(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Mahathir bids to bridge a divided Muslim world
By Nile Bowie, Singapore
19/12/2019
มหาเธร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีผู้เฒ่าวัย 94 ปีของมาเลเซีย จัดการประชุมซัมมิต 4 วันในสัปดาห์นี้ที่กัวลาลัมเปอร์ ด้วยความวาดหวังว่าจะสร้างความสามัคคีขึ้นมาในหมู่ประเทศมุสลิม ทว่าเพียงแค่ดูจากชื่อผู้นำของประเทศที่เข้าและไม่เข้าร่วมการชุมนุมคราวนี้ มันก็ดูเหมือนว่าเวทีหารือนี้กลับกลายเป็นการตอกย้ำความแตกแยกในโลกอิสลามเสียมากกว่า
นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮาหมัด สามารถที่จะนำเอาชาวมุสลิมทั่วโลกเข้ามาสามัคคีรวมตัวกันได้หรือไม่ ท่ามกลางความแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ทั้งจากการสู้รบขัดแย้งกัน, การกดขี่บีฑา, และภาวะด้อยพัฒนา? นี่เป็นคำถามซึ่งบรรดาผู้สังเกตการณ์จะต้องตั้งขึ้นมา ขณะเหล่าผู้นำของโลกอิสลามและบรรดาผู้แทนมาชุมนุมกันในกรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อการประชุมซัมมิตเป็นเวลา 4 วัน โดยที่มีผู้นำปากกล้าวัย 94 ปีผู้นี้เป็นประธาน
“อิสลาม, ชาวมุสลิม, และประเทศของพวกเขากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต, อับจนหมดหนทาง, และไม่สมกับคุณค่าของศาสนาที่ยิ่งใหญ่นี้ ซึ่งมุ่งหมายที่จะเป็นความดีงามสำหรับมนุษยชาติ” มหาเธร์กล่าวในคำปราศรัยเปิดประชุมซัมมิตเมื่อวันพฤหัสบดี (19 ธ.ค.) โดยที่เขาระบุว่า บรรดาชาติมุสลิมได้ทำให้ “โลกสูญเสียความเคารพนับถือ” ไปแล้ว สืบเนื่องจากลัทธิก่อการร้ายอันรุนแรงป่าเถื่อน และการไม่เคารพในเรื่องสิทธิมนุษยชน
ซัมมิตที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ครั้งนี้ ตั้งจุดมุ่งหมายเอาไว้กว้างๆ ว่า เพื่อเป็นเวทีชนิดมุ่งให้เกิดผลลัพธ์จริงจังขึ้นในเรื่องความร่วมมือกันระหว่างชาวมุสลิม และได้รับการกล่าวขวัญว่า มันคือโอกาสสำหรับการสร้างความร่วมมือกัน ทั้งในเรื่องธรรมาภิบาลและการพัฒนาที่ยั่งยืน, การแก้ไขคลี่คลายภัยคุกคามจากลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่ง, และการผลักไสต่อต้านกระแสความหวาดกลัวหวาดระแวงอิสลาม
อย่างไรก็ดี ในสถานที่อื่นของโลกมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบีย มีสัญญาณที่ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า รู้สึกขัดเคืองไม่พอใจเกี่ยวกับระเบียบวาระและชาติที่เข้าร่วมเวทีประชุมนี้
มหาเธร์ขึ้นนั่งเป็นประธานการชุมนุมที่เคแอลครั้งนี้ เคียงข้างประมุขแห่งรัฐและประมุขฝ่ายบริหารของประเทศมุสลิมรายอื่นๆ ซึ่งก็รวมทั้ง ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) ของอิหร่าน, ประธานาธิบดีเรเจป ตอยยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdogan) ของตุรกี, และ ชัยค์ ตามิม บิน ฮามัด อัล ตอนี (Sheikh Tamim bin Hamad Al Thani) เจ้าอาหรับ (Emir) ผู้ปกครองประเทศกาตาร์
ทว่าผู้ที่ขาดหายไปอย่างน่าสังเกต ได้แก่ผู้นำของ 2 ชาติซึ่งมีประชากรมุสลิมอยู่มากที่สุดของโลก นั่นคือ อินโดนีเซีย กับ ปากีสถาน ตลอดจน ซาอุดีอาระเบีย ที่ถือเป็นผู้นำของชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ของโลก รวมทั้งเป็นผู้พิทักษ์รักษาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด 2 แห่งของอิสลาม
