xs
xsm
sm
md
lg

ชาวฮินดูในมาเลย์ไม่หวั่นไวรัส แห่ร่วม “เทศกาลไทปูซัม” เนืองแน่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี – ชาวฮินดูชุมนุมกันตามวัดต่างๆ ทั่วมาเลเซียในวันเสาร์ (8) เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลไทปูซัมประจำปี และมีคนจำนวนมากเจาะร่างกายตัวเองด้วยตะขอและเหล็กเสียบ ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาก็ตาม

ฝูงชนจำนวนมหาศาลเคลื่อนเข้าสู่วัดถ้ำบาตูบริเวณรอบนอกรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อเข้าร่วมงานนี้ ซึ่งชาวฮินดูจะถวายการสักการะพระขันธกุมาร หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่าพระมูรูกัน

ผู้ประกอบพิธีหลายคนเดินเท้าเปล่าขึ้นบันได 272 ขั้นสู่วัดแห่งนี้ สถานที่สำคัญทางศาสนาสำหรับชาวทมิฬฮินดู พร้อมกับเครื่องไหว้ต่างๆ เช่น โถนมที่สุดท้ายแล้วจะถูกเขวี้ยงแตกเพื่อเป็นสิ่งสักการะ

คนจำนวนมากแสดงความศรัทธาแรงกล้าของพวกเขาด้วยการแบกโครงเหล็กหนักขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า “คาวาดิส” ซึ่งถูกยึดติดกับร่างกายด้วยแท่งเหล็กแหลมคม

ผู้ศรัทธาบางส่วนดูเหมือนจะอยู่ในภวังค์ ขณะที่พวกเขาแบกคาวาดิส ซึ่งอาจมีน้ำหนักมากถึง 100 กิโลกรัม คนอื่นๆ แทงใบหน้าตัวเองด้วยสามง่ามหรือเกี่ยวตะขอหลายอันและโซ่จากร่างกายของพวกเขาเพื่อไถ่บาป

ฝูงชนที่วัดถ้ำบาตูดูมีจำนวนพอๆ กับเมื่อปีก่อนๆ ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นทีสวมหน้ากากอนามัย


เชื้อไวรัสนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายร้อยคนและมีผู้ติดเชื้อหลายหมื่นคนในจีน และกำลังแพร่กระจายทั่วโลก จนถึงตอนนี้ มาเลเซียรายงานว่ามีผู้ป่วย 16 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน

“เราค่อนข้างเป็นกังวลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสอู่ฮั่น” นาวินดราน อรูมูกัม กล่าว โดยอ้างถึงเมืองศูนย์กลางการแพร่ระบาดในจีน อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมว่า เขาไม่คิดว่าเขาจะติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในสถานทีศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้

ก่อนเทศกาลไทปูซัม ชาวฮินดูมักจะจัดการสวดมนต์ร่วมกัน งดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานแต่อาหารมังสวิรัติเป็นเวลานานหลายสัปดาห์

ประชากรประมาณ 32 ล้านคนของมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แต่ประเทศนี้ก็มีคนเชื้อสายอินเดียอยู่ด้วยประมาณ 2 ล้านคน

ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของแรงงานที่ถูกนำมาจากพื้นที่ชนเผ่าทมิฬทางตอนใต้ของอินเดียโดยอดีตเจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษในมาเลเซีย

พระขันธกุมารได้รับการเคารพเป็นพิเศษในตอนใต้ของอินเดียและในหมู่ชุมชนชาวทมิฬในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


กำลังโหลดความคิดเห็น