xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสูงสุดสิงคโปร์เริ่มไต่สวนคำร้องคว่ำกฎหมาย ‘ห้ามเกย์มีเซ็กซ์’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ – ศาลสูงสุดสิงคโปร์เริ่มไต่สวนคำร้องยกเลิกกฎหมายยุคอาณานิคมที่กำหนดโทษทางอาญาสำหรับการมีเซ็กซ์ระหว่างผู้ชาย หลังจากที่อินเดียได้ยกเลิกกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว

นักเคลื่อนไหวชาวสิงคโปร์ 3 คนได้ยื่นคำร้องต่อศาลวานนี้ (13 พ.ย.) โดยระบุว่ากฎหมายอาญามาตรา 377A ซึ่งกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 2 ปีสำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันนั้น “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงการมีเซ็กซ์ระหว่างเลสเบี้ยน

ความพยายามคว่ำกฎหมายนี้เคยล้มเหลวมาแล้วเมื่อปี 2014 ทว่านักเคลื่อนไหวในสิงคโปร์เริ่มมีกำลังใจอีกครั้ง หลังจากที่ศาลสูงสุดอินเดียพิพากษายกเลิกกฎหมายลักษณะเดียวกันเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2018 ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่าชาวสิงคโปร์เริ่มมีทัศนคติที่ดี และยอมรับกลุ่มคนรักร่วมเพศมากขึ้น

“ชายที่รักชายด้วยกันก็ยังเป็นพลเมืองสิงคโปร์ พวกเขาสมควรได้รับการเคารพและการปกป้องทางกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งกฎหมายอาญามาตรา 377A ละเมิดความคุ้มครองขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญกำหนด” ไบรอัน ชุง หนึ่งใน 3 นักเคลื่อนไหวที่ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุด ระบุในถ้อยแถลง

ชุง ยังอ้างถึงเอกสารที่หอจดหมายเหตุแห่งสหราชอาณาจักรเพิ่งนำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ว่า จุดประสงค์ดั้งเดิมของกฎหมายห้ามมีเพศสัมพันธ์เกย์ที่ใช้ในอาณานิคมอังกฤษนั้นก็เพื่อขจัดการค้าประเวณีชาย (male prostitution) ดังนั้น จึงไม่ควรตีความเลยเถิดจนครอบคลุมถึงกลุ่มชายรักชายทั้งหมด

ทั้งนี้ คาดว่าศาลสูงสุดจะใช้เวลาไต่สวนประมาณ 2-3 เดือน ก่อนจะมีคำพิพากษาออกมา

การต่อสู้ทางกฎหมายในสิงคโปร์คาดว่าจะเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดในมาเลเซีย ซึ่งเพศสัมพันธ์แบบชายรักชายยังคงถือเป็นอาชญากรรม และข้อครหานี้ก็เคยทำให้อดีตรองนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้จะก้าวขึ้นมากุมอำนาจบริหารต่อจากนายกฯ มหาเธร์ โมฮัมหมัด ถูกศาลสั่งจำคุกมาแล้ว

ข้อมูลจากสมาคมเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์ และอินเทอร์เซ็กซ์นานาชาติ (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association) ระบุว่า ยังมีอยู่ราว 70 ประเทศทั่วโลกที่ถือว่าเกย์เซ็กซ์เป็นอาชญากรรม

นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์เคยออกมาปรามพวกนักเคลื่อนไหว โดยระบุว่าสังคมสิงคโปร์ “ยังไม่ได้เปิดกว้างสำหรับเรื่องทำนองนี้”

ทอมมี โก๊ะห์ (Tommy Koh) อดีตทูตสิงคโปร์ประจำองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมากล่าวเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้วว่า ถึงเวลาที่รัฐสมัยใหม่อย่างสิงคโปร์จะหันหลังให้กับกฎหมายที่ ‘ล้าสมัย’ ขณะที่ เค. ชานมูกัม รัฐมนตรียุติธรรมสิงคโปร์ ก็ยอมรับว่า “มีคนส่วนน้อยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ” ที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรา 377A และตนเห็นว่ากฎหมายควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

สถาบันเพื่อการศึกษานโยบาย (Institute of Policy Studies) ในสิงคโปร์เผยแพร่ผลสำรวจเมื่อเดือน พ.ค. ซึ่งพบว่า กระแสคัดค้านการแต่งงานเกย์ในสิงคโปร์ลดลงเหลือเพียง 60% จากที่เคยสูงถึง 74% เมื่อปี 2013
กำลังโหลดความคิดเห็น