หนึ่งวันก่อนหน้ากระบวนการประชุมซัมมิตจะเริ่มต้นขึ้น นายกรัฐมนตรี อิมรอน ข่าน (Imran Khan) ของปากีสถาน ได้ประกาศถอนตัว ทั้งๆ ที่เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำซึ่งเสนอให้จัดเวทีหารือเช่นนี้ขึ้นในตอนแรก สื่อมวลชนของปากีสถานพากันรายงานโดยอ้างอิงพวกแหล่งข่าววงการทูตซึ่งกล่าวว่า การยกเลิกในนาทีสุดท้ายของข่านคราวนี้ สืบเนื่องจากแรงกดดันจากซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ ข่านประกาศถอนตัวไป ไม่นานนักหลังจากการหารือทวิภาคีกับเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน (Mohammad bin Salman) มกุฎราชกุมารและผู้ปกครองในทางพฤตินัยของซาอุดีอาระเบีย ในกรุงริยาดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ถึงแม้สำนักนายกรัฐมนตรีของมหาเธร์ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง ปฏิเสธว่าผู้นำปากีสถานไม่ได้ถูกซาอุดีอาระเบียบีบคั้นไม่ให้เข้าร่วม และยืนยันว่าข่านงดเดินทางมา เนื่องจาก “ประเด็นอื่นๆ”
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า เมื่อก่อนหน้านี้ในสัปดาห์นี้ มหาเธร์ได้หารือทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อย่างเร่งด่วนกับ กษัตริย์ซัลมาน อับดุลอาซิส อัล ซาอุด (King Salman Abdulaziz Al Saud) ของซาอุดีอาระเบีย เพื่อกราบทูลยืนยันว่า ซัมมิตเคแอลครั้งนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะบ่อนทำลายหรือจะเข้าแทนที่ องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation ใช้อักษรย่อว่า OIC) ซึ่งริยาดมีอิทธิพลครอบงำอยู่ เรื่องนี้ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าราชอาณาจักรแห่งนี้มีความรู้สึกขุ่นข้องต่อการจัดเวทีประชุมคราวนี้ขึ้นมาอย่างล้ำลึกขนาดไหน
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ซาอุดีอาระเบียได้จัดส่งคณะผู้แทนระดับสูง หรือกระทั่งได้รับเชื้อเชิญให้เข้าร่วมซัมมิตเคแอลหรือไม่ แต่การปรากฏตัวของเหล่าผู้นำทั้งจาก กาตาร์ และอิหร่าน ซึ่งเป็นศัตรูระดับภูมิภาคของริยาด ตลอดจนจากตุรกี ซึ่งสายสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียได้ย่ำแย่เลวร้ายลงมาก ภายหลังกรณีฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi) นักหนังสือพิมพ์ชาวซาอุดีฯ เมื่อปีที่แล้ว ที่สถานกงสุลของซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบุล ของตุรกี เหล่านี้ได้รับการจับตามองจากนักวิเคราะห์บางรายว่า คือการท้าทายความเป็นผู้นำในโลกอิสลามของราชอาณาจักรแห่งนี้
เจมส์ ดอร์ซีย์ (James Dorsey) นักวิจัยอาวุโส ณ วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา เอส ราชารัตนัม (S Rajaratnam School of International Studies) ในสิงคโปร์ มองการชุมนุมกันในมาเลเซียครั้งนี้ว่า เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความคลางแคลงใจที่มีอยู่มากเกี่ยวกับทิศทางของคณะผู้นำซาอุดีอาระเบีย และ เส้นทางดำเนิน “นโยบายการต่างประเทศแบบเดินดุ่ยบุกหน้าไปคนเดียวชนิดแทบไม่ไตร่ตรองยั้งคิด” ของราชอาณาจักรแห่งนี้ภายใต้การนำของเจ้าชายมกุฎราชกุมารพระชนมายุ 34 พรรษา
“ตั้งแต่ที่มหาเธร์กลับคืนมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับซาอุดีอาระเบียก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะใกล้ชิดกันอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ เห็นได้ชัดเจนว่าริยาดนั้นต้องการมีฐานะเป็นผู้นำอย่างชนิดไม่มีใครมาแข่งขันด้วย และเมื่อดูจากคำจำกัดความนี้แล้ว มหาเธร์ก็กำลังทำสิ่งที่เป็นการคัดค้านกับเรื่องนี้” ดอร์ซีย์ บอกกับเอเชียไทมส์ “พวกซาอุดีฯนั้นไม่ชอบการถูกท้าทาย และแน่นอนว่าไม่ชอบให้ความเป็นผู้นำของพวกเขาถูกท้าทาย”
