xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : เทรนด์ของคนรุ่นสหัสวรรษ ‘เช่า’ แทนที่จะ ‘ซื้อ’ ตั้งแต่โซฟาไปจนถึง ‘ไอโฟน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>วันดิตา โมราร์กา พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ขณะนั่งอยู่รอบๆ เฟอร์นิเจอร์ที่เช่ามา โดยในอินเดียเวลานี้ คนหนุ่มสาวรุ่นสหัสวรรษจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังนิยม “เช่า” มากกว่า “ซื้อ” เครื่องเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ต่างๆ  แม้กระทั่งเมื่อนำมาใช้ในธุรกิจของตน (ภาพถ่ายเมื่อ 26 ต.ค. 2019) </i>
สปันดัน ชาร์มา เป็นหนุ่มชาวอินเดียรุ่นสหัสวรรษ (millennials ผู้คนรุ่นที่เกิดในช่วงประมาณปี 1981-1996 ซึ่งเติบโตขึ้นมาในยุคข้อมูลข่าวสาร) ในวัย 29 ปี เขาไม่ได้เป็นเจ้าของห้องคอนโดฯ, รถยนต์ หรือแม้กระทั่งเก้าอี้นั่งสักตัวด้วยซ้ำ เขาคือหนึ่งในคนรุ่นสหัสวรรษจำนวนมากขึ้นทุกทีซึ่งกำลังต่อต้านมาตรฐานปกติที่เคยยึดถือกันมาแต่เดิมโดยแทนที่จะซื้อหามาเป็นเจ้าของ พวกเขากลับนิยมเลือกที่จะเช่าทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องเฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงไอโฟน

“คนรุ่นสหัสวรรษอย่างรุ่นพวกผมนี่ต้องการเสรีภาพ และสิ่งที่เมื่อก่อนมองกันว่าคือความมั่นคงนะ มาถึงตอนนี้กลับมองกันว่าเป็นสัญญาณของการถูกผูกมัดไปไหนไม่ได้” ชาร์มา บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี

“พ่อแม่ผมไม่สามารถเข้าใจได้ในเรื่องคอนเซ็ปต์ของการเช่าเฟอร์นิเจอร์เอาเลย พวกท่านไม่เคยที่จะยอมต้อนรับแนวความคิดอย่างนี้หรอก” เขากล่าว

“พวกท่านเอาแต่บอกว่า การซื้อเฟอร์นิเจอร์ดีกว่าการเช่าเยอะเมื่อมองกันในระยะยาว”

ด้วยเงินค่าเช่าจำนวน 4,247 รูปี (ราว 1,800 บาท) ต่อเดือน ผู้บริหารซึ่งตั้งฐานอยู่ในเมืองมุมไบรายนี้ได้เฟอร์นิเจอร์มาประดับตกแต่งที่พำนักของเขาทั้งชุด ตั้งแต่ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น, และพื้นที่รับประทานอาหาร, ไปจนถึงตู้เย็นและเตาไมโครเวฟ

ชาร์มาไม่ได้ใช้ชีวิตเช่นนี้อยู่เพียงคนเดียว หนุ่มสาวอินเดียนับแสนๆ ทีเดียวกำลังเปลี่ยนจากการซื้อมาเป็นการเช่า เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตแบบที่มีข้อผูกพันมัดตรึงลดน้อยลง

แม้กระทั่งธุรกิจต่างๆ ก็กำลังใช้วิธีเช่าเครื่องเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งออฟฟิศ วันดิตา โมราร์กา ผู้ประกอบการที่กิจการของเธอกำลังเริ่มเติบโต บอก

เมื่อตอนที่ โมราร์กา จัดตั้ง “วันฟิวเจอร์คอลเล็กทีฟ” (One Future Collective) กิจการไม่หวังผลกำไรซึ่งมุ่งส่งเสริมสิทธิสตรีของเธอขึ้นมาในปี 2017 เธอเช่าแทบทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอจำเป็นต้องใช้ แล้วเอาเงินซึ่งประหยัดได้จากการไม่ต้องชำระหมดก้อนโตในครั้งเดียว มาเป็นเงินเดือนจ่ายให้แก่พนักงานของเธอซึ่งมีจำนวน 25 คน

