เอเอพี – ภาพเขียนผนังถ้ำในอินโดนีเซียที่เผยให้เห็นฉากการล่าสัตว์ก่อนประวัติศาสตร์อาจเป็นงานศิลปะรูปลักษณ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีมาตั้งแต่เกือบ 44,000 ปีที่แล้ว บ่งชี้ถึงวัฒนธรรมศิลปะขั้นสูง อ้างจากงานวิจัยล่าสุด
ภาพขนาด 4.5 เมตรที่ถูกพบเมื่อ 2 ปี่แล้วบนเกาะสุลาเวสีแสดงให้เห็นฝูงสัตว์ป่ากำลังถูกไล่ล่าโดยกลุ่มนักล่าครึ่งมนุษย์ที่ถือหอกและเชือก งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันพุธ (11) ระบุ
ด้วยการใช้เทคโนโลยีระบุเวลา ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยกริฟฟิทท์ในออสเตรเลีย ระบุว่า พวกเขายืนยันได้ว่า ภาพเขียนผนังถ้ำนี้มาอายุอย่างน้อย 43,900 ปีในช่วงยุคปลายหินเก่า (Upper Paleolithic)
“ตามความเข้าใจของเรา ปัจจุบัน ฉากการล่านี้เป็นบันทึกภาพเล่าเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดและงานศิลปะรูปลักษณ์ชิ้นแรกๆ ในโลก”
การค้นพบนี้เกิดขึ้นหลังจากภาพสัตว์ในถ้ำแห่งหนึ่งบนเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซียถูกระบุว่ามีอายุอย่างน้อย 40,000 ปี
เป็นเวลาหลายปีที่งานศิลปะถ้ำถูกคิดว่ามีต้นกำเนิดมาจากยุโรป แต่ภาพเขียนในอินโดนีเซียท้าทายทฤษฎีดังกล่าว
บนเกาะสุสาเวสีเพียงเกาะเดียวก็มีถ้ำหรือที่หลับภัยที่มีภาพเขียนโบราณแล้วอย่างน้อย 242 แห่ง และมีการค้นพบสถานที่ใหม่ๆ ในทุกๆ ปี ทีมวิจัย ระบุ
ในภาพเขียนชิ้นนี้ กลุ่มนักล่าถูกเขียนด้วยสีแดงเข้มและมีร่างกายเป็นมนุษย์แต่หัวเป็นสัตว์ต่างๆ เช่น นกและสัตว์เลื้อยคลาน
ภาพเขียนดังกล่าวซึ่งอยู่ในสภาพเลือนรางแสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมศิลปะขั้นสูงมีมาตั้งแต่ 44,000 ปีที่แล้ว สอดแทรกด้วยนิทานพื้นบ้าน ตำนานศาสนา และความเชื่อทางจิตวิญญาณ ทีมวิจัย ระบุ
“ภาพๆ นี้อาจไม่เพียงถูกพิจารณาว่าเป็นงานศิลปะรูปลักษณ์ชิ้นแรกๆ ในโลก แต่ยังเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการบรรยายเรื่องราวในศิลปะยุคปลายหินเก่า” ทีมวิจัย ระบุ
“เรื่องนี้น่าสังเกต เมื่อมองว่า ความสามารถในการสร้างเรื่องแต่งอาจเป็นขั้นสุดท้ายที่สำคัญที่สุดในประวัติการวิวัฒนาการของภาษามนุษย์และการพัฒนาของรูปแบบการรับรู้สมัยใหม่”