ทางด้าน มุสตาฟา อุซซุดดิน (Mustafa Izzuddin) นักวิเคราะห์การเมืองซึ่งทำงานอยู่ที่ สถานบันเอเชียใต้ศึกษา (Institute of South Asian Studies) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore ใช้อักษรย่อว่า NUS) ก็มีทัศนะในทำนองเดียวกัน โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่าซาอุดีอาระเบียมองตัวเองว่า กำลังทำหน้าที่“แสดงความเป็นผู้นำระดับภูมิภาคทั้งในทางพฤตินัยและในทางนิตินัย” ให้แก่โลกมุสลิมอยู่แล้ว ด้วยการเป็นเจ้าภาพของ OIC
“ถึงแม้ซัมมิตเคแอลสามารถที่จะมองได้ว่า เป็นแค่ความริเริ่มระดับมินิของพวกที่มีฐานะแค่ระดับรองๆ คอยยืนอยู่ข้างๆ แต่มันก็ถูกจับตามองถูกเข้าใจจากพวกประเพณีนิยมที่เป็นพวกผู้เฝ้าประตูของเวทีประชุมพหุภาคีอย่าง OIC ว่า เป็นภัยคุกคามต่ออิทธิพลของพวกเขา และกำลังเป็นการสร้างความแตกแยกให้แก่ประชาคมมุสลิม” เขากล่าว พวกเขาเห็นว่า “ตราบใดที่มันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับโลกมุสลิมแล้ว OIC ควรที่จะเป็นเวทีสำหรับอิสลามเพียงเวทีเดียวเท่านั้น
“แม้กระทั่งความพยายามอย่างบางเฉียบที่สุดที่จะบ่อนทำลายความเป็นผู้นำของพวกเขา ก็จะเผชิญกับการตอบโต้ผลักไสกลับอย่างรวดเร็ว โดยคณะผู้นำซาอุดีฯ ไม่ว่าจะเป็นการตอบโต้กันตรงๆ หรือโดยผ่านพวกตัวแทนก็ตามที” มุสตาฟา กล่าวต่อ พร้อมกับเสริมว่า การที่นายกรัฐมนตรีปากีสถานประกาศถอนตัวออกไปในนาทีสุดท้ายเช่นนี้ เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า “การทูตแบบพร้อมเซ็นเช็กจ่ายเงิน” (checkbook diplomacy) ของริยาดนั้น ยังคงมีอำนาจเหนืออิสลามาบัด และบรรดาผลประโยชน์แห่งชาติของปากีสถาน
สถานการณ์เช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นมา ถึงแม้ว่ามาเลเซียกำลังเดินหน้านโยบายการต่างประเทศของตนไปในทิศทางใกล้ชิดกับปากีสถานมากยิ่งกว่าเคียงข้างอินเดีย นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าว ทั้งนี้ระหว่างไปกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มหาเธร์ทำให้นิวเดลีขุ่นข้องหมองใจเมื่อเขาบอกว่า อินเดีย “ได้รุกรานและยึดครองแคชเมียร์” ดินแดนที่ประชากรแทบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิม และเป็นข้อพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันมายาวนานหลายสิบปีระหว่างอินเดียกับปากีสถาน
ในคำปราศรัยดังกล่าว มหาเธร์ยังวิพากษ์โจมตีคณะผู้นำของพม่า ประเทศซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศนั้น กระทั่งกล่าวพาดพิงถึงวิกฤตการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐยะไข่ (Rakhine state) ของพม่าที่ชาวโรฮิงญาพำนักอาศัยอยู่ ว่าเป็น “การทำลายล้างเผ่าพันธุ์” เขายังพูดถึงเรื่องการแย่งยึดดินแดนของชาวปาเลสไตน์ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งรัฐอิสราเอล ว่าคือ “ต้นกำเนิดของลัทธิก่อการร้าย”
