เอเจนซีส์ - อเมริกา-อังกฤษคลอดมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตไวรัสมูลค่าสูงกว่าล้านล้านดอลลาร์ “ทรัมป์” ลั่นอเมริกาจะต้องชนะในการทำสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็น ขณะที่สถานทูตสหรัฐฯ ในประมาณ 100 ชาติทั่วโลก เตรียมระงับการออกวีซ่าให้ประเทศที่ถูกออกคำเตือน ด้านสหภาพยุโรปก็ปิดพรมแดนงดรับนักเดินทางจากภายนอก 1 เดือนเต็ม และออสเตรเลียประกาศสถานการณ์ สำหรับกลุ่มอาเซียน ถูก “อนามัยโลก” เรียกร้องให้ใช้มาตรการ “เชิงรุก” ต่อสู้โควิด-19 พร้อมคำเตือนว่าบางชาติกำลังเข้าสู่ระยะเกิดการแพร่เชื้อจากภายในชุมชนภายในประเทศนั้นๆ เองแล้ว
แพกเกจความช่วยเหลือมูลค่ามหาศาลของสหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งอยู่ในขนาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงที่โลกปราศจากสงคราม ทำให้สังคมงุนงงและตลาดการเงินปั่นป่วน เนื่องจากยิ่งกังวลว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอย
ไวรัสโคโรนาที่อุบัติขึ้นในจีนเป็นแห่งแรกเมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ในปัจจุบันขณะที่แดนมังกรเองสถานการณ์กลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติเป็นอันมากแล้ว แต่ในทั่วโลกการระบาดกลับยังคงลุกลามอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะแถบยุโรปและสหรัฐฯ โดยที่ขณะนี้ยอดคนติดเชื้อรวมแล้วอยู่ในระดับเกือบ 200,000 คน และเสียชีวิต 7,900 คน กดดันให้รัฐบาลทั่วโลกต้องเร่งประกาศมาตรการอันเข้มงวดกวดขันในการควบคุมการระบาด
หลังจากถูกวิจารณ์ว่า คาดการณ์ความรุนแรงน้อยกว่าความเป็นจริงไปมาก และจัดการสถานการณ์อย่างผิดพลาด ในวันอังคาร (17 มี.ค.) อังกฤษ และสหรัฐฯ ต่างประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงว่า ทำเนียบขาวกำลังหารือกับรัฐสภาเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณใช้จ่ายที่อาจรวมถึงการจ่ายเงินสดให้ประชาชนทันที ซึ่งแม้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลข แต่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า แพ็คเกจนี้อาจมีมูลค่าถึง 850,000 ล้านดอลลาร์ และส่วนหนึ่งจะอัดฉีดให้ธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสขั้นสาหัส
ทรัมป์ที่ก่อนหน้านี้ถูกกล่าวหาว่า ประเมินสถานการณ์โควิด-19 ต่ำเกินไป ประกาศจะทำทุกทางเพื่อต่อสู้กับ “ศัตรูที่มองไม่เห็น” และย้ำว่าอเมริกาจะต้องชนะ
ส่วนที่ลอนดอน ริชี ซูนัก รัฐมนตรีคลังอังกฤษ เปิดเผย “มาตรการที่ไม่เคยมีมาก่อน” ในการจัดหาสินเชื่อ 400,000 ล้านดอลลาร์ให้ธุรกิจที่ประสบปัญหาจากมาตรการกักกันตัวเอง
อังกฤษยังยกระดับมาตรการรับมือไวรัสโคโรนาหลังได้รับคำแนะนำจากนักวิจัยว่า อาจมีประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากหากปราศจากมาตรการที่เข้มข้น โดยสั่งให้ประชาชนงดเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่จำเป็น รวมทั้งงดกิจกรรมที่มีคนชุมนุมกันจำนวนมาก และคาดว่า จะออกมาตรการเพิ่มเติมอีกในเร็วๆ นี้
ด้านฝรั่งเศสประกาศมาตรการช่วยเหลือ 50,000 ล้านดอลลาร์ และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง สั่งให้ประชาชนงดออกนอกเคหสถานอย่างน้อย 2 สัปดาห์
ส่วนเยอรมนี นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ยืนยันมาตรการห้ามนักเดินทางภายนอกเดินทางเข้าสหภาพยุโรป (อียู) นาน 30 วัน รวมทั้งห้ามประชาชนในเยอรมนีเองร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาซึ่งมีผู้คนชุมนุมจำนวนมาก ปิดสนามเด็กเล่น รวมทั้งร้านค้าที่ไม่มีความจำเป็น
ขณะที่หลายประเทศในยุโรปใช้มาตรการล็อกดาวน์ภายในจนถึงขั้นเกือบเบ็ดเสร็จไปแล้ว ปรากฏว่าเบลเยียมกลับเพิ่งเริ่มต้นบังคับใช้ในวันพุธ (18) โดยจะใช้ไปจนถึงวันที่ 5 เดือนหน้าเป็นอย่างน้อย
ด้านองค์การอนามัยโลก (ฮู) กระตุ้นให้ยุโรป ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดล่าสุด ใช้มาตรการที่กล้าหาญมากที่สุด
สำหรับอเมริกา แมริแลนด์เป็นรัฐล่าสุดที่ชะลอการหยั่งเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี และนิวยอร์กกำลังพิจารณาประกาศเคอร์ฟิว
