xs
xsm
sm
md
lg

งามไส้!! “อีลอน มัสก์” บริจาคเครื่องช่วยหายใจผิดประเภท ช่วยผู้ป่วยหนักโควิด-19 ไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไฟแนนเชียลไทม์ส/ซีเอ็นบีซี - อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของค่ายรถเทสลา ถูกกล่าวอ้างว่าจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจบริจาคแก่สถานพยาบาลผิดประเภท ด้วยไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ขั้นวิกฤตได้ และหนำซ้ำยังอาจเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อโรคอีกต่างหาก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อีลอน มัสก์ ซีอีโอคนดังของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาและกิจการขนส่งอวกาศสเปซเอ็กซ์ ได้รับการยกย่องชื่นชมจากคนทั่วโลก หลังประกาศจะบริจาคเครื่องช่วยหายใจ 1,000 เครื่อง แก่โรงพยาบาลต่างๆ ในนครลอสแองเจลิส และนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นทุกขณะ

ต่อมาในวันพฤหัสบดี (2 เม.ย.) มัสก์ แจ้งว่า เขาได้จัดซื้อเครื่อช่วยหายใจที่ผ่านความเห็นชอบจาก องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) จำนวน 1,000 เครื่อง ในความพยายามช่วยผู้คนต่อสู้กับโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งกำลังเล่นเล่นผู้คนทั่วโลก โดยเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวผลิตโดย ResMed บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม มิค ฟาร์เรล ประธานของ ResMed ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซี ว่า เครื่อช่วยหายใจเหล่านั้น ซึ่งส่งมอบมาจากจีน เป็นเครื่องช่วยหายใจประเภท BiPAP ที่ต้องใช้หน้ากากครอบจมูกผู้ป่วยเพื่อป้อนออกซิเจน ซึ่งปกติมักใช้รักษาคนไข้ที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีความผิดปกติด้านการนอน (sleep disorders)

อุปกรณ์ BiPAP หรือเครื่องช่วยหายใจแบบแรงดันบวกสองระดับ (Bilevel Positive Airway Pressure) จัดเป็นเครื่องช่วยหายใจชนิดที่ไม่สอดท่อเข้าไปในร่างกาย ซึ่งมีหลักการทำงานและประสิทธิภาพต่างไปจากเครื่องช่วยหายใจผ่านท่อ (invasive ventilator) ที่วงการสาธารณสุขกำลังขาดแคลนอย่างหนัก

ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบผ่านท่ออันล้ำสมัย ซึ่งหมายถึงแพทย์จำเป็นต้องสอดท่อลงไปตามลำคอของผู้ป่วยผู้ช่วยหายใจ

นอกจากนี้ เครื่องช่วยหายใจแบบไม่สอดท่อเข้าไปในร่างกายยังมีอีกประเด็น โดยพวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามันอาจทำให้อากาศจากลมหายใจของผู้ป่วยหลุดออกไปได้ ซึ่งจะกลายเป็นการแพร่เชื้อไวรัสสู่อากาศทั่วห้องไอซียู ก่อความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของแพทย์และคนอื่นๆ

กระนั้นก็ตาม ทางบริษัท ResMed ผู้ผลิตเครื่อง BiPAP บอกว่า แม้อุปกรณ์ชนิดนี้จะไม่สามารถใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจรุนแรงได้ แต่ก็อาจนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการในระดับเบาหรือปานกลางแทน

“เรามองว่า เป็นเรื่องดีที่เทสลาซื้อเครื่อง BiPAP ซึ่งเราออกแบบและพัฒนาขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนในเอเชีย เราขอปรบมือให้กับทุกบริษัทที่สามารถจัดหาเครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์สำหรับทางเดินหายใจทุกชนิดให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในตอนนี้ได้” มิก ฟาร์เรลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ResMed กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น