xs
xsm
sm
md
lg

สพฉ.แนะถอดบทเรียนช่วย “ทีมหมูป่า” ชงปั้นผู้บัญชาการแบบผู้ว่าฯ เชียงราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลขาธิการ สพฉ.แนะถอดบทเรียน ช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่า พัฒนาระบบช่วยเหลือเหตุการณ์ภัยพิบัติ เสนอปั้นผู้บัญชาการเหตุการณ์ประจำจังหวัด แบบ ผู้ว่าฯ เชียงราย ที่คุมสถานการณ์อยู่ พร้อมถอดความรู้วิธีเลือกใช้ทรัพยากรเข้าช่วยเหลือ การดูแลความปลอดภัยทีมเจ้าหน้าที่

วันนี้ (5 ก.ค.) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี่ จำนวน 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับครอบครัวของทั้ง 13 ท่าน ที่เจ้าหน้าที่พบตัวแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการนำเด็กๆ เหล่านี้ออกมาจากถ้ำ ทั้งนี้ หากเราจะมองเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า ตนมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถที่จะนำมาถอดเป็นบทเรียนในการพัฒนาการช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุจากการเกิดภัยพิบัติในลักษณะแบบนี้ได้ หรือประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์อื่นๆ ต่อไปในอนาคตได้

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า การถอดบทเรียนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตนมองว่า มี 2 ส่วน คือ 1.การบริหารระบบในการให้ความช่วยเหลือที่มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานและระบบบัญชาการเหตุการณ์ที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบบนี้ คือ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่มีวิสัยทัศน์ สามารถควบคุมและสั่งการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตอาจต้องมีการฝึกผู้นำในแต่ละจังหวัดให้เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์เช่นนี้ให้ได้ 2.การปฏิบัติงานภายใต้ระบบการสั่งการมีประสิทธิภาพมาก โดยเฉพาะระบบการเลือกใช้ทรัพยากรบุคคลที่เข้าทำการช่วยเหลือทุกหน่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หน่วยซีลที่ถูกเลือกให้เข้ามาให้ช่วยเหลือเด็ก เพราะเชี่ยวชาญการดำน้ำ และลักษณะการเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ เหมือนกับการช่วยตัวประกัน เพราะเหมือนเด็กๆ ถูกจับกุมและห้อมล้อมด้วยแม่น้ำจนไม่สามารถออกมาจากถ้ำได้ และการเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เราใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเชิญและระบบการทำงานร่วมกันทำอย่างไรถึงได้การทำงานที่มีประสิทธิภาพออกมาเช่นนี้

“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการรวมทรัพยากรทั้งภาครัฐ ทหาร พลเรือน ประชาชน เอกชน มูลนิธิต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันทำงานอย่างเป็นระบบและสนับสนุนกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เป็นเรื่องที่ต้องถอดบทเรียนกันด้วย เพราะตามปกติแล้วการดำน้ำทั่วไปจะเป็นการดำน้ำในพื้นที่กว้างแต่การกู้ชีพเด็กๆในครั้งนี้เป็นการดำน้ำในพื้นที่แคบจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าทำกันได้อย่างไร และมีระบบดูแลเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การช่วยเหลืออย่างไร เพราะอาจจะป่วยจากการดำน้ำได้ เท่าที่ทราบคือ มีการจัดเตรียมทีมแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำของกองทัพเรือคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน มีห้องปรับความดันบรรยากาศให้กับทีมดำน้ำ เพราะหากเกิดมีฟองอากาศในเลือดหรือมีอาการผิดปกติ ก็จะสามารถทำการรักษาทีมได้ทันที นี่คือระบบเซฟตีของทีมช่วยเหลือในเหตุการณ์นี้ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ส่วนระบบการช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุข ก็มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ทั้งระดับเขตสุขภาพ คือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ระดับจังหวัด มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด บางจังหวัดที่มีทรัพยากรจำกัด จะมีทีมแพทย์จากทหารหรือตำรวจเข้าไปเสริม ซึ่งการทำงานร่วมกันตรงนี้ก็น่าสนใจและถอดบทเรียนร่วมกัน ทั้งนี้ ภายหลังหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ประเทศไทยมีพัฒนาการลักษณะนี้เยอะขึ้น และเป็นระบบมากขึ้น โดยมีการสร้างทีมแพทย์ฉุกเฉินตอบโต้สาธารณภัย (MERT) และ Mini MERT ซึ่งเป็นทีมแพทย์ฉุกเฉินภาคสนาม โดยขณะนี้เรามีทีม MERT ที่โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลจังหวัด จังหวัดละ 1 ทีม และมีทีม Mini MERT ระดับอำเภออีก 700 กว่าทีมที่พร้อมจะเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนยามเกิดภัยพิบัติหรือสถานการณ์ฉุกเฉินทันที

“ในส่วนของการเตรียมการเรื่องการเคลื่อนย้ายเด็กๆ เราจะเห็นภาพการเตรียมการด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งประเทศไทยเราได้มีระบบกายสกายดอกเตอร์ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ผมคิดว่าเรื่องนี้จะมีส่วนทำให้การช่วยเหลือในครั้งนี้มีความพร้อมมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาถอดบทเรียนร่วมกันแล้วทำเป็นต้นแบบในการช่วยเหลือประชาชนคนอื่นๆได้อีกในโอกาสต่อไป” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น