำสหรัฐฯ ก็เคยออกมาเสนอไอเดียสั่งกักกันโรคใน 2 รัฐนี้เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัส แต่แล้วก็ต้องกลับลำกะทันหัน หลังพวกผู้นำการเมืองท้องถิ่นออกมาค้านหัวชนฝา

แอนดรูว์ คัวโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก วิจารณ์แผนล็อคดาวน์นิวยอร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าระดับโลกว่าเป็นเรื่องที่ทั้งผิดกฎหมายและไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ซ้ำยังเปรียบเทียบว่าไม่ต่างอะไรกับการที่รัฐบาลกลางกำลัง “ประกาศสงคราม” กับฝ่ายบริหารของรัฐต่างๆ

เรือพยาบาล ยูเอสเอ็นเอส คอมฟอร์ต เดินทางไปถึงนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 30 มี.ค. เพื่อช่วยรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ผู้บัญชาการเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสต์เวลต์ ได้ส่งหนังสือด่วนมายังกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขอให้ช่วยอพยพทหารที่ประจำการอยู่บนเรือลำนี้โดยเร็ว เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

เรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ลำนี้ถูกส่งกลับมาที่เกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อทำการกักกันโรค หลังพบผู้ติดเชื้อเคสแรกๆ บนเรือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในหนังสือที่ลงวันที่ 30 มี.ค เบรตต์ โครซิเออร์ (Brett Crozier) ผู้บัญชาการเรือ ระบุว่าเวลานี้พวกเขากำลังเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีสถานที่เพียงพอสำหรับกักกันผู้ป่วยหรือแยกคนบนเรือให้รักษาระยะห่างกัน

โครซิเออร์ เรียกร้องให้กระทรวงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวในการอพยพลูกเรือกว่า 4,000 นาย และทำการกักกันโรคนายทหารเหล่านั้น

“เราไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม ลูกเรือไม่จำเป็นต้องตาย แต่ถ้าเราไม่ลงมือเดี๋ยวนี้ พวกเราจะล้มเหลวในการดูแลทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุด นั่นคือบรรดาทหารของเรา” โครซิเออร์ ระบุ

ล่าสุดมีรายงานว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เริ่มอพยพทหารลงจากเรือ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ แล้ว โดย โทมัส มอดลีย์ รักษาการรัฐมนตรีทบวงทหารเรือของสหรัฐฯ ยืนยันว่าขณะนี้มีการอพยพลูกเรือแล้วเกือบ 1,000 นาย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,700 นายในอีก 2-3 วันข้างหน้า แต่จำเป็นที่จะต้องคงกำลังพลอย่างน้อย 1,000 นายไว้ควบคุมเรือซึ่งมีทั้งอาวุธ เครื่องกระสุน อากาศยานราคาแพง รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ทำเนียบขาวยังออกมาปรับจุดยืนในเรื่องหน้ากากอนามัย จากเดิมที่แนะนำให้สวมเฉพาะคนป่วย แต่ล่าสุด ทรัมป์ กลับสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปหันมาสวมหน้ากาก เพียงแต่ขอให้ใช้ ‘ผ้าพันคอ’ มาดัดแปลงแทน เพื่อประหยัดหน้ากากอนามัยเอาไว้สำหรับแพทย์และพยาบาลที่กำลังขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตนเอง

ดร. เฟาซี ยอมรับว่า การรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเป็นวิธีที่หลายประเทศนำมาใช้ และค่อนข้างได้ผลอยู่พอสมควร ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) กำลังพิจารณาแนวทางดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยหากสหรัฐฯ มีหน้ากากอนามัยเพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ก็จะเริ่มแนะนำให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัยด้วย

“เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ผมเชื่อว่าเราอาจต้องตัดสินใจในเร็วๆ นี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหากใครก็ตามที่อาจจะป่วยหรือไม่ป่วย แต่ต้องการปกป้องผู้อื่นไม่ให้ติดเชื้อ วิธีหนึ่งที่ดีที่สุดก็คือการสวมหน้ากากอนามัย” เฟาซี กล่าว

ก่อนหน้านั้น ดร. เกา ฟู (Gao Fu) ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคของจีน ก็เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Science Magazine ว่า “ความผิดพลาดร้ายแรงของสหรัฐฯ และยุโรปในความเห็นของผมก็คือ การที่ประชาชนไม่นิยมสวมหน้ากากอนามัยกัน”

รัฐบาลจีนได้เริ่มเผยแพร่ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการเป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธ (1 เม.ย.) เพื่อบรรเทาความกังวลของประชาชน โดยระบุว่ามีเคสที่ไม่แสดงอาการกว่า 1,300 คน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการก็มีแนวโน้มจะแพร่เชื้อได้

ในการให้สัมภาษณ์สื่อของรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จง หนานซาน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจของจีน ระบุว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ 3-3.5 คน

เรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ที่กำลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ประชากรราวครึ่งโลกกำลังตกอยู่ภายใต้มาตรการล็อคดาวน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากรัฐบาลทุกประเทศต่างก็ต้องการหยุดการระบาดของเชื้อไวรัสที่ทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั่วโลกกว่า 937,000 คน และเสียชีวิตแล้วกว่า 47,000 คนในเช้าวันพฤหัสบดี (2 เม.ย.)

อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น แถลงเมื่อในวันอังคาร (31 มี.ค.) ว่า โรคระบาดคราวนี้ถือเป็นภัยคุกคามความสงบสุขครั้งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยเผชิญมาในรอบหลายทศวรรษ และอาจทำให้เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีตอันใกล้ อันจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพ เหตุจลาจล และความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งถือเป็น “วิกฤตที่ท้าทายที่สุดของมวลมนุษยชาติในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2”

เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องประชากรทั่วโลกยืนหยัดร่วมกันในการต่อสู้กับโควิด-19 ขณะที่ตัวเขาเองเตรียมใจเผชิญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่น่าจะทะลุหลักล้านคนในไม่ช้านี้

“ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่ 4 นับตั้งแต่โรคระบาดใหญ่โควิด-19 เริ่มต้นขึ้น ผมกังวลอย่างยิ่งต่อการแพร่กระจายของเชื้อที่รวดเร็วและแผ่ลามไปทั่วโลก... ช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้เห็นการเพิ่มขึ้นเกือบเป็นทวีคูณของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งลุกลามไปเกือบทั่วทุกประเทศ จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และในอีก 5 วันข้างหน้าผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจะแตะระดับ 1 ล้านคน และเสียชีวิต 50,000 คน"

แค่เฉพาะในยุโรป ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 30,000 ศพ โดยอิตาลีและสเปนมียอดผู้ติดเชื้อสะสมประเทศละมากกว่า 100,000 คน และมีผู้เสียชีวิตรวมกันคิดเป็น 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในทวีปแห่งนี้ ส่วนเยอรมนีก็มีผู้ป่วยแล้วกว่า 77,900 คน และมีแววว่าจะทำลายสถิติ 82,000 คนเศษของจีนแผ่นดินใหญ่ในอีกไม่ช้า

ฝรั่งเศสรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 509 คน ในวันพุธ (1 เม.ย.) ส่งผลให้ยอดรวมเป็น 4,032 ศพ และกลายเป็นชาติล่าสุดที่มีผู้เสียชีวิตเกิน 4,000 คน ต่อจากอิตาลี, สเปน และ สหรัฐฯ

การสั่งปิดเมืองและจำกัดการเคลื่อนย้ายของประชากรยังถือเป็นวิธีชะลอการแพร่ระบาดที่ได้ผลดีที่สุดในตอนนี้

คริสโตเฟอร์ ดาย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด อ้างผลการศึกษาซึ่งบ่งชี้ว่า คำสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นซึ่งเป็นเสมือน ‘กราวนด์ซีโร’ ของโรคโควิด-19 อาจช่วยลดการแพร่เชื้อในหมู่ประชากรจีนถึง 700,000 คน

“หากไม่มีคำสั่งห้ามเดินทางในอู่ฮั่นและมาตรการตอบสนองฉุกเฉินระดับชาติของจีน เราคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อนอกอู่ฮั่นมากกว่า 700,000 คนภายในกลางเดือน ก.พ.” ดาย ระบุ

มีรายงานว่าเครื่องบินกองทัพรัสเซียลำหนึ่งซึ่งบรรทุกอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ออกเดินทางจากกรุงมอสโกไปยังสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ (1 เม.ย.) หลังจากประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้ยื่นข้อเสนอถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อมอบความช่วยเหลือแก่อเมริกาในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนา

การส่งมอบความช่วยเหลือครั้งนี้มีขึ้นแม้ว่ารัสเซียเองก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ที่กำลังลุกลามเช่นกัน ในขณะที่ฝ่ายค้านบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตของทางการนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงมาก โดยจากข้อมูลในเช้าวันพฤหัสบดี (2) รัสเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 2,777 คน เสียชีวิต 24 คน

บรรดาค่ายรถชั้นนำของโลก เช่น จีเอ็มและฟอร์ดของสหรัฐฯ รวมถึง PSA และเรโนลต์ของฝรั่งเศส ต่างสนองนโยบายภาครัฐด้วยการผันตัวมาผลิตเครื่องช่วยหายใจรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนบริษัทฟูจิฟิล์มของญี่ปุ่นก็เริ่มทดลองประสิทธิภาพของยาอาวีแกน (Avigan) ในผู้ป่วยโควิด-19 หลังมีรายงานว่าตัวยานี้ใช้รักษาผู้ป่วยได้ผลดีในจีน

ยาต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่ ‘อาวีแกน’ หรือ ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ที่ผลิตโดยบริษัท ฟูจิ ฟิล์ม ของญี่ปุ่น

ทีมแพทย์ฝรั่งเศสนำผู้ป่วยโควิด-19 ขึ้นรถไฟความเร็วสูง TGV เพื่ออพยพไปยังสถานพยาบาลในแคว้นเบรอตาญ

ตำรวจอินเดียในเมืองเชนไนสั่งลงโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาลด้วยการให้ ‘ซิท-อัพ’
กำลังโหลดความคิดเห็น