มหาเธร์นั้น แสดงจุดยืนแบบนักเคลื่อนไหวเรียกร้องมานานแล้ว ในประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนพวกชาติด้อยพัฒนาและโลกมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในการออกมาเชิดชูสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์และการต่อต้านคัดค้านไม่ให้รับรองอิสราเอล พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ในโลกตะวันตกพากันกล่าวหาเขาว่ามีทัศนะแบบต่อต้านยิว ซึ่งมหาเธร์ตอบโต้ยืนยันมาโดยตลอดว่าเป็นการประทับตราใส่เขาอย่างไม่เป็นธรรม
ถึงแม้ได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรรายหนึ่งของสหรัฐฯ แต่มหาเธร์ก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยต่อนโยบายการต่างประเทศของวอชิงตัน ทั้งในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่เวลานี้ และครั้งที่ดำรงตำแหน่งนี้ในอดีต (ช่วงปี 1981-2003)
ระยะหลังๆ มานี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียผู้นี้ได้พูดอย่างไม่มีอ้อมค้อมว่าคัดค้านการที่คณะบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ รับรองให้นครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ตลอดจนการที่อเมริกาใช้มาตรการแซงก์ชั่นอิหร่าน ตามอำเภอใจของตนฝ่ายเดียว
อย่างไรก็ดี ฝ่ายต่างๆ จำนวนมากจะเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่า บรรดาผู้ขึ้นพูดในการประชุมซัมมิตเคแอลครั้งนี้ จะกล่าวอย่างไรในประเด็นเรื่องการปฏิบัติของจีนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ ในแคว้นซินเจียง ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของแดนมังกร ปักกิ่งนั้นถูกโลกตะวันตกวิพากษ์โจมตีอย่างกว้างขวางว่ากำลังคุมขังกักกันชาวอุยกูร์เป็นจำนวนมากมาย ในสถานที่ปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งปักกิ่งบรรยายว่าเป็นศูนย์ฝึกอบรมทักษะทางอาชีพ
พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของจีนพากันออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการทำความผิดอะไร และปกป้องการจัดสถานที่อันใหญ่โตมโหฬารเหล่านี้ ว่าเป็นความจำเป็นสำหรับการสกัดกั้นขัดขวางพวกลัทธิสุดโต่งทางศาสนา ถึงแม้พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งก็รวมถึงเหล่ารัฐบาลโลกตะวันตกด้วย กล่าวหาปักกิ่งว่ากำลังดำเนินแผนการผสมกลมกลืนแบบใช้กำลังบังคับที่มีขนาดขอบเขตกว้างขวางยิ่ง โดยที่มีบางคนบางฝ่ายเรียกว่า เป็นการจัดตั้ง “ค่ายกักกัน”
กระนั้น สำหรับในโลกอิสลามแล้ว นโยบายต่างๆ ของจีนในซินเจียงที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงกันหนักโดยเฉพาะจากโลกตะวันตก ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยน้อยมากจากพวกผู้นำระดับชาติทั้งหลาย โดยที่พวกนักวิเคราะห์มองว่า ผู้นำชาติมุสลิมเหล่านี้มีข้อคำนึงในทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมไปถึงการลงทุนภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI) ซึ่งกำลังส่งผลให้พวกเขาใช้จุดยืนที่ติติงแค่เบาๆ หรือกระทั่งเงียบกริบไปเลยในประเด็นปัญหานี้
มหาเธร์ก็ยอมรับเรื่องนี้อย่างชนิดไม่ใช่บุคลิกของเขาเอาเสียเลยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อเขากล่าวว่า ปักกิ่งนั้น “ทรงอำนาจ” เกินไป ทำให้ไม่ถูกตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเรื่องอุยกูร์
“คุณย่อมไม่ลงแรงใช้ความพยายามและทำอะไรบางอย่างซึ่งถึงยังไงก็ต้องประสบความล้มเหลวอยู่ดี ดังนั้น มันย่อมเป็นการดีกว่าที่จะแสวงหาหนทางอื่นๆ ที่รุนแรงน้อยกว่า ซึ่งไม่ได้เป็นปรปักษ์ต่อจีนมากจนเกินไป เพราะจีนนั้นเป็นประโยชน์สำหรับพวกเรา” เขากล่าวเช่นนี้ตามรายงานของสื่อมวลชนสำนักต่างๆ
