xs
xsm
sm
md
lg

ยานอวกาศของ‘โบอิ้ง’กลับคืนสู่พื้นโลก หลังเกิดข้อผิดพลาดต้องตัดภารกิจให้สั้นลง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>ยานอวกาศ “สตาร์ไลเนอร์” ของบริษัทโบอิ้ง ภายหลังร่อนลงจอดในทะเลทรายที่รัฐนิวเม็กซิโก ของสหรัฐฯ เมื่อก่อนรุ่งสางวันอาทิตย์ (22 ธ.ค.) </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – โบอิ้งเจอเรื่องยุ่งยากอีกแล้ว “สตาร์ไลเนอร์” ยานอวกาศลำใหม่ของบริษัท ซึ่งยังไม่มีลูกเรือขึ้นไปด้วย เดินทางกลับถึงโลกโดยร่อนลงในทะเลทรายรัฐนิวเม็กซิโกของสหรัฐฯเมื่อวันอาทิตย์ (22 ธ.ค.) 6 วันหลังจากมีปัญหาที่นาฬิกาจับเวลา ทำให้มันไม่สามารถขึ้นไปต่อเชื่อมกับยานอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ได้

จากภาพที่ออกอากาศโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) แสดงให้เห็นยานอวกาศลำนี้ร่อนลงแตะพื้นอย่างปลอดภัยท่ามกลางความมืดมิด หลังจากการตกลงกลับสู่โลกของมัน ชะลอความเร็วลงจากร่มชูชีพขนาดใหญ่ซึ่งสามารถกางออกทั้ง 3 ร่ม

นาซายังคงออกคำแถลงยกย่องเที่ยวบินนี้ว่าเป็นความสำเร็จ ถึงแม้ สตาร์ไลเนอร์ ไม่สามารถขึ้นไปถึง ไอเอสเอส และบรรลุภารกิจซึ่งมีความหมายเสมือนกับการซ้อมใหญ่แต่งตัวครบเครื่องครั้งสุดท้าย ก่อนที่มันจะถูกนำมาใช้ในการเดินทางที่มีลูกเรือไปด้วย

“เราเจอความท้าทายบางประการ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วสิ่งต่างๆ จำนวนมากดำเนินไปด้วยดี” จิม บริเดนสไตน์ ผู้บริหารของนาซากล่าวกับผู้สื่อข่าว โดยพูดถึงการลงจอดว่า ลงได้ “ตรงบริเวณตาวัวอย่างสมบูรณ์แบบ”

“เราไม่สามารถทำให้มันไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ เราไม่ได้ต่อเชื่อม แต่ยานอวกาศลำนี้ก็บินไปได้อย่างดีมากๆ เราได้ข้อมูลเยอะแยะที่จะนำมาศึกษาทบทวนกัน



<i>ร่มชูชีพชะลอความเร็วของยานสตาร์ไลเนอร์ ทำให้มันร่อนลงจอดได้อย่างราบรื่นและตรงเป้าหมายเมื่อวันอาทิตย์ (22ธ.ค.) </i>
“สตาร์ไลเนอร์” ยานอวกาศรูปทรงแคปซูลถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศจากแหลมแคนาเวอรัล รัฐฟลอริดา ในวันศุกร์ (20) แต่ไม่นานนักหลังจากแยกตัวออกมาจรวดส่ง “แอตลาส 5” แล้ว เครื่องทรัสเตอร์ซึ่งทำหน้าที่ผลักให้มันพุ่งขึ้นสูง ก็ไม่ทำงานตามแผนการที่วางไว้ ทำให้มันไม่สามารถขึ้นจนถึงวงโคจรระดับสูงเพียงพอที่จะเจอกับไอเอสเอส

ทั้งนี้วงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติลำนี้ อยู่ที่ความสูงประมาณ 400 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ภายหลังการคำนวณพบว่า ยานอวกาศลำนี้ได้ใช้เชื้อเพลิงขับเคลื่อนมากเกินไปเป็นเวลาหลายนาที โบอิ้งกับนาซาก็ถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจนำทางเอา สตราร์ไลเนอร์ กลับคืนสู่โลก โดยยังไม่ได้ทำตามภารกิจต่างๆ ที่ได้วางแผนเอาไว้

“บางทีมันจะสามารถยอมรับกันได้ที่จะไปสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็คือเที่ยวบินทดสอบที่มีลูกเรือ แต่เราต้องนำข้อมูลต่างๆ มาศึกษาทบทวนกันก่อนเป็นอันดับแรก” สตีฟ สติช รองผู้จัดการโครงการลูกเรือทางการพาณิชย์ของนาซา แถลง

“เราได้ทดสอบระบบแกนกลางของยานไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ... เรามีปัญหานิดหน่อยกับนาฬิกาจับเวลาในตอนเริ่มต้น”

<i>เจ้าหน้าที่โบอิ้ง, นาซา, และกองทัพบกสหรัฐฯ ปฏิบัติอยู่รอบๆ ยานสตาร์ไลเนอร์ หลังจากมันร่อนลงสู่พื้นโลก ณ ทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก วันอาทิตย์ (22 ธ.ค.) </i>
เที่ยวบินทดสอบนี้ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งในแผนการของนาซาที่จะยุติเรื่องที่สหรัฐฯต้องพึ่งพาอาศัยยานอวกาศของรัสเซีย ภายหลังอเมริกายุติโครงการยานกระสวยอวกาศในปี 2011

ความล้มเหลวของสตาร์ไลเนอร์ ยังนับเป็นความเพลี่ยงพล้ำร้ายแรงครั้งล่าสุดสำหรับโบอิ้ง ซึ่งยังคงเจ็บหนักไม่หายจากกรณีการตกของเครื่องบินโดยสารรุ่น 737 แมกซ์ ของบริษัท 2 ลำซ้อน เมื่อเดือนตุลาคม 2018 ที่อินโดนีเซีย และในเดือนมีนาคม 2019 ณ เอธิโอเปีย ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือไปทั้งหมดรวม 346 คน

ความพยายามของโบอิ้ง ที่จะผลักดันให้เครื่องบิน 737 แมกซ์ ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินได้อีกครั้ง ต้องประสบความล้มเหลว และบริษัทเพิ่งประกาศตัดสินใจว่าจะระงับการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น