xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ ลงนามกฎหมายหนุนสิทธิมนุษยชนฮ่องกง ขณะที่จีนขู่จะตอบโต้อย่างสาสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ จรดปากกาลงนามบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฮ่องกงแล้วเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) ขณะที่จีนขู่จะใช้มาตรการตอบโต้อย่างสาสมหากสหรัฐฯ ยังคงแทรกแซงกิจการภายในฮ่องกง

กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง (Hong Kong Human Rights and Democracy Act) ผ่านการรับรองจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ด้วยมติเกือบจะเป็นเอกฉันท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยกำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องส่งรายงานรับรองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งว่าฮ่องกงคงยังคงมีสถานะการปกครองตนเองอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และควรได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐฯ เพื่อคงความเป็นศูนย์กลางการเงินโลกต่อไป

กฎหมายฉบับนี้ยังมีบทลงโทษสำหรับบุคคลที่พัวพันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง

สภาคองเกรสยังผ่านร่างกฎหมายฉบับที่ 2 ซึ่งกำหนดห้ามสหรัฐฯ ส่งออกอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน เช่น แก๊สน้ำตา, สเปรย์ พริกไทย, กระสุนยาง และปืนช็อตไฟฟ้าให้แก่ตำรวจฮ่องกง ซึ่ง ทรัมป์ ได้ลงนามบังคับใช้แล้วเช่นกัน

“ผมลงนามในกฎหมายเหล่านี้ด้วยความเคารพต่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง, ประเทศจีน และประชาชนชาวฮ่องกง เราบังคับใช้กฎหมายนี้ด้วยความหวังว่า คณะผู้นำและผู้แทนของจีนและฮ่องกงจะสามารถพูดคุยกันฉันมิตรเพื่อแก้ไขความเห็นต่าง ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างถาวรของทุกฝ่าย” ทรัมป์ ระบุในถ้อยแถลง

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ปักกิ่งเคยสัญญาว่าจะยอมให้ฮ่องกงซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมอังกฤษมี “อำนาจปกครองตนเองขั้นสูง” เป็นเวลา 50 ปีหลังถูกส่งมอบกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนในปี 1997 ซึ่งคำสัญญานี้ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ฮ่องกงได้รับสถานะพิเศษตามกฎหมายของสหรัฐฯ

หนุ่มสาวฮ่องกงซึ่งออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลตลอด 6 เดือนที่ผ่านมามองว่าเสรีภาพของพวกเขากำลังถูกจีนลิดรอน

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ ไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะยอมลงนามหรือใช้สิทธิ์วีโตกฎหมายสิทธิมนุษยชนฮ่องกง ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะผลักดันข้อตกลงการค้ากับจีนให้สำเร็จก่อนเข้าสู่ฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้งอย่างเต็มตัวในปี 2020

เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งชี้ว่า การตัดสินใจของ ทรัมป์ ในครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะมติส่วนใหญ่จากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำให้อำนาจวีโตของประธานาธิบดีไร้ผลโดยปริยาย รวมถึงผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตฮ่องกงเมื่อต้นสัปดาห์นี้ที่ฝ่ายประชาธิปไตยคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย

ทั้งนี้ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สามารถหักล้างอำนาจวีโตของ ทรัมป์ ได้ด้วยมติเกิน 2 ใน 3 และหาก ทรัมป์ เลือกที่จะนิ่งเฉย ร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนฮ่องกงก็จะมีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติอยู่ดีในวันที่ 3 ธ.ค.


กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงวันนี้ (28) ว่า สหรัฐฯ จะต้องยอมรับผลจากมาตรการตอบโต้ของจีน หากยังคง “กระทำการตามอำเภอใจ” ในเรื่องที่เกี่ยวกับฮ่องกง ขณะที่ฝ่ายบริหารฮ่องกงชี้ว่ากฎหมายของสหรัฐฯ เป็นการ “ส่งสัญญาณผิดๆ” ให้ผู้ประท้วง และยังเข้าข่าย “แทรกแซง” กิจการภายในของฮ่องกงอย่างชัดเจน

ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาคุยโวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ตนเป็นคนขอร้องให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยกเลิกแผนส่งทหารนับล้านเข้าไปบดขยี้ผู้ประท้วงฮ่องกง และยังเตือน สี ด้วยว่าการทำเช่นนั้น “จะส่งผลเสียร้ายแรง” ต่อข้อตกลงการค้า

ทั้งนี้ ทรัมป์ ยังคงสงวนท่าทีเกี่ยวกับข้อกำหนดบางอย่างในกฎหมายสิทธิมนุษยชนฮ่องกง โดยระบุว่า “บทบัญญัติบางประการในร่างกฎหมายนี้แทรกแซงอำนาจตามรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดีในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ”

ผู้สันทัดกรณีคนหนึ่งให้ความเห็นว่า คำพูดของ ทรัมป์ เป็นการส่งสารบอกจีนว่าสหรัฐฯ จะไม่ใช่มาตรการขั้นรุนแรงที่สุด เว้นเสียแต่ปักกิ่งจะยกระดับการปราบปรามผู้ชุมนุมฮ่องกง

ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจมองว่ากฎหมายสิทธิมนุษยชนให้ผลแค่ในเชิงสัญลักษณ์ ทว่าข้อบังคับในกฎหมายฉบับนี้มีผลอย่างจริงจังต่อรูปแบบความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ฮ่องกง และอาจทำให้เกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ถูกลดสถานะลงไปอยู่ระดับเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ของจีน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เตือนว่าการถอนสถานะพิเศษของฮ่องกงอาจจะกลายเป็นความพ่ายแพ้สำหรับสหรัฐฯ เอง ซึ่งก็ได้ประโยชน์ไม่น้อยจากการที่ฮ่องกงมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ในปี 2018 มีพลเมืองอเมริกันอาศัยอยู่ในฮ่องกงราว 85,000 คน และมีบริษัทสัญชาติอเมริกันเข้าไปเปิดกิจการมากกว่า 1,300 ราย รวมถึงสถาบันการเงินใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ แทบทุกแห่ง

การค้าระหว่างฮ่องกงกับสหรัฐฯ มีมูลค่าราว 67,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 โดยสหรัฐฯ เป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าถึง 33,800 ล้านดอลลาร์ มากกว่าที่ได้จากดินแดนหรือประเทศอื่นใดในโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น