(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
‘This is war’: Iran vows to avenge slain general
By Alison Tahmizian Meuse, Tripoli
03/01/2020
กองกำลังสหรัฐฯเปิดปฏิบัติการอุกอาจ ลอบสังหารนายพล กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการทหารชื่อโด่งดังที่สุดของอิหร่าน ในกรุงแบกแดด ก่อให้เกิดกระแสตะลึงงันไปทั่วทั้งกรุงเตหะราน และอิหร่านรวมทั้งพวกพันธมิตรในภูมิภาคของสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ต่างพากันประกาศจะตอบโต้แก้แค้น ในลักษณะมีการไตร่ตรองคิดคำนวณ
การลอบสังหาร นายพล กาเซ็ม โซไลมานี (Qasem Soleimani) ของอิหร่าน ในกรุงแบกแดด เมืองหลวงอิรัก โดยฝีมือกองกำลังสหรัฐฯเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (2 ม.ค.) ได้ส่งกระแสช็อกตะลึงงันไปทั่วทั้งกรุงเตหะรานในวันศุกร์ (3 ม.ค.) และแล้วก็กำลังเข้าสู่ภาวะสุกงอมอย่างรวดเร็ว กลายเป็นการให้คำมั่นสัญญาทั้งจากอิหร่านและพวกพันธมิตรในภูมิภาคของสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ ที่จะตอบโต้แก้แค้นอย่างมีการไตร่ตรองคิดคำนวณ
ในช่วงเวลาหลายชั่วโมงภายหลังเหตุโจมตีลอบสังหารคราวนี้ แหล่งข่าวรายหนึ่งของเอเชียไทมส์ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับระดับผู้มีอำนาจชั้นบนสุดในเตหะราน พูดสารภาพว่า “ตอนนี้เรากำลังอยู่ในภาวะช็อก”
ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาโตลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ประกาศให้มีการไว้ทุกข์แสดงความอาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน ขณะที่บัญชีทวิตเตอร์ซึ่งพัวพันเกี่ยวข้องกับสำนักงานของคอเมเนอี ข่มขู่ที่จะดำเนินการ “แก้แค้นอย่างรุนแรง”
“นี่คือสงคราม” เป็นพาดหัวตัวโตของหนังสือพิมพ์อัล-อัคบาร์ (Al-Akhbar) หนังสือพิมพ์ในเลบานอนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
“มีเส้นสีแดงห้ามล่วงละเมิดจำนวนมาก ได้ถูกทำลายอย่างยับเยินไปแล้วจากการลอบสังหารโซไลมานี” บทนำของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ระบุ
“การลอบสังหาร กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบคุดส์ (Quds Force) แห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) และ อบู มะห์ดี อัล-มุฮันดิส (Abu Mahdi al-Muhandis,”) รองผู้บัญชาการ กองกำลังระดมพลังประชาชน (Popular Mobilization Forces) (ของอิรัก) ไม่สามารถที่จะปล่อยให้ผ่านไปเหมือนกับเหตุการณ์อื่นๆ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้” บทนำชิ้นนี้กล่าว
“สหรัฐฯจะต้องชดใช้ด้วยราคาอันแพงลิ่ว เส้นแดงห้ามล่วงละเมิดเหล่านี้ไม่อาจปล่อยให้ล้มเอนระเนระนาดฝ่ายเดียวได้”
ฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นส่วนตัวกับโซไลมานีนั้น ในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนผ่านจากการเป็นขบวนการเคลื่อนไหวสู้รบแบบจรยุทธ์ระดับท้องถิ่นซึ่งมุ่งต่อสู้กับอิสราเอล จนกระทั่งได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาอำนาจทางทหารระดับภูมิภาครายหนึ่งไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสู้รบอย่างโดดเด่นในซีเรีย
