รอยเตอร์ - พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านในวันอังคาร (31 ก.ค.) ปฏิเสธข้อเสนอเจรจาโดยปราศจากเงื่อนไขของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระบุ “ไร้ค่า” และ “น่าอดสู” หลังจากก่อนหน้านี้ผู้นำอเมริกาเพิ่งกลับมาคว่ำบาตรเตหะรานอีกรอบ หลังถอนวอชิงตันพ้นจากข้อตกลงนิวเคลียร์ครั้งประวัติศาสตร์
ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน บอกว่า การถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ของทรัมป์นั้น “ไม่ชอบธรรม” และอิหร่านจะไม่ยอมอ่อนข้อง่ายๆ ต่อความพยายามรอบใหม่ของสหรัฐฯที่กำลังรณรงค์บีบคั้นภาคการส่งออกน้ำมันอันสำคัญของเตหะราน
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ถอนสหรัฐฯพ้นจากข้อตกลงพหุภาคีที่ได้ข้อสรุปก่อนที่เขาจะเข้ามารับตำแหน่ง โดยประณามว่ามันเอื้อประโยชน์แก่อิหร่านฝ่ายเดียว แต่ในวันจันทร์ (30 ก.ค.) ทรัมป์ประกาศว่าเขามีความตั้งใจพบปะกับ รูฮานี โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อหารือปรับปรุงความสัมพันธ์
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ระบุว่า ข้อเสนอเจรจากับเตหะรานของทรัมป์สวนทางกับพฤติกรรมของเขา ในขณะที่วอชิงตันกำหนดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและกดดันประเทศอื่นๆ ให้หลีกเลี่ยงทำธุรกิจคบค้ากับเตหะราน
“มาตรการคว่ำบาตรและการกดดันสวนทางกับการเจรจาโดยสิ้นเชิง” บาห์รัม กาเซมี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวฟาร์สนิวส์ในวันอังคาร (31 ก.ค.) “ทรัมป์จะสามารถพิสูจน์ให้อิหร่านเห็นได้อย่างไร ว่าคำพูดของเขาเมื่อคืนนี้สะท้อนถึงความตั้งใจจริงที่จะเจรจาและไม่ใช่เพียงแค่การเรียกคะแนนนิยมเท่านั้น?” เขาตั้งคำถาม
ด้าน คามาล คาร์ราซี หัวหน้าสภายุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของอิหร่านบอกในวันอังคาร (31 ก.ค.) ว่า เตหะรานไม่ให้ค่ากับข้อเสนอของทรัมป์ ที่มีขึ้นราว 1 สัปดาห์ หลังเคยเตือนอิหร่านว่าเสี่ยงโดนผลลัพธ์เลวร้ายอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อนในประวัติศาสตร์ หากว่าพวกเขาคุกคามวอชิงตัน
“บนพื้นฐานของเราที่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายในการเจรจากับสหรัฐฯ และบนพื้นฐานความผันผวนของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯในคำสัญญาของพวกเขา ข้อเสนอของเขา เราไม่เห็นว่ามันจะมีค่าอะไร” คาร์ราซี บอกกับฟาร์สนิวส์ “สิ่งที่ทรัมป์ควรทำคือแสดงความเคารพต่อคำสัญญาของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อนและกฎหมายระหว่างประเทศ” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศระบุ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์ อาจอยากประชุมเพราะผลประโยชน์บางอย่างและคงไม่สนผลของการชุมเท่าไหร่
ตอนนี้กลายเป็นว่าความเคลื่อนไหวของทรัมป์ ในความพยายามกดดัน อิหร่าน เข้าสู่การเจรจารอบใหม่ ได้ผลักให้พวกหัวแข็งอิหร่านซึ่งต่อต้านข้อตกลงนิวเคลียร์กับพวกนักปฏิบัตินิยมอย่างรูฮานี ซึ่งสนับสนุนอิหร่านให้ยุติเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก รวมตัวส่งเสียงเป็นอันหนึ่งเดียวกัน
อาลี โมตาฮารี รองประธานสภาอิหร่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพวกสายกลาง ระบุว่าการเจรจากับทรัมป์ในตอนนี้จะเป็นเรื่องที่น่าอดสู “ถ้าทรัมป์ ไม่ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์และไม่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ มันจะไม่มีปัญหาเลยที่จะเจรจากับอเมริกา” เขากล่าว
ระหว่างนั้น อับดอลเรซา เรห์มาน ฟาซลี รัฐมนตรีมหาดไทยอิหร่านพูดแทรกขึ้นมาว่า เตหะรานไม่เชื่อใจวอชิงตันในฐานะคู่เจรจา “สหรัฐฯไม่น่าไว้วางใจ เราจะเชื่อใจประเทศนี้ได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาถอนตัวแต่เพียงฝ่ายเดียวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ไปแล้ว?”
ภายใต้ข้อตกลงปี 2015 อิหร่านยอมระงับโครงการนิวเคลียร์แลกกับการที่สหประชาชาติและชาติตะวันตกยอมปลดมาตรการคว่ำบาตร
ทรัมป์ประณามข้อตกลงนี้บางส่วน โดยบอกว่ามันไม่ครอบคลุมถึงโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน และการเข้าไปพัวพันในความขัดแย้งต่างๆ ในตะวันออกกลางของเตหะราน ทั้งนี้ เขาได้รื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดกับอิหร่าน และเตือนประเทศอื่นๆ ให้หยุดนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านนับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ไม่อย่างนั้นก็เสี่ยงที่จะถูกอเมริกาลงโทษเช่นกัน