xs
xsm
sm
md
lg

มะกันตาละห้อย! ผู้นำสิงคโปร์คาดความร่วมมือ RCEP ที่มี ‘จีน’ เป็นโต้โผใหญ่ได้ข้อสรุปลงตัวสิ้นปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 51 ณ ประเทศสิงคโปร์ วันนี้ (2 ส.ค.)
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ ระบุวันนี้ (2 ส.ค.) ว่าการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ที่มีจีนเป็นผู้สนับสนุนใหญ่น่าจะได้ข้อสรุปลงตัวภายในสิ้นปี หลังจากที่สหรัฐฯ ละทิ้งความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับชาติพันธมิตร และหันไปใช้นโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น

RCEP ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศคาดว่าจะผงาดขึ้นมาเป็นข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุด และครอบคลุมประชากรราวๆ ครึ่งหนึ่งของโลก ทว่าไม่รวมสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นตัวตั้งตัวตีจัดทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) จนกระทั่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มาประกาศถอนตัวกะทันหันในปีที่ผ่านมา

นายกฯ ลี ระบุว่า สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) “จะใช้ความพยายามมากขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อให้ความตกลง RCEP ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในสิ้นปีนี้”

การเจรจาในกรอบ RCEP นั้นประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียนและอีก 6 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่สิงคโปร์ในวันนี้ (2) นายกฯ ลี ยังเตือนทุกฝ่ายให้ตระหนักถึงผลเสียของข้อพิพาทการค้าที่รุนแรงขึ้น

“ระบบการค้าพหุภาคีที่อิงกฎกติกาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนกำลังถูกคุกคาม” ลี กล่าว “จึงเป็นสิ่งสำคัญที่อาเซียนจะต้องร่วมกันสนับสนุนค้ำจุนระบบการค้าพหุภาคีเอาไว้”

ถ้อยแถลงจากผู้นำสิงคโปร์มีขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ กระพือสงครามการค้ากับจีนในวันพุธ (1) ด้วยการขู่ขึ้นอัตราภาษีนำเข้าที่จะเรียกเก็บจากสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์จาก 10% เป็น 25%

วอชิงตันได้เริ่มเก็บภาษี 25% จากสินค้านำเข้าจีนล็อตแรก 34,000 ล้านดอลลาร์เมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และเตรียมที่จะรีดภาษีกับสินค้าจีนอีก 16,000 ล้านดอลลาร์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

RCEP เริ่มเป็นที่จับตามองมากขึ้นหลังจากที่ ทรัมป์ นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก TPP และทำให้ความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่าง 12 รัฐสมาชิกที่มีมูลค่าจีดีพีรวมกันถึง 40% ของโลกอยู่ในสภาพเคว้งคว้าง

อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม TPP ระบุว่า ความตกลงดังกล่าวจะช่วยให้สหรัฐฯ และพันธมิตรได้เป็นผู้เขียนกฎเกณฑ์การค้า และกีดกันไม่ให้จีนสยายอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจโลก

11 ประเทศที่เหลืออยู่ได้ลงนามข้อตกลง TPP ฉบับปรับปรุงแก้ไขในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ปักกิ่งยังหวังใช้โอกาสที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปโน้มน้าวเพื่อนบ้านให้เข้าร่วมความตกลง RCEP ซึ่งกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ น้อยกว่า TPP



กำลังโหลดความคิดเห็น