“ตั้งแต่โต๊ะเขียนหนังสือไปจนถึงเก้าอี้ และแม้กระทั่งเครื่องแล็ปท็อป ฉันเช่ามาทั้งหมดเลยในราคาที่สมเหตุสมผล” ผู้ประกอบหญิงวัย 25 ผู้นี้บอก

“ระบบอย่างนี้เปิดทางให้ฉันสามารถใช้ความเสี่ยงได้มากขึ้น ... แล้วถ้าอะไรๆ มันย่ำแย่เลวร้าย เราก็แค่เก็บกระเป๋าม้วนเสื่อโดยไม่ต้องสูญเสียเงินลงทุนก้อนโตๆ จากนั้นก็ไปเริ่มต้นใหม่ในที่อื่นๆ”

<i>ในภาพซึ่งถ่ายเมื่อ 26 ต.ค. 2019  วันดิตา โมราร์กา ผู้ประกอบการหญิงวัย 25 ปี โพสให้ถ่ายภาพขณะเธอนั่งอยู่รอบๆ บรรดาเฟอร์นิเจอร์ที่เช่ามา ระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีจากเมืองมุมไบ </i>
หนุ่มสาวในที่อื่นๆ ก็ทำแบบนี้

ตั้งแต่แอปบริการเรียกใช้ยานพาหนะ อย่าง แกร็บ, อูเบอร์ ไปจนถึงสถานที่ทำงานแบบผู้ประกอบการหลายๆ รายมาใช้ร่วมกัน (โคเวิร์กกิง สเปซ) เศรษฐกิจแบบแบ่งปันแลกเปลี่ยนกัน (sharing economy) กำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ซึ่งได้รับการคาดหมายกันว่าจะสามารถสร้างรายรับได้ถึงปีละ 335,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 ทั้งนี้ตามตัวเลขของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสอบบัญชีและที่ปรึกษาธุรกิจอย่าง ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส

ในสหรัฐฯ เว็บไซต์อย่าง Rent the Runway และ Nuuly เสนอทางเลือกอื่นๆ ให้แก่พวกลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องแฟชั่น แทนที่จะต้องซื้อหาเป็นเจ้าของเสื้อผ้าชุดสวยกันอย่างเดียว ขณะที่ในจีน ผู้บริโภคสามารถเช่ารถบีเอ็มดับเบิลยูมาใช้ โดยแค่จิ้มสมาร์ตโฟนของตนเอง

ในอินเดีย ความนิยมที่เพิ่มสูงทำให้เกิดธุรกิจให้เช่าเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์รายใหม่ๆ ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นต้นว่า Furlenco, RentoMojo และ GrabOnRent -- และแม้กระทั่งพวกแอปป์ให้เช่าเครื่องเพชรเครื่องอัญมณี

ภาคธุรกิจนี้กำลังกลายเป็นจุดสว่างสดใสท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างเลวร้ายของอินเดีย โดยที่ความต้องการของผู้บริโภคกำลังอ่อนตัวลงจนทำให้ยอดขายพากันย่ำแย่ รวมทั้งในภาครถยนต์ ซึ่งถือเป็นภาคที่สะท้อนภาพรวมของตลาดแดนภารตะได้เป็นอย่างดี

เฉพาะตลาดให้เช่าเครื่องเฟอร์นิเจอร์ของอินเดียอย่างเดียวเท่านั้น เป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีมูลค่าสูงไปถึงระดับ 1,890 ล้านดอลลาร์ได้ภายในปี 2025 ทั้งนี้ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษา รีเสิร์ชเนสเตอร์

“เราคาดหมายว่าจะขยายตัวจนได้ออเดอร์ 1 ล้านรายภายในเวลาไม่ถึง 30 เดือน” กีตันช์ บามาเนีย ผู้ก่อตั้ง RentoMojo กล่าวกับเอเอฟพี

กิจการซึ่งตั้งฐานอยู่ในเมืองบังกาลอร์ แห่งนี้ ให้เช่าทั้งเครื่องเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ, อุปกรณ์ออกกำลังกาย, ไอโฟน, และอุปกรณ์ดูแลบ้านสมาร์ตโฮม อย่างเช่น Google Home และ Amazon Echo

“การให้เช่าสมาร์ทโฟน ไปได้ดีสำหรับคนวัยหรุ่มสาว เนื่องจากพวกเขาเสามารถที่จะอัปเกรดไปใช้รุ่นล่าสุดที่เปิดตัวออกมาในราคาที่ถูกกว่า โดยไม่จำเป็นต้องกลุ้มใจสร้างภาระให้แก่การเงินของพวกเขา” บามาเนีย กล่าวต่อ

ขณะที่คู่แข่งรายหนึ่งอย่าง Furlenco ซึ่งเปิดตัวในปี 2012 โดย อาจิต คาริมปานา อดีตวาณิชธนกร บอกว่ากำลังให้บริการแก่ลูกค้ามากกว่า 100,000 ราย และคาดหมายว่าจะทำรายรับได้สูงกว่า 300 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2023

“พฤติกรรมของลูกค้าโดยภาพรวมกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นเจ้าของมาเป็นการเช่า โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นสหัสวรรษ เนื่องจากความยืดหยุ่นและการไม่ต้องมีภาระผูกพันซึ่งระบบนี้เสนอให้” คาริมปานา กล่าว

เครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งว่าแนวโน้มนี้น่าจะเป็นเทรนด์ที่ยืนยาวไม่ใช่แฟชั่นซึ่งนิยมกันประเดี๋ยวประด๋าว ได้แก่การที่ อีเกีย ยักษ์ใหญ่เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดนประกาศออกมาแล้วว่า มีแผนจะทดสอบโมเดลที่อิงอยู่กับการรับสมัครสมาชิกในตลาดต่างๆ 30 แห่งในปี 2020

สำหรับผู้คนรุ่นสหัสวรรษจำนวนมากแล้ว การเลือกที่จะใช้วิธีเช่าถือเป็นการเลือกที่จะเดินทางในเส้นทางใหม่ๆ ซึ่งไม่ค่อยมีใครเดินกันมาก่อน พอๆ กับทางเลือกเพื่อการประหยัดเงิน

เมื่อตอนที่คุณพ่อของ ชาร์มา อายุ 29 ปี เขาแต่งงานแล้วและกำลังทำงานอยู่ในภาคธนาคารของรัฐ เขายังกำลังเก็บออมเงินทองเพื่อซื้อห้องชุดพักอาศัยและรถยนต์

แต่ ชาร์มา วาดฝันชีวิตที่แตกต่างออกไปให้แก่ตัวเขาเอง เป็นชีวิตซึ่งโฟกัสไปที่ “การลงทุนในเรื่องประสบการณ์”

“การอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ 5 เมืองในประเทศ 2 ประเทศภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี อาจจะเป็นสิ่งที่คุณพ่อของผมไม่เคยคิดฝันเลย ... แต่ว่านี่แหละคือความเป็นจริงของผม” ชาร์มา บอก พร้อมกับพูดต่อว่า แอปป์ให้เช่าเฟอร์นิเจอร์บางรายยังเสนอบริการย้ายไปที่ใหม่ให้ฟรีๆ ด้วยซ้ำ

“มันคือเหรียญตราแห่งความภาคภูมิใจสำหรับคนรุ่นสหัสวรรษนะครับ ที่เราสามารถจะเก็บข้าวเก็บของแล้วก็โยกย้ายไปอยู่ที่อื่นได้ภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์”

(เก็บความจากเรื่อง From armchairs to iPhones, India's millennials rent it all ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น