ศาล ปค.กลาง พิพากษาคืนตำแหน่งรองปลัด สธ. ให้ “ชาญวิทย์” ภายใน 60 วัน เพิกถอนคำสั่งย้ายไปเป็นผู้ตรวจกระทรวง ปี 57 เหตุไม่ชอบด้วย กม. แต่ไม่ต้องชดใช้ เพราะไม่เข้าข่ายกระทำละเมิด
วันนี้ (17 ก.ค.) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ย้าย นายชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข โดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนายชาญวิทย์ได้ยื่นฟ้อง กระทรวงสาธารณสุข รมว.สาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (กพค.) นายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-7 กรณีขอให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ประกาศ ณ วันที่ 14 พ.ย.57 ที่สั่งย้ายตนเองจากรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเหตุเกิดเมื่อปี 2557
ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งย้าย เนื่องจากเห็นว่าการโยกย้ายนายชาญวิทย์ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นการใช้ดุลพินิจของ รมว.สธ.และปลัด สธ.ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และโดยที่การแต่งตั้งข้าราชการเพื่อย้ายสับเปลี่ยนจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงความแตกต่างกันในบทบาทและอำนาจหน้าที่อย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นเรื่องของการบริหารบุคคลที่ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการได้โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง เหตุผลความจำเป็น ตลอดจนความเหมาะสม และประโยชน์ของหน่วยงานตามเจตนารมณ์ และหลักการที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 ซึ่งเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายมอบอำนาจดุลพินิจให้แก่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารจึงต้องใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าวให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายในการมอบอำนาจดังกล่าวและการใช้อำนาจดุลพินิจนั้นจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายดังกล่าวด้วย ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองโต้แย้งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้ เพื่อให้ศาลปกครองตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวของฝ่ายบริหารว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายบริหารนั้น ฝ่ายบริหารมีเหตุผลรองรับหรือไม่ อย่างไร ถ้าการใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายบริหารไม่มีเหตุผลรองรับ การใช้อำนาจดุลพินิจนั้นย่อมไม่แตกต่างจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจ การใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายบริหารโดยไม่มีเหตุผลรองรับจึงอาจเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้ ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในการบริหารงานบุคคลได้ตามหลักเกณฑ์และขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งคดีนี้ตามหนังสือสั่งย้ายของ รมว.สธ.และ ปลัด สธ.อ้างว่า ขณะที่นายชาญวิทย์ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น การปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจมีปัญหา เนื่องจากความเข้าใจในข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนของนายชาญวิทย์ ทำให้งานราชการของกรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายชาญวิทย์เกิดความล่าช้า เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อราชการนั้น ศาลเห็นว่า โดยที่การออกคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และมีกฎหมายที่ให้อำนาจ กรณีการแต่งตั้งหรือมอบหมายให้เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจ จึงต้องอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้ตามมาตรา 21 วรรคหก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 การที่ กระทรวงสาธารณสุข รมว.สธ. ปลัด สธ.และ นายกรัฐมนตรี ให้การว่า เมื่อนายชาญวิทย์ได้รับแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวง ตำแหน่งเลขที่ 4 จึงถือว่าเป็นการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจ (ด้านพัฒนาการแพทย์) ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1492/2555 เรื่อง ให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.55 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 50 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และนำมาเป็นข้อกล่าวอ้างและเป็นเหตุผลในการเสนอย้ายนายชาญวิทย์ที่มีความเห็นแตกต่างในประเด็นดังกล่าว จึงยังไม่อาจนำมารับฟังเป็นเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและสมเหตุสมผล เพื่อเสนอย้ายผูนายชาญวิทย์ได้ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการปฏิบัติหน้าที่เกิดความเสียหายแก่ทางราชการจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อการใช้อำนาจและดุลพินิจ
ในการออกคำสั่งแต่งตั้งให้นายชาญวิทย์พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นการออกคำสั่งทางปกครองซึ่งในทางกฎหมายถือเป็นเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบตามมาตรา 42 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
ส่วนข้อที่นายชาญวิทย์ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกย้ายโดยไม่ชอบ เห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้มาจากปัญหาการใช้และการตีความกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มภารกิจ ระหว่าง นายชาญวิทย์ กับปลัด สธ.ตามมาตรา 21 วรรคหก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งแม้จะเป็นความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเหตุผลที่ปลัด สธ. มีความเห็นว่านายชาญวิทย์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนในประเด็นดังกล่าวเกิดจากการใช้ดุลพินิจโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของปลัด สธ. ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการใช้และการตีความกฎหมาย ประกอบกับความเสียหายที่นายชาญวิทย์กล่าวอ้างในคำฟ้อง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะรับฟังได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของ รมว.สธ. ปลัด สธ. การกระทำของบุคคลทั้งสอง จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อนายชาญวิทย์
และการที่ กพค.ไม่รับคำร้องทุกข์ของนายชาญวิทย์ ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิด เพราะขณะยื่นร้องทุกข์นายชาญวิทย์ยังดำรงตำแหน่งรองปลัดจึงยังไม่เกิดสิทธิที่จะนำมาร้องทุกข์ได้ จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ห้ามรับไว้พิจารณา
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ประกาศ ณ วันที่ 14 พ.ย.57 เฉพาะในส่วนที่ให้นายชาญวิทย์พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง โดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 11 พ.ย. 57 และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ว่า รมว.สธ. ปลัด สธ. เห็นชอบที่จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายให้นายชาญวิทย์ได้กลับสู่ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา