รอยเตอร์ - สหรัฐฯ และอีก 22 ประเทศเรียกร้องวานนี้ (29 ต.ค.) ให้จีนเลิกใช้นโยบายกักขังหน่วงเหนี่ยวชาวอุยกูร์และมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ขณะที่เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็นเตือนว่าท่าทีแทรกแซงเช่นนี้ “ไม่เป็นผลดี” ต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน
รัฐบาลจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเรื่องการจัดตั้งค่ายลับขึ้นมาหลายแห่งในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ โดยอ้างว่าเป็นเพียง “ศูนย์ฝึกอาชีพ” ที่มุ่งสกัดกั้นลัทธิหัวรุนแรง และทำให้ประชาชนที่นั่นได้มีทักษะใหม่ๆ ในการดำรงชีวิต
ข้อมูลยูเอ็นระบุว่า มีชาวอุยกูร์และมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ถูกกักขังเอาไว้ในค่ายเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
“เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้ว่า ในขณะที่คุณพยายามทำข้อตกลงการค้า แต่กลับยกประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน มาป้ายสีความผิดให้อีกฝ่าย” จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
จาง ยอมรับว่า ข้อตกลงการค้าจีน-สหรัฐฯ “คืบหน้า” ไปมาก แต่ขณะเดียวกันก็ย้ำว่า สิ่งที่วอชิงตันวิพากษ์วิจารณ์จีนผ่านเวทียูเอ็นนั้น “ไม่ได้ช่วยให้เราพบทางออกที่ดีในประเด็นการค้า”
คณะผู้แทนจีนและสหรัฐฯ อยู่ระหว่างร่างเนื้อหาของข้อตกลงการค้าฉบับชั่วคราวเพื่อให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ลงนามระหว่างการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ชิลีในวันที่ 16-17 พ.ย. นี้
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งระบุเมื่อวันอังคาร (29) ว่า ข้อตกลงการค้าเฟส 1 อาจร่างเสร็จไม่ทันการประชุมเอเปกที่ชิลี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการเจรจาทั้งหมดจะล้มเหลวไป
เคลลี คราฟต์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์จีนที่อาจส่งผลกระทบต่อข้อตกลงการค้า โดยยืนยันว่า “ผมจะยืนอยู่ในจุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือที่ไหนๆ ก็ตาม หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราก็พร้อมเสมอที่จะช่วยปกป้องผู้ที่ทุกข์ทรมาน”
คาเรน เพียร์ซ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำยูเอ็น ได้ส่งคำแถลงร่วมไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสมัชชาใหญ่ยูเอ็นในนาม 23 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์ และสวีเดน
“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเคารพกฎหมายแห่งชาติ ตลอดจนพันธกรณีและคำสัญญาที่ให้ไว้ต่อนานาชาติว่าจะปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อในซินเจียงและภูมิภาคอื่นๆ ของจีน” เพียร์ซ ระบุ
คำแถลงร่วมจาก 23 ประเทศยังกดดันให้จีนต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะผู้ตรวจสอบยูเอ็นโดยด่วน “รวมถึงเลิกกักขังหน่วงเหนี่ยวชาวอุยกูร์และมุสลิมกลุ่มอื่นๆ”
เอกอัครราชทูต จาง ชี้ว่า ข้อครหาที่สหรัฐฯ และพันธมิตรหยิบยื่นให้ปักกิ่งนั้น “ไม่มีมูล” ทั้งยังถือเป็นการ “แทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง และมีเจตนายั่วยุ”
ด้าน วาเลนติน รีบาคอฟ เอกอัครราชทูตเบลารุสประจำยูเอ็น ก็ได้แถลงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสมัชชาใหญ่ยูเอ็นในนาม 54 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน, ปากีสถาน, รัสเซีน, อียิปต์, โบลิเวีย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเซอร์เบีย โดยกล่าวชื่นชมปักกิ่งที่เคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่ละเลยที่จะต่อต้านและกวาดล้างลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งในซินเจียง ทั้งยังแสดงความโปร่งใสด้วยการอนุญาตให้นักการทูต สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ภายนอกเข้าไปสังเกตการณ์ได้ด้วย
“เวลานี้ความปลอดภัยและความมั่นคงได้กลับคืนสู่ซินเจียง สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของคนทุกเชื้อชาติได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี” รีบาคอฟ กล่าว “เราขอชมเชยความสำเร็จของจีนในด้านสิทธิมนุษยชน”
คำแถลงโต้ตอบกันไปมาเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเดือน ก.ค. เมื่อสหรัฐฯ และอีก 21 ประเทศได้ยื่นจดหมายเรียกร้องให้จีนหยุดกักขังหน่วงเหนี่ยวชาวมุสลิมในซินเจียง แต่ก็ถูกฝ่ายพันธมิตรจีน เช่น ซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย และอีก 30 กว่าประเทศแก้ลำด้วยการออกจดหมายชื่นชมประวัติสิทธิมนุษยชนของปักกิ่ง