รอยเตอร์ - ดาวโจนส์พุ่งแรงกว่า 1,300 จุดในวันพฤหัสบดี (26 มี.ค.) ทำสถิติปิดบวกรวม 3 วันมากที่สุดในรอบกว่า 90 ปี แม้ผู้ยื่นรับสิทธิประโยชน์คนว่างงานสหรัฐฯ รายสัปดาห์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ต่ำกว่าระดับเลวร้ายสุดที่พวกนักลงทุนกังวลกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวผลักทองคำทะยาน ส่วนตลาดน้ำมันดิ่งลงแรงจากวิกฤตโควิด-19
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 1,351.62 จุด (6.38 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 22,552.17 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 154.51 จุด (6.24 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,630.07 จุด แนสแดค ลดลง 413.24 จุด (5.60 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 7,797.54 จุด
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์คนว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.28 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว เป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อันเนื่องจากการประกาศล็อกดาวน์ในหลายรัฐ ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักและนำมาซึ่งความเคลื่อนไหวปลดคนงานเป็นระลอก
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวถือว่าไม่เลวร้ายอย่างที่กังวลกัน โดยแม้ผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยรอยเตอร์ พบว่านักวิเคราะหห์ส่วนใหญ่คาดหมายว่าจะมีผู้ยื่นขอรับสิทธิประโยช์คนว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 1 ล้านคนจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่พวกเขาก็ทำใจเผื่อล่วงหน้าว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดอาจมีผู้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์คนว่างงานมากถึง 4 ล้านคน
นอกจากนี้แล้ว วอลล์สตรีทยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังอย่างสูงว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ “โควิด-19” ในนั้นรวมถึงสายการบินต่างๆ หลังจากวุฒิสภาลงมติเห็นขอบแพกเกจดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนราคาทองคำในวันพฤหัสบดี (26 มี.ค.) ขยับขึ้นแรง ได้แรงหรุนจากดอลลาร์อ่อนค่า หลังจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์คนว่างงานรายสัปดาห์ในสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์ โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 4.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,638.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตัวเลขคนขอรับสวัสดิการที่มากระดับปัจจุบัน เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่แสดงถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโคโรนาไวรัส
ผู้สันทัดกรณีบางรายมองว่า เศรษฐกิจอเมริกันอาจอยู่ในภาวะถดถอยไปเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะยังไม่เข้าข่ายตามคำนิยามที่ว่าเศรษฐกิจต้องหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน
ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง คำกล่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้เปิดประเทศอีกครั้งในเดือนหน้า ช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ถูกวิจารณ์ว่าอาจจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจอเมริกัน
นักวิเคราะห์ชี้หากสหรัฐฯ รีบยุติมาตรการเข้มเพื่อควมคุมการระบาดของโคโรนาไวรัส เช่นการให้คนอยู่ในเคหะสถานให้มากที่สุด และการยับยั้งการรวมกลุ่มตามที่ชุมชน เศรษฐกิจอเมริกัน อาจเกิดการ “ชัตดาวน์” ซ้ำหลายครั้ง ซึ่งส่งผลร้ายยาวนานต่อเศรษฐกิจ
ด้านตลาดน้ำมันในวันศุกร์ (26 มี.ค.) ดิ่งลงหนักอีกรอบ ปิดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 4 วัน จากความกังวลอุปสงค์อ่อนแอ สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 1.89 ดอลลาร์ ปิดที่ 22.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ลอนดอนงวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 1.05 ต่อบาร์เรล ปิดที่ 26.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ลุคแมน โอตูนูกา นักวิเคราะห์ระดับอาวุโสจากสถาบันเอฟเอ็กซ์ทีเอ็ม ให้ความเห็นว่า “ราคาน้ำมันร่วงลงกว่า 60% นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2020 ผลจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส และสงครามราคาระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย”