รอยเตอร์ - ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประกาศตั้งกองทุนฉุกเฉินวงเงิน 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 376,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่กำลังเผชิญผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ ซึ่งแพร่ระบาดจากจีนออกไปยัง 80 ประเทศทั่วโลก
เดวิด มัลพาสส์ ประธานเวิลด์แบงก์ ระบุว่า ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คนเรายังไม่รู้เกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 และอาจจำเป็นต้องระดมทรัพยากร “อีกมาก” เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรคนี้
องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำเตือนในวันอังคาร (3 มี.ค.) ว่าทั่วโลกอาจประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ในขณะที่ราคาสินค้าประเภทนี้เริ่มพุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ ตามตัวเลขผู้ติดเชื้อ
ในวันเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% สู่ระดับ 1.0 ถึง 1.25% เพื่อเป็นมาตรการฉุกเฉินป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (recession) ส่วนเจ้าหน้าที่การคลังจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ก็เตรียมออกมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสมเพื่อรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19
มัลพาสส์ เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ และย้ำว่าการตอบสนองที่รวดเร็วและครอบคลุมคือหัวใจสำคัญของการรักษาชีวิตผู้ป่วย
“วันนี้เราขอประกาศตั้งกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นในวงเงิน 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของประเทศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และช่วยบรรเทาผลกระทบอันน่าเศร้าของวิกฤตครั้งนี้” ประธานเวิลด์แบงก์ ระบุ
“สิ่งสำคัญคือจะต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว ความเร็วคือสิ่งจำเป็นในการรักษาชีวิตผู้คน... มีสถานการณ์หลายอย่างที่อาจต้องระดมทรัพยากรกันมากกว่านี้ เราพร้อมจะปรับเปลี่ยนแนวทางและทรัพยากรต่างๆ ตามความจำเป็น”
ทั้งนี้ สมาคมเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดเวิลด์แบงก์ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน อาจได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หากมีการประกาศโครงการสนับสนุนงบประมาณฉุกเฉินสำหรับการระบาดใหญ่ (Pandemic Emergency Financing Facility, PEF) ซึ่งเวลานี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น
มัลพาสส์ ยอมรับว่า ประเทศยากจนที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการเกิดโรคระบาด แต่จากประสบการณ์ในการรับมือไวรัสอีโบลาและโรคระบาดอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่า หากมีมาตรการตอบสนองที่ถูกต้องและรวดเร็วพอก็จะสามารถลดการแพร่กระจายของเชื้อและปกป้องชีวิตประชากรได้
อย่างไรก็ดี ประธานเวิลด์แบงค์เตือนทุกประเทศให้หลีกเลี่ยงมาตรการป้องกันที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้า
มัลพาสส์ ยืนยันว่ามีบางประเทศที่แสดงความจำนงขอรับความช่วยเหลือจากเวิลด์แบงก์แล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยว่ามีชาติใดบ้าง
เวิลด์แบงก์ระบุว่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่จะอนุมัติผ่านช่องทางฟาสต์แทร็กจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถจัดหาบริการสาธารณสุขที่ดียิ่งขึ้น, ส่งเสริมมาตรการเฝ้าระวังและแทรกแซงโรคระบาด รวมไปถึงการทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