รอยเตอร์ – ธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่จากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียง 0-0.25% เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) พร้อมออกมาตรการซื้อสินทรัพย์เป็นจำนวนเงินถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งยังเปิดให้ธนาคารต่างๆ กู้ยืมเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือนที่กำลังขาดสภาพคล่อง
มาตรการที่ประสานสอดรับกันทั่วโลกนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อกว่า 1 ทศวรรษก่อน ทว่า ครั้งนี้มีเป้าหมายที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง นั่นคือ การรับมือวิกฤตสาธารณสุขครั้งใหญ่ซึ่งกำลังปิดกั้นสังคมทั่วโลก
การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่รัฐวอชิงตันมายังแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์กส่งผลให้ทางการต้องสั่งปิดสถานศึกษา และงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก เช่น การแข่งขันกีฬาต่างๆ ขณะที่ประชาชนที่ตื่นกลัวไวรัสก็เริ่มกักตุนอาหารและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ระบุว่า การระบาดของไวรัส ‘โควิด-19’ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ภาคการท่องเที่ยวและสันทนาการต้องหยุดชะงัก ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าการแพร่กระจายของเชื้อจะถึงจุดสูงสุดเมื่อใด
“การแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประชาชนทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก” พาวเวลล์ ระบุในถ้อยแถลง หลังเฟดประกาศหั่นดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นลงเหลือเพียง 0-0.25% รวมถึงออกมาตรการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ซึ่งมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนองอย่างน้อย 700,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
“เราจะใช้ทุกช่องทางที่มีอยู่เพื่อทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ” พาวเวลล์ ระบุ
เฟด ยังได้ทำข้อตกลงลดอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางอังกฤษ, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, ธนาคารกลางแคนาดา และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินทั่วโลกสามารถกู้ยืมเงินดอลลาร์ได้ในอัตราที่ถูกลง
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกมาแถลงชื่นชมมาตรการของเฟดว่าเป็น “ข่าวดี” ที่ทำให้ตนรู้สึก “สบายใจมาก”
เฟดยังลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับธนาคารพาณิชย์ (primary credit rate) ลง 150 basis points เหลือ 0.25% พร้อมขยายระยะเวลาเงินกู้เป็น 90 วัน นอกจากนี้ ยังประกาศจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารสหรัฐฯ ที่เริ่มนำเงินทุนและสภาพคล่องส่วนเสริม (liquidity buffers) ที่สะสมไว้หลังเกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ออกมาใช้ และจะปรับลดสัดส่วนเงินกันสำรองขั้นต่ำ (reserve requirement ratio) ให้เหลือ 0% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. เป็นต้นไป
เซบาสเตียน แกลีย์ นักยุทธศาสตร์อาวุโสจากสถาบัน Nordea ในลักเซมเบิร์ก ชี้ว่า มาตรการของเฟดถือเป็นการยอมรับกลายๆ ว่า โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ “หยุดนิ่งกะทันหัน”
ทั้งนี้ ธนาคารใหญ่ 8 แห่งของสหรัฐฯ ยังประกาศระงับการซื้อหุ้นคืน (stock buybacks) ตลอดไตรมาส 2 ของปี “เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายในการใช้เงินทุนและสภาพคล่องส่วนใหญ่เพื่อสนับสนุนขั้นสูงสุดต่อบุคคล ธุรกิจขนาดย่อม และเศรษฐกิจโดยรวมผ่านการปล่อยกู้และบริการอื่นๆ ที่สำคัญ”