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2006 กองกำลังอาวุธชาวชีอะห์นี้ มีท่าทีระมัดระวังคอยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการสู้รบขัดแย้งในระดับใหญ่โตกับอิสราเอล โดยแสดงออกให้เห็นถึงความอดทนอดกลั้นต่อศัตรูคู่อาฆาตมาแต่ไหนแต่ไรของตนเรื่อยมา ทว่าในช่วงหลายๆ สัปดาห์ และหลายๆ เดือนจากนี้ไป มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่การสู้รบขัดแย้งนี้จะกลับดุเดือดร้อนแรงขึ้นมาใหม่ ในเมื่อกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ของอิหร่านต่างให้คำมั่นที่จะเข้าร่วมในการตอบโต้ล้างแค้น
กองทัพมะห์ดี
ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำของฮิซบอลเลาะห์ ประกาศให้สัญญาในวันศุกร์ (3 ม.ค.) ว่า เหตุการณ์ที่สหรัฐฯสังหาร โซไลมาเน และ มูฮันดิส ด้วยการโจมตีใส่ยานพาหนะของพวกเขา ขณะเดินทางออกมาจากสนามบินกรุงแบกแดดนั้น จะต้องไม่ปล่อยผ่านไปโดยไม่มีการตอบโต้
“ฝ่ายต่อต้านกลุ่มต่างๆ จะได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความภักดีอันยิ่งใหญ่และจริงใจที่มีต่อผู้สละชีพเหล่านี้ตลอดจนเป้าหมายอันมีเกียรติของพวกเขา โลหิตอันบริสุทธิ์ของพวกเขาต้องหลั่งไหลออกมาอย่างอยุติธรรม และจะต้องไม่ปล่อยให้มันหลั่งไหลออกมาอย่างไร้ค่า” ผู้นำของชาวชีอะห์เลบานอนผูนี้ประกาศเอาไว้ในคำแถลง
อย่างไรก็ตาม บางทีสิ่งที่จะมีผลสืบเนื่องอย่างใหญ่โตกว้างขวางต่อกองทหารสหรัฐฯยิ่งไปกว่าคำแถลงของฮิซบอลเลาะห์เสียอีก ได้แก่การที่ มุกตาดา อัล-ซาดร์ (Muqtada al-Sadr) นักการศาสนาชาวอิรักผู้ทรงอิทธิพล ออกมาประกาศว่า เขากำลังฟื้นฟูกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของเขาที่มีชื่อเรียกขานกันว่า กองทัพมะห์ดี (Mahdi Army) ให้คืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง สิบกว่าปีหลังจากที่ได้ยุติบทบาทการเปิดศึกสู้รบอย่างนองเลือดตามท้องถนนกับเหล่ากองกำลังของฝ่ายอเมริกัน
สืบเนื่องจากการที่สหรัฐฯก่อการสังหาร โซไลมานี และ มุฮันดิส ซึ่งเป็นผู้นำหน่วยรบกึ่งทหาร “คอตะอิบ ฮิซบอลเลาะห์” (Kataeb Hezbollah) ที่เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังระดมพลังประชาชน ซาดร์ นักการศาสนาชาตินิยมคนดังกำลังเรียกร้องให้ “นักรบมุญาฮีดีนทั้งหมดทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพมะห์ดี เตรียมตัวพวกเขาเองให้พรักพร้อมเพื่อการพิทักษ์ปกป้องอิรัก”
ขณะที่ ซาดร์ ยังคงรักษาสายสัมพันธ์อันใกล้กับกับอิหร่านเอาไว้เรื่อยมา แต่นี่ถือเป็นคำแถลงครั้งสำคัญจากบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองของอิรักที่เพียงเมื่อ 2 ปีครึ่งที่แล้ว ได้นั่งลงพูดจาหารือกับเจ้าชายมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Crown Prince Mohammed bin Salman) แห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ที่วอชิงตันให้ความอุปถัมภ์ค้ำชู
