xs
xsm
sm
md
lg

‘ตุรกี’ ยุติสถานการณ์ฉุกเฉินที่บังคับใช้มา 2 ปี หลังกองทัพพยายามก่อรัฐประหารโค่น “แอร์โดอัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี โบกมือทักทายประชาชนในงานรำลึกครบรอบ 2 ปีความพยายามก่อรัฐประหารที่จัดขึ้นบนสะพานบอสพอรัสในนครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา
เอเอฟพี - สถานการณ์ฉุกเฉินที่บังคับใช้ในตุรกีมานานถึง 2 ปีหลังความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2016 สิ้นสุดลงแล้วในวันนี้ (19 ก.ค.) เนื่องจากรัฐบาลไม่ประกาศต่ออายุ ขณะที่ฝ่ายค้านเกรงว่าจะมีกฎหมายใหม่ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพยิ่งกว่าเดิมมาทดแทน

ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.ปี 2016 หรือเพียง 5 วันหลังจากที่ทหารกลุ่มหนึ่งพยายามก่อรัฐประหาร โดยมีการส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงอังการา และยังเกิดเหตุปะทะนองเลือดที่นครอิสตันบูลจนมีผู้เสียชีวิตไป 249 ราย

สำนักข่าวอนาโดลูรายงานว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งบังคับใช้ได้คราวละ 3 เดือนถูกต่ออายุมาแล้ว 7 ครั้ง กระทั่งสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 1.00 น.ของวันนี้ (19) ตามเวลาท้องถิ่น เนื่องจากรัฐบาลตัดสินใจไม่ต่ออายุเป็นครั้งที่ 8

รัฐบาลตุรกีได้อาศัยอำนาจของกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินจับกุมพลเมืองผู้ต่อต้านราว 80,000 คน และสั่งปลดเจ้าหน้าที่รัฐที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนโค่นอำนาจ แอร์โดอัน อีกนับแสนคน

อย่างไรก็ตาม การกวาดล้างครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของตุรกีไม่ได้พุ่งเป้าไปที่สาวกของ ‘เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน’ นักการศาสนาในสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการก่อรัฐประหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนักเคลื่อนไหวชาวเคิร์ดและพวกฝ่ายซ้ายด้วย

ฟิเกน ยุคเซนดัก และ เซลาฮัตติน ดีมีร์ตัส อดีตแกนนำพรรค HDP ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนชาวเคิร์ดยังคงใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ หลังถูกจับกุมเมื่อเดือน พ.ย.ปี 2016 ข้อหาพัวพันกับกลุ่มก่อความไม่สงบชาวเคิร์ด

แอร์โดอัน ให้สัญญาระหว่างหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เสนอร่างกฎหมายต่อต้านก่อการร้ายฉบับใหม่ ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าจะทำให้มาตรการขั้นรุนแรงบางอย่างของกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินถูกนำมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ

พรรค CHP ซึ่งเป็นฝ่ายค้านระบุว่า ร่างกฎหมายใหม่นั้นแทบไม่ต่างอะไรเลยกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

“ถ้ามาตรการต่างๆ ที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกนำมาใช้จริง สถานการณ์ฉุกเฉินจะไม่แค่ถูกต่ออายุไปอีก 3 เดือน แต่เป็น 3 ปี” ออซกูร์ โอเซล แกนนำ ส.ส.พรรค CHP ให้สัมภาษณ์

“รัฐบาลแสร้งทำเป็นยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่แท้ที่จริงกลับยืดมันออกไปต่างหาก”

ร่างกฎหมายใหม่เสนอให้รัฐบาลตุรกีมีอำนาจสั่งปลดข้าราชการพลเรือนที่พัวพันกับ ‘องค์กรก่อการร้าย’ ต่อไปอีก 3 ปี และห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะหลังพระอาทิตย์ตกดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากทางการให้ขยายเวลาได้ถึงเที่ยงคืนในกรณีที่ไม่รบกวนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

หน่วยงานท้องถิ่นมีสิทธิ์ห้ามบุคคลเข้าหรือออกจากบริเวณที่กำหนดไว้เป็นเวลา 15 วันด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีการตั้งข้อหาได้ถึง 48 ชั่วโมง และสูงสุดไม่เกิน 4 วันหากกระทำความผิดหลายกระทง

อย่างไรก็ดี ระยะเวลาดังกล่าวยังสามารถยืดออกไปได้อีกเท่าตัว หากการสืบหาหลักฐานเป็นไปอย่างยากลำบาก หรือคดีมีความซับซ้อนมากเป็นพิเศษ

แอร์โดอัน ไม่ลังเลที่จะใช้อำนาจพิเศษตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทั่งนาทีสุดท้าย โดยได้สั่งปลดเจ้าหน้าที่รัฐรวดเดียว 18,632 คนเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ในจำนวนนี้เป็นตำรวจ 8,998 นาย โดยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับองค์กรก่อการร้ายหรือกลุ่มที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ แอร์โดอัน ชนะศึกเลือกตั้งสมัยที่สอง รั้งเก้าอี้ประธานาธิบดีภายใต้ระบบใหม่ที่ช่วยให้เขามีอำนาจกว้างขวางยิ่งกว่าผู้นำตุรกีคนใดๆ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2


กำลังโหลดความคิดเห็น