xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัสโคโรนาถล่มเศรษฐกิจโลกพังเละ ราคาน้ำมันดิ่งต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ราคาน้ำมันลงต่ออีก 8% ทำสถิติต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ ขณะที่ตลาดหุ้นแดงเถือกทั่วโลก จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 โดย เจ.พี.มอร์แกน คาดว่า จีดีพีโลกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะหดตัวถึง 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

ดัชนีนิกเคอิของตลาดโตเกียว นำทีมหุ้นเอเชียตกกราวรูด อาทิ ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ที่ร่วงลงเกือบ 3% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นหลักหลายแห่งของยุโรป ที่ดิ่งลง 1.5-2.5% ตั้งแต่เปิดซื้อขายช่วงเช้าวันจันทร์ (30 มี.ค.) ตอกย้ำสถานการณ์ที่ถือว่า เลวร้ายที่สุดของภูมิภาคนี้นับจากปี 1987

รายงานระบุว่า เมื่อเวลา 8.15 น. วันจันทร์ตามเวลามาตรฐานเมืองกรีนิช ราคาน้ำมันเบรนต์ซื้อขายอยู่ที่ 22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น ถือเป็นระดับต่ำสุดนับจากปี 2002 สืบเนื่องจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโคโรนา รวมทั้งการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบีย กับ รัสเซีย

ราคาน้ำมันที่ทรุดลงพลอยทำให้สกุลเงินของประเทศที่มีรายได้หลักจากน้ำมัน เช่น รูเบิลของรัสเซีย, เปโซของเม็กซิโก และ รูเปียะห์ของอินโดนีเซีย อ่อนลงถึง 2%

เงินยูโรและปอนด์อ่อนลงราว 0.6% วันศุกร์ที่ผ่านมา (27 มี.ค.) อังกฤษเป็นประเทศใหญ่แห่งแรกที่ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

เงินดอลลาร์ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินของตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญ บ่งชี้ว่า ดอลลาร์จะฟื้นสถานะหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดของโลกในเร็วๆ นี้

สเตฟาน โมเนียร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของลอมบาร์ด โอเดียร์ บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นการปรับฐานที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา

ดัชนีเอเอสเอ็กซ์200 ของออสเตรเลีย พุ่งสวนทางตลาดอื่นๆ ในเอเชีย หลังนายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน ประกาศมาตรการช่วยเหลือแรงงานมูลค่า 130,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

เจ.พี.มอร์แกน วาณิชธนกิจชั้นนำของอเมริกา คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะหดตัวถึง 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สืบเนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดใหญ่ในขณะนี้ และนโยบายสกัดการแพร่ระบาด

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จึงพากันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งด้วยการลดดอกเบี้ยและการเข้าซื้อสินทรัพย์มูลค่ามหาศาล ซึ่งขณะนี้สามารถบรรเทาความตึงเครียดด้านสภาพคล่องในตลาดได้บ้าง

ในวันจันทร์ จีนเป็นประเทศล่าสุดที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี โดยปรับลงถึง 0.20%

ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์ลดดอกเบี้ยเช่นกันขณะที่เศรษฐกิจจ่อเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ประกาศว่า จะยอมให้ใช้หุ้นกู้เอกชนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้

โรดริโก คาทริล นักกลยุทธ์อาวุโสของเอ็นเอบี ชี้ว่า คำถามสำคัญในตลาด คือ มาตรการกระตุ้นทั้งหมดเพียงพอช่วยเศรษฐกิจโลกรับมือผลกระทบจากไวรัสโคโรนาหรือไม่ โดยคำตอบสำหรับคำถามนี้จะขึ้นอยู่กับขอบเขตผลกระทบจากมาตรการกักกันโรคและระยะเวลาในการบังคับใช้มาตรการนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น