“เราถูกปลุกขึ้นมาจากที่นอน และฉับพลันทันใดนั้นเราก็กำลังได้ยินคำพูดคำจาซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยพูดกันออกมา” โนม เรย์แดน (Noam Raydan) นักวิเคราะห์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ตั้งฐานอยู่ในแบกแดด และกำลังเฝ้าติดตามความขัดแย้งในภูมิภาคระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านซึ่งมีการบานปลายขยายตัวขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กล่าวให้ความเห็น
กาเซ็ม โซไลมานี เป็นผู้ซึ่งพัฒนาระดับชื่อเสียงความสำเร็จของเขาจนสูงลิบเกือบๆ เป็นตำนาน ทั้งในอิหร่านและในภูมิภาคกว้างไกลออกไป ด้วยการที่วันหนึ่งปรากฏตัวในเครื่องแบบชุดดำ มีกองกำลังอาวุธท้องถิ่นขนาบข้าง ที่เมืองอะเล็ปโป ของซีเรีย แล้วจากนั้นในวันรุ่งขึ้นก็เผยโฉมในเครื่องแต่งกายแบบชาวเคิร์ด ไปตั้งค่ายอยู่บริเวณแนวหน้าสู้รบกับพวกไอซิส (ชื่อย่ออีกชื่อหนึ่งของกลุ่มรัฐอิสลาม-ไอเอส) ดังนั้นจึงไม่มีใครขบคิดจินตนาการว่าเขาจะถูกลอบสังหาร เมื่อย้อนหลังกลับไปแม้เพียงแค่ 24 ชั่วโมงก่อน
“สถานการณ์ดูเหมือนกำลังอยู่ในสภาพควบคุมไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ผมได้ข้อสรุปเช่นนี้โดยอิงอยู่กับคำพูดคำแถลงต่างๆ ที่เรากำลังได้ยินได้ฟังกันจากพวกหุ้นส่วนของอิหร่านในอิรักและในเลบานอน” เรย์แดน บอกกับเอเชียไทมส์
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า การสังหารผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์อย่างชวนให้รู้สึกช็อกคราวนี้ แทบแน่นอนทีเดียวที่จะถูกมองว่าเป็นการก้าวข้ามเส้นแดงที่ห้ามล่วงละเมิด และเป็นเหตุการณ์หนึ่งซึ่งจะปรับเปลี่ยนรูปโฉมหลักเกณฑ์แห่งการสู้รบทำศึกกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ในอิรัก
การโจมตีของสหรัฐฯครั้งนี้ บังเกิดขึ้นราวๆ 1 สัปดาห์ภายหลังมีจรวดระลอกหนึ่งยิงมาจากหน่วยรบกึ่งทหาร “คอตะอิบ ฮิซบอลเลาะห์” ของอิรัก ซึ่งได้สังหารผู้รับเหมาชาวอเมริกันผู้หนึ่ง และทำให้ทหารสหรัฐฯและทหารอิรักอีกจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ณ ค่ายซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศนั้น
จากนั้นสหรัฐฯก็ได้ถล่มโจมตีใส่ค่ายแห่งหนึ่งของหน่วยรบ คอตะอิบ ฮิซบอลเลาะห์ เมื่อวันอาทิตย์ (29 ธ.ค.) สังหารสมาชิกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นเหล่านี้ไป 25 คน ครั้นแล้วการเดินขบวนในพิธีศพเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตเหล่านี้ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงแบกแดดเมื่อวันอังคาร (31 ธ.ค.) ก็ได้เห็นบรรดาผู้สนับสนุนกองกำลังท้องถิ่นนี้บุกฝ่าผ่านเข้าไปใน “เขตกรีนโซน” ซึ่งเป็นเสมือนป้อมค่ายที่มีการคุ้มครองป้องกันอย่างแน่นหนา และบุกพังประตูเข้าไปภายในเขตสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ
เหตุการณ์ที่ทำท่าบานปลายขยายตัวเช่นนี้ ยังเร่งรัดให้เกิดเสียงเรียกร้องใหม่ๆ ขึ้นมาอีก ให้กองทหารอเมริกันถอนตัวออกไปจากอิรัก
รอคอยเวลาที่จะตอบโต้
อิหร่านน่าที่จะใช้เวลาให้ตัวเองมีความพรักพร้อม ในการดำเนินการตอบโต้อย่างมีการไตร่ตรองคิดคำนวณ ต่อการเสียชีวิตของผู้บัญชาการทหารซึ่งเป็นที่ยกย่องบูชาของตนผู้นี้ และจะเป็นการแก้แค้นซึ่งน่าจะไปไกลยิ่งกว่าการโจมตีเล่นงานเส้นทางเดินเรือในอ่าวเปอร์เซียที่เกิดขึ้นเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา หรือกระทั่งไปไกลยิ่งกว่าการโจมตีอย่างแม่นยำใส่สถานที่ด้านน้ำมันของ ซาอุดีอารัมโค (Saudi Aramco) ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งพวกฮูตีในเยเมน ที่เป็นพันธมิตรของอิหร่าน ออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบ
“การสังหาร โซไลมานี และ มุฮันดิส ทำให้ฝ่ายอิหร่านไม่เหลือทางเลือกอื่นๆ แล้วในการดำเนินการตอบโต้” นี่เป็นความเห็นของ เจมส์ ดอร์ซีย์ (James Dorsey) นักวิจัยอาวุโสแห่ง ศูนย์ตะวันออกกลาง ของ วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา เอส. ราชารัตนัม (S. Rajaratnam School of International Studies) ในสิงคโปร์
“ฝ่ายอิหร่านมีความเชี่ยวชาญเป็นเลิศในเรื่องการทำสงครามแบบอสมมาตร (asymmetric warfare) และการเคลื่อนไหวสู้รบในพื้นที่สีเทา (grey areas) ต่างๆ อยู่แล้ว การดำเนินการตอบโต้จึงจะขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาของพวกเขาเอง และมันอาจจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้” นักวิจัยอาวุโสผู้นี้กล่าวกับเอเชียไทมส์
เขาวิเคราะห์ต่อไปว่า มันไม่น่าจะเป็นการโจมตีครั้งใหม่ๆ ในอ่าวเปอร์เซีย เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวต่างๆ ในเชิงปรองดองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในช่วงไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ และจากกระบวนการไกล่เกลี่ยมรอมชอมกับซาอุดีอาระเบียที่แม้อยู่ในภาวะชะงักงันทว่าก็ไม่ได้ถูกยกเลิกไป
เมื่อคำนึงถึงวิกฤตการณ์ทั้งทางการเงินและทางการเมืองในเลบานอนในปัจจุบัน ฮิซบอลเลาะห์ก็น่าที่จะหาทางหลีกเลี่ยงไม่เปิดสงครามครั้งใหม่กับอิสราเอล ส่วนอิหร่านน่าที่จะพยายามหาทางรักษาไม่ให้อิรักอยู่ในภาวะย่ำแย่เลวร้ายลงไปกว่านี้ ทั้งนี้หากพิจารณาว่าสภาพเศรษฐกิจที่ดีของอิรักนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความอยู่รอดของอิหร่านเอง
ดอร์ซีย์มองว่า การแก้แค้นอาจจะเกิดขึ้นนอกภูมิภาคตะวันออกกลางได้เช่นกัน โดยที่เป้าหมายซึ่งอาจเป็นไปได้ น่าจะครบคลุมถึงพวกสถานเอกอัครราชทูต, บริษัทต่างๆ, และบุคคลต่างๆ
“คุณได้เคยเห็นการปฏิบัติการที่อิหร่านหนุนหลังอยู่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วในอดีต [1] ... รวมทั้งหลายๆ ปีที่ผ่านมาก็มีการโจมตีในทั่วโลกโดยพวกกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอิหร่าน ผมจึงจะไม่รู้สึกแปลกใจอะไรหรอก ถ้าหากการตอบโต้ครั้งต่อไปในการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่นนี้ จะเกิดขึ้นในจุดที่ไม่มีการคาดหมายกันมาก่อน” เขากล่าวกับเอเชียไทมส์
แต่เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ชื่อเสียงความสำเร็จของโซไลมานี เป้าหมายนั้นก็จะต้องมีความสำคัญอย่างสมน้ำสมเนื้อด้วย
“มันไม่สามารถที่จะเป็นแค่การเล่นงานใส่นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันไม่กี่คนได้หรอก”
หมายเหตุผู้แปล
