เอเอฟพี - ศาลสูงสิงคโปร์ปัดตกคำร้องขอให้ยกเลิกกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชายรักชายเมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) นับเป็นอีกหนึ่งความล้มเหลวในการต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศในเอเชีย
แม้กฎหมายยุคอาณานิคมที่กำหนดโทษอาญาสำหรับการมีเซ็กซ์ระหว่างผู้ชายแทบจะไม่เคยถูกนำมาบังคับใช้จริง แต่นักเคลื่อนไหวชี้ว่าการมีกฎหมายลักษณะนี้อยู่ขัดต่อวัฒนธรรมสมัยใหม่ของสิงคโปร์
อย่างไรก็ดี ชาวสิงคโปร์บางคนแย้งว่าแนวคิด “อนุรักษนิยม” ยังคงเป็นแกนกลางของสังคม และไม่พร้อมที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังเชื่อว่าพลเมืองส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว
นักเคลื่อนไหว 3 คนซึ่งเป็นแพทย์วัยเกษียณ, ดีเจ และนักสิทธิ LGBT ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อเดือน พ.ย. โดยระบุว่ากฎหมายอาญามาตรา 377A ซึ่งกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 2 ปีสำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันนั้น “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดได้ปฏิเสธข้ออ้างของบุคคลทั้งสามหลังจากที่มีการไต่สวนแบบปิด และตัดสินว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทั้งในแง่ของความเท่าเทียมและเสรีภาพในการแสดงออก
ศาลยังวินิจฉัยด้วยว่า การที่กฎหมายไม่ถูกนำมาบังคับใช้ไม่ได้แปลว่ามัน “เกินความจำเป็น” (redundant)
“กฎหมายยังคงมีความสำคัญในแง่ของการเป็นเครื่องสะท้อนความรู้สึกและความเชื่อของประชาชน” คำพิพากษาระบุ
เอ็ม. ราวี ทนายของหนึ่งในผู้ยื่นคำร้อง ให้สัมภาษณ์สื่อที่ด้านนอกศาลว่า “รู้สึกผิดหวังอย่างมาก” และย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้มีลักษณะแบ่งแยกกีดกันอย่างเห็นได้ชัด
ความพยายามคว่ำกฎหมายนี้เคยล้มเหลวมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2014 ทว่านักเคลื่อนไหวในสิงคโปร์เริ่มมีกำลังใจอีกครั้ง หลังจากที่ศาลสูงสุดอินเดียพิพากษายกเลิกกฎหมายลักษณะเดียวกันเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2018 ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่าชาวสิงคโปร์เริ่มมีทัศนคติที่ดี และยอมรับกลุ่มคนรักร่วมเพศมากขึ้น
รัฐสภาไต้หวันได้ผ่านร่างกฎหมายสมรสเกย์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เปิดทางให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถอยู่กินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย