เอพี - จีนวิจารณ์การจัดตั้งกองกำลังอวกาศของสหรัฐฯ ว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสันติภาพและความมั่นคงในห้วงอวกาศ ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนมติของประชาคมโลก
เกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงต่อสื่อมวลชนวันนี้ (24 ธ.ค.) ว่า จีน “มีความกังวลอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับการสถาปนากองกำลังอวกาศของอเมริกา และ “ขอคัดค้านอย่างเต็มที่”
“การกระทำของสหรัฐฯ ถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อมติของประชาคมโลกว่าด้วยการใช้ห้วงอวกาศในทางสันติ ทั้งยังบั่นทอนดุลยภาพทางยุทธศาสตร์และเสถียรภาพของโลก และเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสันติภาพและความมั่นคงในอวกาศ” เกิ่ง ระบุ
โครงการอวกาศของจีนรุดหน้าไปมากนับตั้งแต่มีการส่งมนุษย์ไปยังอวกาศครั้งแรกเมื่อปี 2003 และในเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็เผยรายงานที่ระบุว่า จีนและรัสเซียมีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งสามารถขัดขวางหรือทำลายดาวเทียมของสหรัฐฯ และพันธมิตรได้หากเกิดวิกฤตหรือความขัดแย้งขึ้น
เมื่อปี 2007 จีนได้ทดลองส่งขีปนาวุธออกไปทำลายดาวเทียมตรวจสอบสภาพอากาศของตนที่เลิกใช้งานแล้วโดยไม่ประกาศล่วงหน้า ซึ่งก่อให้เกิดขยะอวกาศเป็นจำนวนมากมาย
เกิ่ง ปฏิเสธความวิตกกังวลในประเด็นนี้ พร้อมระบุว่าเป็นเพียง “ข้อโต้แย้งอันไม่มีมูล” ที่สหรัฐฯ ใช้อ้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนเอง
โฆษกผู้นี้ยังย้ำด้วยว่า รัฐบาลจีนต่อต้านการติดอาวุธในห้วงอวกาศมาโดยตลอด และเชื่อว่านานาชาติควรจะเปิดเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยการควบคุมอาวุธในอวกาศกันใหม่
“เราหวังว่าประชาคมโลก โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจที่เกี่ยวข้อง จะมีทัศนคติที่รอบคอบและรับผิดชอบ เพื่อป้องกันไม่ให้อวกาศกลายเป็นสมรภูมิแห่งใหม่ และขอให้ร่วมมือกันเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความสงบในห้วงอวกาศ” เกิ่ง ระบุ
กองทัพสหรัฐฯ มองว่า การจัดตั้งกองกำลังอวกาศจะช่วยให้อเมริกาสามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติในอวกาศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะดาวเทียมนำร่องและดาวเทียมสื่อสาร และกองกำลังนี้ไม่ได้ถูกออกแบบหรือกำหนดวัตถุประสงค์ในการส่งทหารขึ้นไปรบแนวหน้าในห้วงอวกาศแต่อย่างใด
มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (20) ว่า อวกาศ “ได้แปรสภาพเป็นเขตแดนแห่งการทำสงคราม (war-fighting domain) ด้วยตัวของมันเอง”
อวกาศนั้นมีความสำคัญทั้งต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และชีวิตประจำวันของประชาชนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (Global Positioning System - GPS) ซึ่งให้บริการนำร่องทั้งแก่กองทัพและพลเรือนด้วยเครือข่ายดาวเทียมกว่า 20 ดวงที่ควบคุมโดยกองบินอวกาศที่ 50 (50th Space Wing) ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่ฐานทัพอากาศชรีฟเวอร์ในรัฐโคโลราโด
ทางด้านจีนก็มีเครือข่ายดาวเทียมนำร่องของตนเองที่เรียกว่า ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว(BeiDou Navigation Satellite System)