[1] การปฏิบัติการที่อิหร่านหนุนหลังอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วในอดีต น่าจะหมายถึงเหตุการณ์การระเบิดหลายครั้งในกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2012 ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บรวม 5 คน ทางการผู้รับผิดชอบของไทยแถลงว่า การระเบิดเหล่านี้เป็นความพยายามอย่างผิดพลาดล้มเหลวของบุคคลสัญชาติอิหร่านหลายคน ที่มุ่งลอบสังหารพวกนักการทูตชาวอิสราเอล และทางการไทยได้จับกุมชาวอิหร่านเอาไว้หลายคนพร้อมตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ทำการโจมตีเหล่านี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส
เหตุระเบิดเหล่านี้บังเกิดขึ้นมา 1 วันภายหลังเกิดการโจมตีที่พุ่งเป้าเล่นงานพวกนักการทูตอิสราเอลในกรุงทบิลิซิ ประเทศจอร์เจีย, และในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย อิสราเอลระบุว่ารัฐบาลอิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตีด้วยระเบิดเหล่านี้ แต่ฝ่ายเตหะรานออกมาปฏิเสธ
สำหรับรายละเอียดของเหตุการณ์ในไทยนั้น การระเบิดครั้งแรกสุดเกิดขึ้นเมื่อเวลาราว 14.00 น.ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2012 ที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งผู้ต้องสงสัยเช่าเอาไว้ ณ ถนนสุขุมวิท 71 (ถนนประดิษฐ์มนูธรรม) แรงระเบิดทำให้หลังคาส่วนหนึ่งของอาคารทะลุ จากนั้นมีชายหลายคนหลบหนีจากบ้านหลังดังกล่าว ซาอีด โมราดี (Saeed Moradi) ชายอิหร่านวัย 28 ปีซึ่งได้รับบาดเจ็บมีรอยเลือดตามร่างกาย พยายามโบกรถแท็กซี่คันหนึ่งให้จอดรับ ครั้นเมื่อคนขับเห็นสภาพของเขา จึงปฏิเสธไม่ยอมให้ขึ้นรถ โมราดีจึงขว้างลูกระเบิดใส่รถแท็กซี่ ซึ่งสร้างความเสียหายให้รถและคนขับก็ได้รับบาดเจ็บ จากนั้นตำรวจซึ่งได้ยินเสียงระเบิดและเดินทางถึงที่เกิดเหตุได้พยายามหยุดโมราดี แต่โมราดียังคงหาทางหลบหนีด้วยการขว้างระเบิดมืออีกลูกหนึ่งเข้าใส่กลุ่มตำรวจ ระเบิดมือดังกล่าวกระทบถูกต้นไม้และสะท้อนกลับมาที่เขา แล้วเกิดการระเบิดขึ้นมาทำให้เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ขาทั้งสองข้าง
(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/2012_Bangkok_bombings)
ทางด้านเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้ระบุในรายงานข่าวเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2520 ว่า รองนายกรัฐมนตรี โมเช ยาลอน ของอิสราเอลในเวลานั้น ได้ระบุชื่อ โซไลมานี ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุโจมตีทั้งในไทย, จอร์เจีย, และอินเดีย
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ซึ่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในเวลานั้น และเป็นผู้ออกคำสั่งเรื่องการสืบสวนคดีนี้ ได้บอกกับบางกอกโพสต์ในวันศุกร์ (3 ม.ค.) ว่า ทางเจ้าหน้าที่สืบสวนยังไม่พบว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับโซไลมานี
“พวกผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ไม่ยอมให้ความร่วมมือ” พล.ต.อ.วินัยกล่าว และเสริมว่า มีผู้สมรู้ร่วมคิดบางคนซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้ประกอบระเบิด ได้หลบหนีออกจากไทยไปแล้ว และตำรวจนครบาลสามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1828329/soleimani-not-linked-to-bangkok-attacks)