“ตัวมหาเธร์เองไม่ได้พูดตรงไปตรงมาในเรื่องซินเจียง ทว่าพวกเจ้าหน้าที่ของเขาทำนะครับ นอกจากนั้นตัวเขาก็เป็นหนึ่งในผู้นำคนแรกๆ ซึ่งท้าทายข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และขอเจรจาปรับเงื่อนไขเสียใหม่” ดอร์ซีย์ นักวิจัยของวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา เอส ราชารัตนัม บอก “เมื่อพูดกันถึงที่สุดแล้ว คงต้องมีมติมหาชนจึงจะทำให้จุดยืนของการให้ความสนับสนุนจีน หรืออย่างน้อยที่สุดก็เงียบเฉยนั้น เป็นสิ่งที่จะทำกันต่อไปไม่ได้”
ด้าน มุสตาฟา แห่ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า “ความเป็นพี่น้องกันของชาวมุสลิม” ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดำเนินไปในสุญญากาศ เขาพูดต่อไปว่า ความพยายามต่างๆ ในการสร้างความสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นมาภายในโลกอิสลามนั้น “ถูกทดสอบอยู่เรื่อยๆ จากความไม่ลงรอยกันในทางภูมิรัฐศาสตร์ และผลประโยชน์แห่งชาติซึ่งบงการโดยการเมืองภายในประเทศ, ความมั่นคงภายนอกประเทศ, และความสำคัญอันดับหนึ่งทางเศรษฐกิจ”
ขณะที่ฝ่ายต่างๆ และผู้คนจำนวนมากยังคงไม่แน่ใจว่า การชุมนุมกันที่กัวลาลัมเปอร์คราวนี้ จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญขึ้นมา ท่ามกลางฉากหลังของโลกอิสลามที่เกิดการแตกขั้วแบ่งข้างและการปะทะขัดแย้งกัน ทว่าแทบไม่มีใครเลยที่โต้แย้งระแวงสงสัยความจริงใจต่อความพยายามของมหาเธร์ในการเดินหน้าเพิ่มพูนผลประโยชน์และเกียรติศักดิ์ศรีของบรรดาชาติมุสลิมและประชาชนมุสลิม
มาเลเซีย “ได้กลายเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นมหาอำนาจระดับกลางซึ่งมีบุคลิกลักษณะแบบอิสลาม” สืบเนื่องจากความพยายามอย่างอุตสาหะของมหาเธร์และเหล่าผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา ในการทำให้เกิดความสมานฉันท์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในตลอดทั่วทั้งโลกมุสลิม มุสตาฟา บอก “การประชุมซัมมิตเคแอลนี้ก็สามารถที่จะมองภายในบริบทเช่นนี้ได้ มันเป็นส่วนแกนกลางส่วนหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศของมาเลเซีย ที่จะแสดงบทบาทเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในกิจการของประชาคมมุสลิมทั่วโลก”
สำหรับ เซลมา บาร์ดัคซี (Selma Bardakci) ผู้ประสานงานผู้หนึ่ง กับทางสภาธุรกิจเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Business Council) และคณะกรรมการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศแห่งตุรกี (Foreign Economic Relations Board of Turkey ใช้อักษรย่อว่า DEİK) กล่าวกับเอเชียไทมส์ว่า ความเป็นผู้นำที่ปากกล้าของมหาเธร์บนเวทีโลก ได้เพิ่มพูนความตระหนักรับรู้ในวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมหลายหลาก และเป็นที่ยอมรับของชาวมุสลิมในทางสากล
“เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตระหนักยอมรับถึงความเป็นผู้นำและการเป็นแรงบันดาลใจอย่างมีความหมายมากของมหาเธร์ในโลกมุสลิม” เซลมา กล่าว “ด้วยความเปิดเผยตรงไปตรงมาของเขาต่อประชาคมทั่วโลก เขาก็กำลังสร้างชื่อเสียงระดับระหว่างประเทศให้แก่มาเลเซีย และกำลังแผ่อิทธิพลบารมีแห่ง “อำนาจละมุน” (soft power) ของมาเลเซีย โดยการทำให้ประเทศของเขามีจุดยืนต่อต้านคัดค้านความไม่ยุติธรรมและการกดขี่ข่มเหงตลอดทั่วถ้วน”