ในวันพุธ (18) สถานเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำเกาหลีใต้แถลงว่า สำนักงานการทูตของสหรัฐฯ ใน 100 ประเทศทั่วโลกที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำเตือนการเดินทางระดับ 2, 3 และ 4 จะระงับการออกวีซ่าทั้งประเภทผู้อพยพและประเภทผู้พำนักอยู่ชั่วคราว ทั้งนี้ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนา
ที่ออสเตรเลียซึ่งพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 565 คน นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน เรียกร้องให้พลเมืองงดเดินทางไปต่างประเทศ และห้ามกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเกิน 100 คน
จีนและเกาหลีใต้ที่เคยเป็นจุดร้อนในการระบาด ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน จีนนั้นพบเคสใหม่ภายในประเทศเพียงคนเดียวเป็นวันที่สองติดต่อกันในวันพุธ ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับทั่วยุโรป
ส่วนที่แอฟริกาซึ่งมีระบบสุขอนามัยที่อ่อนแออยู่แล้ว ได้พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 400 คน
สำหรับในละตินอเมริกา พบ 1,100 คน โดยบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคนี้ พบผู้เสียชีวิตรายแรกเมื่อวันอังคาร
ขณะเดียวกัน ดูเหมือนมาตรการเศรษฐกิจและการเงินของนานาชาติเริ่มส่งผลดี โดยตลาดหุ้นอเมริกาและยุโรปดีดกลับหลังตกแรงมาหลายวัน
สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า แม้หุ้นผันผวนหนักในช่วงนี้ แต่อเมริกาไม่มีแผนปิดตลาดชั่วคราว ขณะที่ผู้นำจี 7 ให้คำมั่นดำเนินการทุกอย่างเพื่อป้องกันระบบการเงินล่ม
กระนั้น อุตสาหกรรมทุกแขนงตั้งแต่การท่องเที่ยวจนถึงอาหารและการบินล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยสายการบินชั้นนำหลายแห่งพากันลดเที่ยวบินเกือบทั้งหมดเป็นการชั่วคราว อิตาลีประกาศแผนแปรรูปกิจการสายการบินอลิตาเลีย และฝรั่งเศสแสดงความพร้อมแปรรูปบริษัทขนาดใหญ่เป็นกิจการแห่งชาติถ้าจำเป็น ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงแล้ว
อนามัยโลกเตือนอาเซียน
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งทะยานทั่วภูมิภาคอาเซียนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศต้องบังคับใช้มาตรการอันน่าตื่นตะลึงต่างๆ นานา ไล่ตั้งแต่ปิดพรมแดนไม่ต้อนรับชาวต่างชาติและกำหนดเคอร์ฟิวยามค่ำคืน ไปจนถึงปิดโรงเรียนและยกเลิกกิจกรรมกีฬาต่างๆ
มีความกังวลว่าระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอในหลายชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้ ในเรื่องนี้ พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการ องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องยกระดับทุกความพยายามในทันที เพื่อป้องกันไวรัสไม่ให้แพร่กระจายติดผู้คนมากกว่านี้”
“มีคำยืนยันเกี่ยวกับการติดไวรัสแบบเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้มันบ่งชี้ให้เห็นถึงความตื่นตัวและการเฝ้าระวังอย่างได้ผล แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ดึงดูดความสนใจไปยังความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องใช้ความพยายามของทั่วทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 แพร่ระบาดไปมากกว่านี้” เธอกล่าว “ชัดเจนว่าเราต้องทำมากกว่านี้และลงมือทำอย่างเร่งด่วนเลย”
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ พบว่า มาเลเซียซึ่งเป็นชาติที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เวลานี้ ด้วยจำนวน 673 คน เคสส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมศาสนาอิสลามกิจกรรมหนึ่งซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วและมีผู้เข้าร่วมเกือบ 20,000 คน
ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้มาเลเซียสั่งปิดพรมแดนไม่ต้อนรับนักเดินทางและห้ามพลเมืองออกนอกประเทศ, จำกัดความเคลื่อนไหวภายใน, ระงับการเรียนการสอนตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ และสั่งให้ภาคธุรกิจทั้งหมดปิดทำการ
ซิงห์บอกว่า มาตรการอย่างง่ายๆ อย่างเช่นล้างมือและเว้นระยะห่างทางสังคม มีความสำคัญยิ่งในการต่อสู้กับไวรัส และสามารถช่วยลดการติดเชื้อได้อย่างมาก