เอเอฟพี - จีนในวันศุกร์(27ธ.ค.) ประสบความสำเร็จในการปล่อยลองมาร์ช 5 (Long March-5) หนึ่งในจรวดขนส่งทรงพลังมากที่สุดของโลก ในก้าวย่างครั้งใหญ่ต่อภารกิจมุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร ที่ปักกิ่งวางแผนเอาไว้ในปี 2020
ไลฟ์สตรีมของสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี เผยให้เห็นว่าจรวดบรรทุกหนักลองมาร์ช 5 บรรทุกดาวเทียม Shijian 20 ถูกยิงขึ้นจากฐานปล่อยจรวดเหวินฉาง บนเกาะไห่หนาน ทางภาคใต้ของประเทศ ตอนเวลา 20.45น.(ตรงกับเมืองไทย 19.45น.)
"หลังจากผ่านไปมากกว่า 2,000 วินาที ดาวเทียม Shijian 20 ถูกส่งเข้าสู่วงโคจรตามที่กำหนดไว้" สำนักข่าวซินหัวรายงาน "การยิงจรวดครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบเทคโนโลยีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภารกิจอวกาศในอนาคต"
ความสำเร็จของการยิงครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญในแผนอันทะเยอทะยานของจีน สำหรับภารกิจมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารในปีหน้าและหวังมีสถานีอวกาศของตนเองภายในปี 2022
"จรวดลองมาร์ช 5 มีภาระหน้าที่ในภารกิจที่สำคัญ" อู๋ หยานหัว รองผู้อำนวยการสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีนระบุในวิดีโอที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวซีซีทีวีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว "มันจะมีหน้าที่ในภารกิจสำคัญๆหลายอย่าง ในนั้นรวมถึงการสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน, ส่งยานฉางเอ๋อ 5 ไปสำรวจดวงจันทร์และนำส่งโมดูลแกนหลักกลางสำหรับสถานีอวกาศที่มีมนุษย์อวกาศประจำการอยู่"
มีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนที่เฝ้าดูการยิงจรวดผ่านไลฟ์สตรีททางออนไลน์ และมีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งรวมตัวกันใกล้ๆฐานยิงบนเกาะ โดยพวกเขาพากันส่งเสียงเชียร์ตอนที่จรวดพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้ายามค่ำคืน
ความสำเร็จในวันศุกร์(27ธ.ค.) นำพาโครงการอวกาศของจีนกลับคืนสู่เส้นทางอีกครั้ง หลังจากความพยายามก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม 2017 ประสบความล้มเหลวระหว่างการปล่อยจรวด
จีนประสบความสำเร็จในการทดสอบลองมาร์ช 5 ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2016 ซึ่งตอนนั้นพวกเขาอ้างว่ามันเป็นจรวดที่ทรงพลานุภาพมากที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยพัฒนามา
ลองมาร์ช 5 สามารถบรรทุกได้สูงสุด 25 ตัน มีศักยภาพพอๆกับ"เดลต้า โฟร์ เฮฟวี่" ที่ผลิตโดยสหรัฐฯและโปรตอน-เอ็มของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งจรวดที่ทรงพลานุภาพมากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ปักกิ่งลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการอวกาศของพวกเขา ในความพยายามไล่ตามคู่แข่งสำคัญอย่างสหรัฐฯและตอกย้ำสถานะของพวกเขาในฐานะหนึ่งในชาติมหาอำนาจโลก โดยปัจจุบันพวกเขาใช้จ่ายเงินด้านโครงการอวกาศพลเรือนและโครงการอวกาศด้านการทหารแซงหน้ารัสเซียและญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว
ในปี 2003 จีนเป็นเพียงชาติที่ 3 ที่ส่งมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจร จากนั้นในเดือนมกราคม 2019 ปักกิ่งก็กลายเป็นชาติแรกที่ส่งยานสำรวจไปลงจอดบริเวณด้านมืดของดวงจันทร์ได้สำเร็จ
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จในการทดสอบการร่อนลงจอดของยานสำรวจดาวอังคาร ซึ่งมันถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเตรียมการจัดส่งไปลงจอดบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ภายในปี 2020 ขณะที่เขามีแผนประจำการยานโรเวอร์บนดาวอังคาร เพื่อสำรวจพื้นผิวของมัน
นอกจากนี้แล้วจีนยังวางเป้าหมายส่งสถานีอากาศซึ่งมีมนุษย์อวกาศประจำการอยู่ ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2022 โดยสถานีอวกาศเทียนกง จะถูกส่งขึ้นไปแทนที่สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีกำหนดเกษียณอายุ 2014
ขณะเดียวกันจีนกำลังหาทางสร้างฐานอวกาศนานาชาติบนดวงจันทร์ในอนาคตด้วย โดยมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ(3D printing)
โครงการอวกาศของจีนก่อความหวาดหวั่นแก่สหรัฐฯ ซึ่งกังวลว่าปักกิ่งจะคุกคามอิทธิพลของพวกเขาในอวกาศ ทำให้เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทำเนียบข่าวได้แถลงจัดตั้งเหล่าทัพใหม่ที่เรียกว่ากองกำลังอวกาศ ด้วยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า "อวกาศคืออาณาเขตแห่งการสู้รบทำศึก อาณาเขตใหม่สุดของโลก"