เอเอฟพี – ศาลจีนสั่งจำคุก 3 ปีศาสตราจารย์ที่อ้างว่าอยู่เบื้องหลังเด็กตัดต่อยีนคู่แรกของโลกฐานประกอบกิจกรรมการแพทย์ผิดกฎหมาย สื่อทางการ รายงาน
เฮ่อ เจี้ยนขุย ซึ่งสั่นสะเทือนวงการวิทยาศาสตร์เมื่อปีที่แล้วด้วยการประกาศการเกิดของเด็กแฝดที่ยีนถูกปรับแต่งให้มีภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสเอชไอวี ยังถูกสั่งปรับเงิน 3 ล้านหยวน (เกือบ 13 ล้านบาท) ด้วย สำนักข่าวซินหวา รายงาน
เขาถูกศาลในเซินเจิ้นพิพากษาลงโทษฐาน “ดำเนินการปรับแต่งยีนตัวอ่อนมนุษย์เพื่อการสืบพันธุ์” ซินหวา รายงาน
สองนักวิจัยในทีมของเขาก็ถูกลงโทษเช่นกัน จาง เหรินลี่ ถูกตัดสินจำคุก 2 ปีและปรับเงิน 1 ล้านหยวน ในขณะที่ ฉิน จินโจว รับโทษจำคุก 18 เดือน รอลงอาญา 2 ปี และถูกปรับ 500,000 หยวน
ทั้งสามไม่มีใบอนุญาตทำงานเป็นแพทย์ และได้ละเมิดกฎหมายและหลักจริยธรรมของจีนโดยเจตนา อ้างจากคำสั่งศาล ซินหวา ระบุ
คำสั่งศาล ระบุว่า พวกเขาทำเพื่อแสดงหาชื่อเสียงและผลประโยชน์ให้กับตัวเองและละเมิดระเบียบการแพทย์อย่างร้ายแรง
ซินหวา ระบุว่า เด็กตัดต่อยีนคนที่สามเกิดขึ้นจากการทดลองของเขาซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันก่อนหน้านี้
เมื่อเดือนพฤศจิกายน เขาประกาศว่า เด็กตัดต่อยีนกลุ่มแรกของโลก แฝดสาว 2 คน ลืมตาดูโลกในเดือนเดียวกัน หลังจากเขาปรับแต่งดีเอ็นเอของเด็กไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยการถอดยีนบางตัวภายใต้ที่เรียกว่า CRISPR
คำกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกตกตะลึง และตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวจริยธรรมและทำให้ปัญหาการไม่ควบคุมงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของจีนตกเป็นเป้าความสนใจ
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ เขาถูกนำเข้าสู่การสืบสวนของตำรวจ รัฐบาลสั่งระงับงานวิจัยของเขาและเขาถูกปลดออกจากมหาวิทยาลัยของเขาในจีน
การปรับแต่งยีนเพื่อการแพร่พันธุ์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศส่วนใหญ่ เมื่อปี 2003 กระทรวงสาธารณะสุขของจีนออกกฎหมายห้ามการปรับแต่งยีนตัวอ่อนมนุษย์
การปรับแต่งยีนของเขา ถึงแม้จะมีจุดประสงค์เพื่อทำให้แฝดคู่นี้ปลอดภัยจากเอชไอวี แต่ก็อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายและทำให้เกิดการกลายพันธุ์โดยไม่ตั้งใจ นักวิทยาศาสตร์หลายคนกล่าวเมื่อต้นเดือน หลังจากงานวิจัยต้นต่อถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
เขาอ้างว่ามันเป็นการบุกเบิกทางการแพทย์ที่สามารถ “ควบคุมการแพร่ระบาดของเอชไอวี” แต่มันไม่แน่ชัดว่าเขาประสบความสำเร็จในการทำให้เด็กเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันต่อเอชไอวีหรือไม่ เนื่องจากทีมของเขาไม่ได้ทำซ้ำการปรับแต่งยีนที่เทียบเคียงกับการต้านทานนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายคน บอกกับนิตยสาร MIT Technology Review