เอเจนซีส์ - ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ร่วมกับแบงก์ชาติอีกหลายประเทศของกลุ่ม จี7 ประกาศลดดอกเบี้ย และออกมาตรการทางการเงินอัดฉีดสภาพคล่องขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทำท่ายังไม่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นได้ โดยที่ตลาดหุ้นทั่วเอเชียในวันจันทร์ (16 มี.ค.) ยังคงดำดิ่ง แถมนักวิเคราะห์เตือน “เฟด” อาจหมดกระสุนในการปกป้องอเมริกาจากภาวะถดถอยอันเนื่องมาจากการระบาดหนักของไวรัสโคโรนา
ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันอาทิตย์ (15) เป็นการประสานร่วมมือกับธนาคารกลางของกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ตลอดจนประเทศตะวันตกอื่นๆ ในการต่อสู้ฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย สืบเนื่องจากการระบาดที่ยังคงรุนแรงของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” กำลังรบกวนขัดขวางทั้งการผลิตและชีวิตปกติทางเศรษฐกิจของประชาชนทั่วไป
ระดับความรุนแรงของวิกฤตคราวนี้ได้รับการตอกย้ำ เมื่อจีนแถลงในวันจันทร์ ถึงรายงานผลผลิตอุตสาหกรรมของประเทศระหว่าง 2 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งปรากฏว่า หดตัวถึง 13.5% ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 30 ปี
ทางด้านเฟดนั้น ได้ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (15) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย “เฟดฟันด์เรต” ลงมาอยู่ที่เกือบๆ เป็น 0% นั่นคือ อยู่ที่ 0-0.25% นับเป็นการลดแบบฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนอกการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดตามกำหนดเวลาปกติ แถมยังเป็นการลดครั้งที่ 2 แล้วในช่วงเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์
นอกจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังเปิดเผยแผนการรับซื้อพันธบัตรคลังและหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยรวมเป็นมูลค่าอย่างน้อย 700,000 ล้านดอลลาร์ อันเป็นมาตรการมุ่งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ อย่างที่ได้เคยนำออกมาใช้ในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 หรือที่ในเมืองไทยมีบางส่วนเรียกกันว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์”
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แถลงว่า เฟดร่วมกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รวมถึงแบงก์ชาติของอังกฤษ ญี่ปุ่น แคนาดา และ สวิตเซอร์แลนด์ ออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อให้สถาบันการเงินระดมทุนสกุลดอลลาร์ได้ง่ายขึ้นและผ่อนคลายความกังวลในตลาดสินเชื่อ
ต่อมาในวันจันทร์ (16) แบงก์ชาติออสเตรเลียก็อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน และเตรียมเปิดเผยมาตรการเพิ่มเติมในวันพฤหัสฯ
วันเดียวกัน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คลอดมาตรการฉุกเฉินทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วย การรับซื้อคืนพันธบัตร และแบงก์ชาติเกาหลีใต้ประกาศลดดอกเบี้ย 0.5%
นอกจากนั้น ยังมีธนาคารกลางนิวซีแลนด์ประกาศลดดอกเบี้ยจนอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนแบงก์ชาติจีน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ก็อัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ตลาดการเงิน
ทว่า มาตรการเหล่านี้ยังไม่มีทีท่าจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์สบายใจ ขณะที่ไวรัสโคโรนายังไม่มีวี่แววสงบลง โดย เทดรอส อัดดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุว่า ไม่สามารถระบุได้ว่า การระบาดทั่วโลกจะไปถึงจุดสูงสุดเมื่อใด
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นทั่วเอเชียวันจันทร์ (16) ยังคงพากันตกระเนระนาด ซิดนีย์ ร่วง 9.7% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์, มะนิลา ตกเฉียด 8%, หุ้นไทย ดิ่งกว่า 5%, มุมไบ รูด 5.2% ขณะที่ ฮ่องกง สิงคโปร์ จาการ์ตา ไทเป ตกเกิน 4%, เวลลิงตัน และ โซล หล่นกว่า 3% ส่วน เซี่ยงไฮ้ ตก 3.4% และ โตเกียว ปิดลดลง 2.5%
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากตลาดหุ้นบางแห่งดิ่งได้ทำสถิติเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นผู้เชี่ยวชาญยังกังวลว่า เฟดอาจไม่เหลือมาตรการให้นำออกมาใช้ต่อสู้วิกฤตอีกต่อไป หากยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้
เคอร์รี เคร็ก จากเจพี มอร์แกน แอสเซ็ต แมเนจเมนต์ เสริมว่า ด้วยข้อมูลเศรษฐกิจที่มีออกมาไม่มากนักจึงไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบหนักแค่ไหน แต่ในมุมมองของบริษัทคิดว่า การชะลอตัวในภาคบริการที่สืบเนื่องจากนโยบายกักกันโรค และผลกระทบจากราคาน้ำมันขาลงที่มีต่อภาคพลังงาน มีแนวโน้มฉุดเศรษฐกิจอเมริกาเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะเวลาหนึ่งซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก
สตีเฟน อินเนส จากแอ็กซีคอร์ป ขานรับว่า ความกังวลใหญ่สุด คือ ธนาคารกลางกลุ่ม จี7 แทบไม่เหลือเครื่องมือใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟด ซึ่งเป็นธนาคารกลางใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลมากที่สุด
สำหรับตลาดเงิน มีรายงานว่า ค่าดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนลงเมื่อเทียบเยนหลังเฟดลดดอกเบี้ย แม้แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่เสี่ยงกว่าและให้อัตราผลตอบแทนมากกว่า อย่างเช่น ดอลลาร์ออสเตรเลีย และเงินบาทของไทยก็ตาม
ส่วนราคาน้ำมันยังตกต่อสืบเนื่องจากสงครามราคาระหว่างซาอุดีอาระเบีย กับ รัสเซีย รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับดีมานด์ที่ซบเซาจากโควิด-19